ทุนนิยมอย่างมีจิตสำนึก



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2551

ท่านผู้อ่านหลายคนคงจะเคยได้ยินว่า จักรวาลนี้ประกอบขึ้นด้วยสสารฝ่ายลบหรือฝ่ายสร้างสรรค์ (Matter) ซึ่งจะมีมากกว่าสสารฝ่ายบวก (Antimatter) เพียงหนึ่งในพันล้านตัว สสารทั้งสองชนิดซึ่งเหมือนกันทุกประการเพียงแต่ผิดกันที่ประจุไฟฟ้า คือ ชนิดหนึ่งมีประจุไฟฟ้าเป็นลบ เช่น อิเล็กตรอน กับอีกชนิดหนึ่งมีประจุไฟฟ้าเป็นบวก เช่น โพสิตรอน ทั้งนี้ สสารที่มีประจุไฟฟ้าเท่ากันเป๊ะๆ จะทำลายกันและกันจนหมด โดยเปลี่ยนเป็นพลังงานออกมา และเพียงหนึ่งในพันล้านตัวที่เหลืออยู่นี้ ก็สามารถสรรค์สร้างทุกสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ของจักรวาลนี้ได้ทั้งหมด รวมทั้งระบบสุริยะ โลกของเรา กับมนุษย์ทุกๆ คนด้วย โดยการสร้างสรรค์อาจจะเกี่ยวกับจิตไร้สำนึกที่ควบคุมพฤติกรรมทางกายและจิตใจของมนุษย์ทุกคนทั้งในด้านความดีงามและคุณธรรมจริยธรรม แต่ขณะเดียวกันก็ให้ทั้งความเลวและความชั่วร้ายด้วย

พูดง่ายๆ เราทุกคนเป็นทั้งเทวดากับอสูรร้ายกันทั้งนั้น อย่างแทบจะพูดได้ว่ามีอยู่กันคนละเกือบครึ่งหนึ่ง โดยฝ่ายที่ดีงาม (Good) หรือฝ่ายสร้างสรรค์จะมีอยู่มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง (Evil) เล็กน้อย และจากส่วนที่เหลือสุดจะเล็กน้อยนี้เองที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์สังคมอารยธรรมความดีงามและความเจริญให้แก่มนุษยชาติได้ทั้งหมด

พูดง่ายๆ ความดีความชั่วมีอยู่อย่างละเกือบครึ่งมาตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว ดังนั้น การที่เราคิดว่าชีวิตเป็นเรื่องบังเอิญและจักรวาลนั้นเป็นเรื่องไกลตัว คงจะต้องคิดใหม่

การเปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์ความดีงามที่ว่ามานั้น เป็นภาพของสังคมโลกโดยรวม แต่หากพูดถึงแต่ละสังคมหรือประเทศชาติหนึ่งใดอย่างเป็นปัจเจก การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งช่วงใด จะขึ้นกับการกระตุ้นจากอารมณ์ของสังคม หรือเอสคิว (SQ) ของประชาชนที่นั่นในขณะนั้น การเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชนหนึ่งใดในช่วงเวลาสั้นๆ ที่อาจเป็นความดีเลิศอย่างสุดๆ ก็ได้ หรือชั่วร้ายอย่างสุดๆ ก็ได้ จึงมีให้เห็นเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของโลกมาตลอด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตามอย่างหรือการกดดันจากสังคมภายนอกจึงมีขึ้นเสมอๆ

ก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายพันปี สังคมโลกอยู่ในยุคเกษตรกรรมและระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องของสิทธิที่กษัตริย์มอบให้ประชาชนปฏิบัติ จนกระทั่งทุนนิยมและความเป็นปัจเจกชนเกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ ๑๗ โดยมีวิทยาศาสตร์กายภาพที่เราทั้งโลกเชื่อว่าเป็นความรู้ที่ให้ความเป็นจริงที่สุด กับเทคโนโลยีที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์กายภาพนั้นๆ เป็นรากฐาน จึงได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ซึ่งทำให้สังคมโลกตะวันตกเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของตนให้เป็นการอุตสาหกรรม และประเทศต่างๆ เปลี่ยนแปลงตามเป็นกระแสโลกานุวัตรมาจนบัดนี้ และตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา โลกตะวันตกได้มีการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมไปเป็นเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสาร (Information economy) ทำให้สังคมโลกเปลี่ยนตามเป็นกระแสโลกานุวัตรอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ทุนนิยมกับสิทธิมนุษยชนบนความเป็นตัวตนของแต่ละคนนั้น มาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่เป็นประหนึ่งยาดำที่ซึมแทรกอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

