ดับความขัดแย้งด้วยจิตวิวัฒน์และทางสายกลาง

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2551

ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๑ เนื่องในโอกาสวันศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสำนักงานระงับข้อพิพาท ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยการระงับข้อพิพาททางเลือก ด้วยหลักการและเหตุผลที่ว่า “การระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบายหลักในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เนื่องจากเป็นการยุติข้อพิพาทที่คู่ความได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม อันจะส่งผลให้เกิดความสมานฉันท์และสันติสุขในสังคม”

ขอให้อ่านข้อความข้างบนช้าๆ อย่างมีโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นใจความสำคัญที่สะท้อนถึงกระบวนการใหม่ในเรื่องความยุติธรรม

กระบวนทัศน์เก่าที่เราคุ้นเคยก็คือ ศาลมีหน้าที่ “ตัดสิน” ว่าใครผิดใครถูก ใครแพ้ใครชนะ เป็นขาวเป็นดำ เป็นบวกเป็นลบ ให้รู้ดำรู้แดง ซึ่งก็ยังจำเป็น โดยเฉพาะในเรื่องที่ง่ายและเป็นเส้นตรง แต่สังคมปัจจุบันมีความเชื่อมโยงซับซ้อนหลายมิติอันเข้าใจได้ยาก ไม่ตรงไปตรงมา มีความขัดแย้งที่แม้ “ตัดสิน” ว่าใครผิดใครถูกก็ไม่หายขัดแย้งหรือกลับรุนแรงมากขึ้น หลายปีมาแล้ว ที่เมืองซินซินนาติ ในสหรัฐอเมริกา ตำรวจคนขาวตีคนดำ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างขาวกับดำ เรื่องมาถึงศาล ผู้พิพากษาบอกว่า “ผมยังไม่ตัดสิน” เพราะถึงตัดสินอย่างไรก็ไม่สามารถยุติความขัดแย้งระหว่างขาวกับดำได้ ความขัดแย้งระหว่างขาวกับดำมีรากที่ลึกซึ้ง การตัดสินไม่สามารถถอนรากของความขัดแย้งได้ ท่านผู้พิพากษาขอให้ทั้งสองฝ่ายไปใช้ “กระบวนการ” สลายข้อพิพาท

การ “ตัดสิน” กับการใช้ “กระบวนการ” สะท้อนวิถีคิด ๒ แนวทาง

แนวทางที่ ๑ คือการคิดแบบสำเร็จรูป ตายตัว แยกส่วน สุดโต่ง

แนวทางนี้ใช้กันทั่วไปมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อประธานาธิบดีบุชพูดว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา คุณก็เป็นศัตรูของเรา” นั้นเป็นตัวอย่างการคิดแบบแยกส่วนสุดโต่งสุดๆ ที่จริงที่ชีวิตและสังคมติดขัด ขัดข้อง ขัดแย้ง รุนแรง และวิกฤต ก็เพราะการคิดแบบตายตัวแยกส่วน เราคิดและทำอะไรแบบแยกส่วนเสมอ เช่น การพัฒนาก็แยกส่วนว่าหมายเฉพาะเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจก็แยกส่วนเอาเงินเป็นตัวตั้ง การศึกษาก็แยกส่วนจากชีวิต ที่ชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาแยกส่วนไปเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่การศึกษาคือชีวิต และชีวิตคือการศึกษา อะไรที่แยกส่วนจะนำไปสู่สภาวะวิกฤตเสมอ

ระบบร่างกายของเราเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่แยกส่วน ปอด ตับ หัวใจ ไต และอวัยวะต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลายล้วนเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ ถ้าปอด ตับ หัวใจ แยกส่วนไปคนละทางสองทาง เราก็เป็นคนอยู่ไม่ได้ ถ้าเซลล์ของตับจะแบ่งตัวเติบโตเป็นเอกเทศโดยไม่เกี่ยวกับระบบทั้งหมด นั่นคือมะเร็งตับ ซึ่งนำไปสู่ความขัดข้องของระบบร่างกายทั้งหมด คือการป่วย วิกฤต และตาย

ความป่วยและความวิกฤตของชีวิตและสังคมเกิดขึ้นเพราะการคิดและการทำแบบแยกส่วน ซึ่งผิดธรรมชาติ

ธรรมชาติคือการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งอย่างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง หรืออย่างเป็นอนิจจัง

