จิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับกฎหมายสำหรับนักการเมือง

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2551

ปัจจุบันเราได้ยินนักการเมือง และผู้นำระดับสูง พูดในทำนองว่า ถ้าทำถูกกฎหมายก็เป็นสิ่งถูกต้อง และมีความชอบธรรมที่จะทำ และในบางกรณีถึงกับพูดในลักษณะที่ว่า อะไรที่ไม่ผิดกฎหมายก็ทำไปเถอะ คำพูดและการกระทำดังกล่าวสะท้อนค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์ทางกฎหมายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่าค่านิยมเช่นนี้จะเป็นตัวแบบที่ไม่ดีกับประชาชนและโดยเฉพาะเยาวชนของประเทศ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือการพยายามจะทำสิ่งที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม ขาดจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการแก้หรือออกกฎหมาย เพื่อจะได้ทำสิ่งนั้นอย่างถูกกฎหมาย แล้วก็อ้างว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย มีความชอบธรรมที่จะทำ ทั้งๆ ที่โดยจิตสำนึกก็รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่งาม ไม่ควรทำ ดังที่เราได้เห็นนักการเมืองบางคน และพรรคการเมืองบางพรรคทำ อ้าง และพยายามทำเป็นระยะๆ

การทำถูกกฎหมายแม้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ควรทำหรือไม่ควรทำเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกว่า ตัวอย่างเช่น หวยบนดิน บ่อนคาสิโน โสเภณีตีตรา ... ทำให้ถูกกฎหมายได้ แต่ควรทำหรือไม่ การบริหารจัดการสิ่งที่ผิดศีลธรรมอันดีหรือสิ่งที่เคยผิดกฎหมาย แล้วทำให้ถูกกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพโดยอ้างแค่เรื่องการควบคุมการจัดระเบียบ มีคุณค่าเพียงพอ และคุ้มค่าต่อการสูญเสียค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีบางประการของไทยไปหรือไม่

การจัดสรรโควตารัฐมนตรีตามจำนวนสมาชิกในมุ้งใหญ่ มุ้งเล็ก ตามจำนวนเงินที่สนับสนุนพรรค ตามภาค หรือตามมือที่มองเห็นและมองไม่เห็น เป็นความชอบธรรมที่นักการเมืองและพรรคการเมืองมักจะอ้าง แต่เหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศหรือไม่ ไม่เห็นพูดถึง พูดแต่เพียงว่าได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย ก็มีความชอบธรรมที่จะทำ (เพราะได้รับเลือกมาแล้ว เป็นตัวแทนแล้ว เป็นรัฐบาลแล้ว)

ถ้ารักชาติจริง เห็นแก่ประโยชน์สูงสุดของประชาชนส่วนใหญ่และประเทศจริง ทำไมไม่เลือกคนดีและคนเก่งที่สุดมาเป็นรัฐมนตรี ทำไมต้องมีโควตา โควตาเป็นประชาธิปไตยหรือ โควตาถูกกฎหมายหรือ มีกฎหมายเกี่ยวกับโควตารัฐมนตรีหรือไม่ หรือเป็นเพียงแนวปฏิบัติของนักเลือกตั้งที่ชอบอ้างประชาธิปไตย โดยลดทอนประชาธิปไตยเหลือแค่การเลือกตั้ง

เหตุผล และข้ออ้างส่วนใหญ่ที่นักการเมืองใช้มักจะอิงกับความถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าเป็นฝ่ายปฏิบัติเองก็จะบอกว่าทำตามกฎหมาย แต่ถ้าถูกกล่าวหาก็จะอ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย ความคิดและการกระทำดังกล่าว บิดเบือนให้เข้าใจผิดไปว่ากฎหมายคือ กรอบปฏิบัติสูงสุด ทั้งที่จริงๆ แล้วกฎหมายเป็นกรอบกติกาภายนอก ไม่ควรอยู่เหนือคุณธรรมความดีความงามภายในจิตใจ กฎหมายไม่ควรขัดแย้งกับความดีงามในสังคม และไม่ควรเอื้อให้คนทำสิ่งที่เลวได้อย่างถูกกฎหมาย

ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอันเป็นคุณธรรมภายในที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะสมเรียนรู้กันมาผ่านขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพบุรุษไทย กลายเป็นสิ่งที่ด้อยคุณค่ากว่ากฎหมายใหม่ที่ร่างขึ้นมาตามแนวตะวันตก แบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ความถูกต้องชอบธรรม และความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ถูกลดทอนลงเหลือเพียงความถูกต้องชอบธรรม และความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามกฎหมาย และตามกฎระเบียบของหน่วยงาน

ผู้เขียนเคยเขียนบทความในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เรื่อง “ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยและสังคมโลก” ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า นักการเมืองและคนทั่วๆ ไปจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน กำลังลดทอนความมีคุณธรรมจริยธรรม ความดีงาม ความยุติธรรม ความชอบธรรม เหลือแค่เพียงความถูก-ผิดทางกฎหมาย และโดยเฉพาะความถูก-ผิดตามกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ และแนวปฏิบัติของหน่วยงานของตนเอง และยังได้ตั้งข้อสังเกตเชิงคำถามว่า ความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย นำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคมจริงหรือไม่ ความถูกต้องตามกฎหมาย สร้างให้สังคมเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมจริยธรรมหรือไม่ ทั้งที่ในหลักการแล้วกฎหมายที่ดีก็ควรนำไปสู่ความยุติธรรม และความมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคม ไม่ควรแยกหรือแปลกแยกออกจากกัน