ปัจจุบันนี้ ยุคหรือระบบเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารได้จบลงแล้วในสังคมโลกตะวันตก แม้ว่าจะยังคงแข็งแรงอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ตามระดับของการพัฒนานั้นๆ แต่สุดท้ายแล้วระบบเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารคงจะเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มจากซีกโลกตะวันตกเหมือนอย่างเคย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของระบบเศรษฐกิจใหม่ในครั้งนี้ (New paradigm of economy) มาจากทางตะวันออก และมีเนื้อหาสาระของความเป็นตะวันออกอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้น แต่เราชาวตะวันออกไม่รู้เป็นอย่างไร จึงไม่ค่อยเชื่อชาวตะวันออกด้วยกัน ต้องเป็นฝรั่งตะวันตกหรืออเมริกันถึงจะเชื่อ เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของโลกในครั้งใหม่นี้ จะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ (Spirituality) เป็นเรื่องของทุนนิยมจิตวิญญาณ (Spiritual capitalism) หรือระบบทุนนิยมอย่างมีจิตสำนึก (Conscious capitalism)

ระบบเศรษฐกิจที่มีจิตสำนึกใหม่หรือจิตวิวัฒน์เป็นรากฐานนั้น วันนี้และต่อๆ ไปจะต้องมีแน่ ไม่ว่านักธุรกิจจะชอบหรือไม่ เพราะปัญหาที่ซับซ้อนจนเป็นวิกฤตอย่างที่เราไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน เช่น การก่อการร้ายที่มีมากขึ้นทุกๆ วัน สงครามที่ปล้นเงินชาวโลกไปเป็นจำนวนมาก น้ำมันที่ค่อยๆ หมดไปพร้อมๆ กับแพงขึ้นและหายากขึ้นทุกๆ วัน ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำและอาหารไปทุกหย่อมหญ้า การว่างงานและเงินในกระเป๋าของประชาชนที่นับวันมีแต่จะแห้งลง ทำให้อาชญากรรมและยาเสพติดเพิ่มทวีขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และปัญหาสังคมอื่นๆ มีแต่จะรุนแรงและมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เราแสวงหาคำตอบเพื่อการอยู่รอด และการแสวงหาดังกล่าว คือการคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้านและรอบคอบซึ่งเป็นเรื่อง “ภายใน” ทั้งหมด

ขณะนี้ในทางธุรกิจและเศรษฐกิจนั้น แม้ว่านักธุรกิจส่วนใหญ่จะมองเห็นการทำธุรกิจเป็นเรื่องของการแข่งขันและการทำกำไรในระยะสั้นให้ได้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม กับการเชื่อฟังยังเป็นเรื่องของการบังคับบัญชาและการควบคุม แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อนักธุรกิจส่วนน้อยส่วนหนึ่งโดยเฉพาะบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกกับเอกชนบางคนที่รักธรรมชาติ - รวมทั้งรักอนาคตการอยู่รอดของลูกหลานและของเผ่าพันธุ์อย่างแท้จริง - เริ่มจะหันมาหาความหมายและคุณค่าของชีวิตในฐานะมนุษย์ที่เป็นผู้สร้างสรรค์ความดีงามและจริยธรรมอย่างจริงจัง นักธุรกิจเหล่านี้กำลังหันไปหาความเป็นหนึ่งหรือความเป็นองค์รวม (Holism) แต่นักธุรกิจแบบนี้ยังมีน้อยและเปลี่ยนช้ามากๆ ขณะที่เรามีเวลาเหลืออยู่น้อยเต็มที

ทุกวันนี้ นักธุรกิจนักเศรษฐศาสตร์ส่วนน้อยส่วนหนึ่งที่ว่า ทุกคนต่างรู้ว่าเราไม่มีเวลาที่จะทำอย่างเดิมๆ ได้อีกแล้ว และไม่ว่าเราจะทำอย่างไร การหวังให้โลกกลับไปเหมือนเดิมเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ระบบเศรษฐกิจและธุรกิจที่ตั้งบนความโลภ การทำลายสิ่งแวดล้อม การหากำไรระยะสั้นบนความเป็น “ตัวกูของกู” นั้นกำลังจะจบลงโดยสิ้นเชิงจริงๆ

