พันธนาการ: เงื่อนอคติในความสัมพันธ์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู และ มิรา ชัยมหาวงศ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2551

ช่วงนี้ กลุ่มกระบวนกรทางเชียงรายกำลังศึกษาบทเรียนจากวอยซ์ไดอะล็อค ของ ดร. สโตน สามีภรรยา ที่ว่า พันธะคือพันธนาการ (Bonding Pattern) ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขบนความสัมพันธ์ ที่เมื่อแต่ละคนมาข้องเกี่ยวกันแล้วไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ พันธะเช่นนี้จะสร้างทุกข์ของการอยู่ร่วมกันในความสัมพันธ์ทุกระดับที่เกิดขึ้นในมนุษย์

พันธะเช่นนี้ มีความเกี่ยวข้องกับสมอง คือกระบวนความสัมพันธ์ที่มีมาในพ่อแม่กับลูก เป็นวงจรสมองที่ก่อขึ้นอย่างถาวรในตัวเรา ดำรงอยู่อย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล ที่ว่า “หลับใหล” คือเราจะไม่รู้ตัวถึงการดำรงอยู่ของมัน แต่เราจะคิดว่า นี่คือตัวเรา เราเป็นเช่นนี้เอง และไม่คิดว่า เพียงวงจรหนึ่งของสมองที่เราไปจดจำรูปแบบ แบบแผน ที่แม่หรือพ่อมีต่อเรานั้น เราจะนำกลับมาใช้อีกในความสัมพันธ์อื่นๆ รอบตัวเรา กับคู่ของเรา กับเพื่อนร่วมงาน กับเพื่อน กับลูกหลานของเรา มันเป็นพันธะผูกมัดตัวเอง เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตายตัว เป็นเทปม้วนเก่า เป็นแบบแผนความสัมพันธ์ที่ถูกทำซ้ำๆ อยู่เช่นนั้น แม้ว่ามันจะใช้การได้ไม่ดีนัก และก่อให้เกิดความขัดแย้งและความทุกข์ขึ้นมาก็ตาม

ผมขอนำตัวอย่างสดๆ เป็นข้อเขียนของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งศึกษาวอยซ์ไดอะล็อคร่วมกัน มาลงไว้

ขออนุญาตนำความ (ข้างบน) ของครูมาศึกษาเทียบเคียงกับประสบการณ์ของผม กับ "ท่านผู้ยกตน" ของผม

ปมในใจของผมกับท่าน (ผู้ยกตน) ที่เกือบจะสะสมเป็นอารมณ์ที่ลุกเป็นไฟ หากมองเป็นพันธนาการตามนัยยะของ ดร. สโตน ซึ่งครูได้เขียนสรุปอย่างกระชับได้ใจความงดงามยิ่งนัก ผมพบว่า ปมดังกล่าวเป็นปมที่เกิดจากพันธนาการหรือรูปแบบและวงจรที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ในบทบาทที่ผมมักจะเล่นเป็น "ลูกขบถ" กำลังสู้รบตบมือกับ "พ่อเผด็จการ" ขณะที่ลูกขบถต้องการที่ทางเป็นตัวของตัวเอง และพ่อเผด็จการต้องการขีดเส้นให้ลูกเดิน พันธนาการนี้หากยังดำรงอยู่ในใจ เมื่อมีสถานการณ์ใด หรือใครที่นำพันธนาการคล้ายๆ เช่นนี้เข้ามา วงจรความรู้สึกนึกคิดของลูกขบถก็จะทำงาน โดยพิพากษาตัดสิน ผลักไส ท้าตีท้าต่อย หรือจะแค่นินทาก็ตาม

แต่เมื่อมีโอกาสใคร่ครวญครั้งแล้วครั้งเล่า จนวงจรของผมที่ได้พิพากษาท่านว่า เป็น "คนยกตนข่มชาวบ้าน" "ใช้อำนาจบาตรใหญ่" และลึกๆ แล้วเป็น "เผด็จการ" นั้น อาจจะไม่จำต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป วงจรดังกล่าวจะอ่อนกำลังลงเมื่อถูกใคร่ครวญอย่างเพียงพอนั้นประการหนึ่ง