อันที่จริงบทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจที่สำคัญส่วนหนึ่งจากการได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มากด้วยประสบการณ์ จึงขอเอ่ยนามด้วยความเคารพคือ อาจารย์ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ท่านได้ให้ข้อสังเกตด้วยความห่วงใยว่า ค่านิยมที่ผิดเกี่ยวกับกฎหมายในปัจจุบันที่สำคัญอันหนึ่งคือ การคิดว่ากฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด จึงมักจะได้ยินคำพูดทำนองว่า “อะไรไม่ผิดกฎหมายก็ทำไปเถอะ” ค่านิยมเช่นนี้อาจารย์บอกว่าต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการ ต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณ ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเป็นมืออาชีพมีความสำคัญกว่า เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องต่ำสุด ซึ่งถูกใจผู้เขียนมาก

หากนำข้อสังเกตของอาจารย์ชัยณรงค์มาพิจารณาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ปรากฏในสังคมไม่ว่าจะในระดับโลกหรือระดับประเทศ ก็จะเห็นได้ชัดเจนอย่างน่าวิตก เช่น กรณีกองทุนข้ามชาติระดับใหญ่จัดกระทำ (Manipulate) ให้ราคาน้ำมัน ราคาทองคำผันผวนเพียงเพื่อผลกำไร การบิดเบือนราคาหุ้น การหาช่องว่างของกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน การออกหรือแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีตามโควตา การจ้อง และการสืบหาการกระทำที่ผิดหรือส่อว่าอาจจะผิดกฎหมายของฝ่ายตรงข้าม (รัฐบาลกับฝ่ายค้าน ตนเองกับคู่ปรปักษ์) โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน สังคม และ ประเทศชาติ และโดยปราศจากจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี

จริงอยู่ที่ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นกฎหมายของสังคม แต่คนที่มีอำนาจ และนักการเมืองบางคน ไม่ให้ความสำคัญเท่ากับกฎหมายที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในปัจจุบัน ความถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงความถูกต้องตามการตีความตามตัวอักษรเพื่อให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูก โดยบิดเบือนหรือมิได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงมักเป็นแนวปฏิบัติที่นักการเมืองอาชีพบางคนชอบทำโดยอ้างความชอบธรรม และอ้างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามกฎหมาย

เสรีภาพของบุคคลตามกฎหมาย อาจจะไม่ใช่เสรีภาพส่วนบุคคลที่แท้จริง เสรีภาพส่วนบุคคลที่แท้จริง เป็นเสรีภาพภายในที่บริสุทธิ์ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายภายนอกมาบังคับ มีความโปร่งใส ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อยืนยันความโปร่งใส

การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งถูกต้อง ชอบธรรม จึงชอบทำ และลงมือทำอย่างจริงจัง จริงใจ และอย่างต่อเนื่อง เช่น การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ของท่านเจ้าคุณอลงกต วัดพระบาทน้ำพุ การช่วยเหลือคนยากจนให้มีงานทำของหลวงพ่อพระพยอม กัลยาโณ วัดสวนแก้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายบังคับ แต่ถูกต้อง ชอบธรรม ตามหลักจริยธรรม และคุณธรรมอันดีงามของการอยู่ร่วมกันในสังคม

ความเมตตา กรุณา เป็นสิ่งดีงาม สมควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ หรือตราไว้เป็นกฎหมาย เพราะเป็นคุณค่า เป็นค่านิยมที่ดีงามเกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เกิดจากการมีสติและปัญญาของบุคคล ไม่ได้เกิดจากการบังคับตามกฎหมาย

ส่วนเรื่องการขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี หรือการขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวุฒิทางการศึกษา เรื่องถือครองหุ้นเกิน ๕% และอื่นๆ ในทำนองเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลตัดสินตามกฎหมายก่อนตัดสินใจ เพราะเจ้าตัวน่าจะรู้ดีว่าความจริงเกี่ยวกับตัวเองเป็นอย่างไร หากมีจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ก็ไม่ควรรับตำแหน่งหรือไม่ควรทำตั้งแต่แรก ยกเว้นไม่รู้จริงๆ แต่เมื่อรู้แล้ว ก็ไม่ต้องรอผลการตัดสินทางกฎหมาย ตัดสินได้ด้วยตัวเองอย่างมีความกล้าหาญทางคุณธรรม

อย่าลืมว่านักการเมืองและผู้นำประเทศ เป็นเสมือนครูและตัวแบบให้กับประชาชน และเยาวชนของประเทศ

ขอให้มีสติและปัญญาในการเป็นครูและตัวแบบที่ดี มีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม มากกว่าการพยายามทำให้ถูกต้องทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว

Back to Top