ที่มองเห็นในปัจจุบันก็คือ ความหวังว่าเราส่วนใหญ่มากๆ จะตื่น และเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลาก่อนที่โลกจะล่มสลายไปทั้งหมด ซึ่งแม้เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่คงไม่นานนักแน่ๆ และผู้เขียนเชื่อว่า – ทั้งโดยหลักฐานบางอย่างทางวิทยาศาสตร์ และโดยทางจิต หรือทางศาสนา –ปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) จะเป็นปีที่โดมิโนล้ม (ดู www.youtube.com: matrix singularity) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มต้นของวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณ

สิ่งที่นักธุรกิจส่วนน้อยส่วนหนึ่งที่กล่าวมา กำลังเร่งทำกันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่ปรึกษาระดับยักษ์ใหญ่ ที่พยายามจัดระบบเศรษฐกิจของโลกในกระบวนทัศน์ใหม่ จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นผลกำไรสูงสุดกับการแข่งขันไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่รวมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วยกัน เรียกว่า Corporate Social Responsibility (CSR) โดยเริ่มต้นมีขึ้นที่อเมริกาในช่วงปลายๆ ทศวรรษ ๑๙๗๐ และหลังจากนั้น ได้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีรายงานขององค์การสหประชาชาติ ในปี ๑๙๙๕ ว่ามีองค์กรใหม่ๆ เกี่ยวกับธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนของธรรมชาติ หรือเน้นความโปร่งใสเพิ่มขึ้นมาก และมีรายงานจากบริษัทตรวจบัญชีนานาชาติแห่งหนึ่งบอกว่า ในปี ๒๐๐๕ บริษัทใหญ่ๆ มากกว่าร้อยละ ๕๐ ทั่วทั้งโลก ได้รายงานการมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

นอกจากซีเอสอาร์แล้ว ยังมีองค์กรทางเศรษฐกิจอย่างมีจิตสำนึกเพื่อสังคมอีกองค์กรหนึ่งชื่อ กองทุนเพื่อการลงทุนให้กับชุมชน (Socially Responsible Investing: SRI) หรือการคัดเลือกหรือ “กรอง” (screened) ที่จะนำเงินหรือทุนมาซื้อหุ้นหรือซื้อบริษัทใดๆ ที่มีจริยธรรม มีความโปร่งใส เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่แยแสต่อบริษัทที่เน้นเฉพาะการหากำไรให้ได้มากที่สุดเลย กองทุนเอสอาร์ไอตั้งขึ้นในปี ๑๙๘๔ และเพียง ๒๐ ปีต่อมา มีเงินทุนเพิ่มขึ้นถึง ๕ พันเท่า จาก ๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น ๒๑๖,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีกลายนี้มีรายงานว่ากองทุนเอสอาร์ไอมีเงินลงทุนให้กับชุมชนและสังคมมากถึงราวร้อยละ ๑๐ ของเงินลงทุนทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา

และสิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ กษัตริย์ภูฏานพระองค์ก่อนได้เสนอต่อองค์การสหประชาชาติให้ยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) เป็นเครื่องชี้วัดความเจริญพัฒนาของประเทศหนึ่งใด โดยเสนอให้ใช้ความสุขมวลรวมของคนในประเทศ (GNH) นั้นๆ แทน ดังที่เรารู้กันอยู่

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าอาจมีความสำคัญกว่าคือ การมีความก้าวหน้าอยู่ไม่น้อยในด้านของการ “ตื่น” ที่ภายใน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและวิสัยทัศน์ของพฤติกรรมภายนอก (inside-out) ของนักธุรกิจเอกชนแต่ละคนที่เป็นปัจเจก ซึ่งจะทำให้มีการตื่นและเปลี่ยนแปลงจากภายในออกไปสู่ภายนอก และเมื่อนักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์นักวิชาการระดับผู้นำของสังคมเปลี่ยนจริงๆ แบบนี้ ประชาชนคนทั่วไปส่วนหนึ่งก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