แนวทางที่ ๒ คือ วิถีธรรม หรือวิถีธรรมชาติ หรือทางสายกลาง พระพุทธเจ้าเป็นแชมเปี้ยนที่สอนแนวทางนี้มาเนิ่นนานว่า สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง คือเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรแยกส่วนตายตัว การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาหนุนเนื่อง ที่เรียกว่าความเป็นปัจจัยให้เกิดหรืออิทัปปัจจยตา ธรรมชาติคือกระแสของเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นพลวัต (Dynamic interconnectedness) ไม่มีอะไรที่ดำรงอยู่ตายตัวแยกส่วนเป็นเอกเทศ ธรรมชาตินี้มีอยู่แล้ว พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติขึ้น แต่ทรงค้นพบแล้วนำมาเผยแพร่ หลักธรรมตามธรรมชาตินี้ บางทีก็เรียกว่า หลักธรรมที่เป็นกลางตามธรรมชาติ รูปข้างล่างนี้จะช่วยให้เข้าใจเรื่องแยกส่วนและเรื่องความเป็นกลางตามธรรมชาติได้ติดตามากขึ้น



ถ้าอ่านพระไตรปิฎกให้ดีๆ จะเห็นว่า เต็มไปด้วยวิถีคิดความเป็นกลางตามธรรมชาติ และปฏิเสธ “ส่วนสุด” (Extremes) ส่วนสุดภาษาบาลีว่า “อันตา” หรือ “อันตะ” ดังที่ “อนันตะ” แปลว่าไม่มีที่สุด ดังตัวอย่างเช่น

“ส่วนสุดทั้งสองภิกษุไม่ควรเสพ”

“การชมหรือติเตียนไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะคือการที่รู้ว่าอะไรเกิดจากอะไร” ตรงนี้อาจช็อกความรู้สึกของเรา เพราะเราคุ้นเคยกับการชมและการติเตียน แต่ถ้าคิดดูให้ดีๆ การชมหรือติเตียนเป็นการเหมารวมสำเร็จรูปตายตัว ว่าคนนี้ดี คนนี้ไม่ดี จริงๆ แล้วขึ้นกับว่าเรื่องอะไร เมื่อใด เกี่ยวข้องกับอะไร

พราหมณ์ชานุสโสณีทูลถาม “พระโคดมผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริงหรือหนอ”

ตรัสตอบว่า “ดูกรพราหมณ์ โวหารอย่างนี้เป็นที่สุดประการหนึ่ง”

พราหมณ์ทูลถามอีก “พระโคดมผู้เจริญ ก็สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริงหรือหนอ”

ตรัสตอบว่า “ดูกรพราหมณ์ โวหารอย่างนี้เป็นที่สุดประการที่สอง”

แล้วตรัสเพิ่มเติมโดยใจความว่า “ตถาคตไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี”

กล่าวคือไม่มีอะไรมีหรือไม่มีโดยตัวของมันเอง แบบที่ชานุสโสณีถาม ซึ่งถือเป็นที่สุด (อันตะ) หรือแยกส่วนตายตัว การจะมีหรือไม่มีขึ้นกับเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยทำให้มีก็มี ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยทำให้มีก็ไม่มี ทรงเรียกการคิดเชิงความเป็นเหตุปัจจัยว่า เป็นทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา

เพราะฉะนั้นคำว่าทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทานั้น นอกเหนือไปจากมรรค ๘ แล้ว ยังหมายถึงการคิดเชิงความเป็นเหตุปัจจัยหรืออิทัปปัจจยตาด้วย

สังคมโดยทั่วไปและสื่อมวลชนยังคิดแบบ “ส่วนสุด” หรือแยกส่วน คำสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนจึงเข้าไปสู่ “การเสี้ยมปลาย” โดยไม่รู้ตัว เมื่อผมเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย วันหนึ่งสื่อมวลชนถามว่า “คุณหมอท้อใจไหม” ผมตอบว่า “ไม่” เขาถามซ้ำว่า “งั้นคุณหมอก็เต็มไปด้วยความหวังสิ” ผมตอบว่า “เปล่า” เขาก็งงว่าเอ๊ะ แล้วมันยังไง คำถามที่ถามนั้นอยู่ที่ “ส่วนสุด” สองข้าง ผมไม่เข้าไปสู่ความท้อใจหรือความหวัง เพราะสิ่งต่างๆ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย นั่นคือทางสายกลาง

ผมพยายามหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ เพราะไม่ต้องการตอบคำถามที่ต้องการคำตอบสำเร็จรูปว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” “เอา” หรือ “ไม่เอา” “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ผมพยายามเขียนเป็นบทความเพื่ออธิบายความเชื่อมโยงด้วยเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ แต่ทั้งๆ ที่เป็นบทความก็ถูก “ตัดตอน” เอาไปขึ้นปกชนิดแยกข้างแยกขั้วบ่อยๆ เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ผมพบ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อท่านมาเป็นประธานเปิดงานรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ ขณะที่รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน ท่านพูดว่า “คุณหมอประเวศที่รู้จักทางสื่อกับตัวจริงไม่เหมือนกันเลย” ผมต้องขอโทษที่ยกตัวอย่างเกี่ยวกับตัวเอง เพียงต้องการให้เห็นความเป็นจริงในสังคมเกี่ยวกับวิธีคิด ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งและไม่รู้ตัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องการการแก้ไข แม้จะเป็นเรื่องยากเพียงใด

การคิดแบบสำเร็จรูป ตายตัว แยกส่วน นำไปสู่อุปสรรค ไปต่อไปไม่ได้ บีบคั้น เข้าไม่ถึงความจริง ติดขัด ขัดแย้ง ออกจากความขัดแย้งไม่ได้ จึงรุนแรงและวิกฤต โลกวิกฤตเพราะการคิดแบบนี้

ลองคิดเปรียบเทียบกับอนุภาคที่มีประจุบวกคือโปรตอน และที่มีประจุลบคืออีเล็กตรอน อนุภาคทั้งสองชนิดนี้เคลื่อนที่ไม่ได้ไกล เพราะจะถูกขั้วตรงข้ามจับไว้ ตรงข้ามกับนิวตรอนซึ่งเป็นกลางสามารถทะลุทะลวงไปได้ไกลแสนไกล ฉันใด การคิดเชิงบวกเชิงลบไปไม่ได้ไกล จะถูกขั้วตรงข้ามจับไว้ แต่การคิดด้วยความเป็นกลางนั้นทะลุทะลวงไปสู่ความจริงทั้งหมดได้ การคิดอย่างเป็นกลางจึงนำไปสู่ปัญญา หรือปัญญาทำให้คิดอย่างเป็นกลาง

เราคิดแบบแยกส่วนเพราะเราเอาตัวตนหรืออัตตาเป็นตัวตั้ง จิตที่ติดอยู่ในตัวเองจะบีบคั้นเพราะคับแคบและไม่จริง จิตที่หลุดจากตัวเองไปสู่ความจริงที่ใหญ่กว่าจะเป็นอิสระ มีความสุข มีความรักอันไพศาล จิตวิวัฒน์คือจิตที่หลุดจากความคับแคบจากตัวเองไปสู่ความจริงที่ใหญ่กว่า จิตวิวัฒน์กับการคิดอย่างเป็นกลางนั้นมีปฏิสัมพันธ์กัน คือจิตวิวัฒน์ทำให้คิดอย่างเป็นกลาง ทางสายกลางทำให้จิตวิวัฒน์ จิตวิวัฒน์และทางสายกลางไปพ้นการแยกข้างแยกขั้ว จึงดับความขัดแย้งโดยสิ้นเชิงทั้งในตัวเองและกับภายนอก เป็นไปเพื่อความสุขอันประณีตและความรักอันไพศาลต่อมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งมวล

ทางสายกลางนี้แม้พระพุทธเจ้าจะทรงค้นพบมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว วิทยาศาสตร์เข้าไปติดอยู่ในโลกทรรศน์และวิธีคิดแบบแยกส่วนตายตัวเสียช้านาน เพิ่งสักร้อยปีมานี่เองที่มีการค้นพบวิทยาศาสตร์ใหม่แห่งสัมพัทธภาพและควอนตัมที่แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต ซึ่งตรงกับอิทัปปัจจยตา วิทยาศาสตร์ใหม่จะดึงโลกทรรศน์และวิธีคิดของมนุษย์จากความแยกส่วนตายตัวมาสู่ทางสายกลาง

มีเส้นทางหลายเส้นหรือพหุบทที่จะไปสู่จิตวิวัฒน์ แต่ก็รวมลงที่มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ทางนี้นำไปสู่สันติภาพ

จึงเรียกกันว่าเป็นสันติวรบท

Back to Top