ความคิดและพฤติกรรมที่ผู้นำทางจิตวิญญาณของบ้านเราท่านหนึ่ง คือ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา กล่าวว่า ในปี ค.ศ.๒๐๑๓ เป็นต้นไป ประชากรไทยส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งจะมีการตื่นตัวทางจิตวิญญาณ ซึ่งมีทางที่เป็นไปได้ แต่ผู้เขียนที่มองอนาคตของมนุษยชาติทั้งในทางวิทยาศาสตร์ และทางจิตวิญญาณ หรือญาณหยั่งรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับลัทธิความเชื่อ หรือกับศาสนาเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลง (Human transformation) จะเกิดขึ้นอย่างทั่วไปได้ จำต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะนำไปสู่การตื่นและการเปลี่ยนแปลง และตัวเร่งปฏิกิริยาที่สำคัญที่สุดคือ ความเจ็บปวดกับความทุกข์อย่างลึกล้ำ ความทุกข์ทั้งของตนเองและผู้ที่เรารัก หรือความทุกข์จากความไม่ปลอดภัยของส่วนรวม ที่ทำให้เราคิดแบบสะท้อนสู่ภายใน (World Values Survey, www.maweb.org)

ฉะนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อมั่นว่า ก่อนที่จะมีการตื่นทางจิตวิญญาณได้จริงและเป็นล่ำเป็นสัน โลกจะต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่ยิ่งใหญ่และต่อเนื่องอย่างที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ เช่น มหันตภัยจากธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ รวมทั้งโรคระบาดต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มทวีขึ้นรูปแบบแล้วรูปแบบเล่า เช่นเดียวกับโดมิโนที่เมื่อเริ่มต้นล้มแล้วก็ไม่มีทางที่ใครจะขัดขวางได้เลย

นับตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ เป็นต้นมา เริ่มมีนักธุรกิจสนใจในเรื่องการทำสมาธิและการเจริญสติโดยการฝึกในศูนย์ต่างๆ เช่น ศูนย์การปฏิบัติสมาธิเพื่อสังคม ศูนย์ของคุณหมอจอห์น คาบัต-ซิน หรือเข้าโปรแกรมฝึกจิตการเป็นผู้นำ (Presencing) ของ ปีเตอร์ เซงเก้ มีรายงานว่า ตั้งแต่ปี ๑๙๙๔ เป็นต้นมา มีนักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ร่วมแสนคนจากประเทศต่างๆ จำนวน ๕๖ ประเทศ ได้เข้าปฏิบัติ “ราชาโยคะ” โปรแกรมสำหรับผู้บริหารและผู้นำ โดยทุกวันนี้ มีอินเตอร์เน็ตที่แนะนำการฝึกการทำสมาธิและการเจริญสติด้วยวิธีต่างๆ สำหรับสาธารณชนโดยเฉพาะนักธุรกิจอีกด้วย

การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและการทำธุรกิจที่ได้กล่าวมาทั้งหมด การตีจากกระแสที่ใช้มานานจนเคยชินนั้น สำหรับนักธุรกิจ เป็นเรื่องที่ทั้งยากและกินเวลามาก คงไม่ทันกับเวลาที่โลกจะต้องพัง ความหวังอย่างเดียวคือ เราต้องให้ข้อมูลเรื่องโลกร้อน และระบบเศรษฐกิจธุรกิจในรูปแบบปัจจุบัน ผ่านทุกๆ สื่อซ้ำแล้วซ้ำอีกเท่านั้นจึงอาจจะพอช่วยได้บ้าง

One Comment

yutkanlaya กล่าวว่า...

ปฏิวัติความคิด
ปฏวัติจิตใจ
ได้ด้วย
การนำเสนอ เนื้อหา ที่ถูกต้องตรงใจ มนุษยชาติ
หัวข้อสั้นๆ ง่ายๆ เข้าใจได้ทุกๆคน
เช่น
เป้าหมายชีวิต คืออะไร???
ความสุข คืออะไร???
ปัญญา คืออะไร???
ฯลฯ
เผยแพร่ แบบปรมาณูทางความคิด MLM
ในทุกๆรูปแบบ ทุกๆวิธีการ อย่างง่าย
มุ่งไปที่ ผู้นำ ตามแบบพระพุทธเจ้ากับปัญจวคีทั้ง5
ด้วยความนับถือ
ยุทธ กัลยา

Back to Top