และอีกประการหนึ่งได้แก่ ทางเลือกใหม่ในจิตไร้สำนึก กล่าวคือความเป็นไปได้ใหม่ที่ผมไม่จำต้องเล่นในบทบาทของวงจรเดิม ที่มักจะเล่นบทขัดขืนเหมือน "ลูกขบถ" และขณะเดียวกันผมก็ไม่จำต้องกลายเป็น "เด็กว่านอนสอนง่าย" เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด แต่สามารถเลือกลงมือกระทำ และเข้าไปสัมพันธ์กับ "ท่าน" (ซึ่งโดยข้อเท็จจริงก็ไม่ใช่ "พ่อ" ของเราสักหน่อย) และพูดคุยกับท่านตามเนื้อผ้าเท่าที่จำเป็น เพื่อให้งานลุล่วงไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น บทเรียนในครั้งนี้ เป็นวงจรใหม่ที่หลุดออกจากพันธนาการเดิมในเรื่องนี้ กับ "ท่าน" ท่านนี้ ส่วนเรื่องใหม่ ท่านใหม่ หรือใครอีกคนที่จะเข้ามาในวันหน้า เป็นอย่างไรค่อยว่ากันอีกที


ผมคิดถึงความสัมพันธ์กับคนรุ่นหลานที่ใกล้ชิดกันคนหนึ่งที่อาจจะอยู่ในฐานะเพื่อนของผม ซึ่งเขาเป็นคนที่ทนกับอาการโม้โอ้อวดของผมไม่ค่อยได้ เพื่อนคนหนึ่งช่วยทำแบบฝึกหัดหนึ่งของวอยซ์ไดอะล็อคให้กับเขา เป็นแบบฝึกหัด ๔ ช่องของ เจมี่ แพนกายา เขาเริ่มจากช่องที่ ๒ ที่ให้เขียนถึงคุณสมบัติหรือบุคลิกภาพในคนอื่นที่เขาหงุดหงิด เขาเลยลงบุคลิกภาพของผมไปว่า เป็นคนขี้โม้ ยกตนข่มท่าน ชอบกำกับ สั่งการ ควบคุมบังคับ อะไรในทำนองนี้

ทีนี้ในช่องที่ ๑ สิ่งที่เขาจะต้องหาคือ พลังบริสุทธิ์หรือด้านที่ไปพ้นจากการตัดสินด้วยอคติของบุคลิกภาพที่เขียนไว้ในช่องที่ ๒ เช่น “ควบคุมบังคับ” “เจ้ากี้เจ้าการ” หรือ “ใช้อำนาจจัดการ” ซึ่งเป็นเรื่องที่รับได้ยากมากสำหรับเขา แล้วนำไปกรอกลงช่องที่ ๑ เขาใช้เวลานานทีเดียว แต่ในที่สุดก็เขียนว่า “การดูแลใส่ใจ” แต่ใส่เงื่อนไขไว้ว่า “ไม่เห็นภาพรวม” และทุกๆ ประโยคในช่องที่ ๑ เขาจะใส่ “แต่” ไว้เสมอ

ข้อสังเกตของผมก็คือ มันเป็นการยากที่มนุษย์จะเห็นบุคลิกภาพที่เราหงุดหงิดว่า มีพลังบริสุทธิ์ของมันอยู่ ถึงแม้ในที่สุดเราจะคิดได้ แต่เราก็จะใส่คำว่า “แต่” ลงไป คือเรารับได้อย่างมีเงื่อนไขนั่นเอง

ผลพวงของพันธะแบบพันธนาการ

ผลที่เกิดตามมาจากพันธะแบบพันธนาการนี้ ประการแรกก็คือ ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะในรูปแบบความสัมพันธ์นี้ คนๆ หนึ่งจะเล่นบทบาทเป็นพ่อแม่ และอีกคนหนึ่งจะเล่นบทบาทเป็นลูก แน่นอนพ่อแม่ย่อมมีอำนาจเหนือลูก และประการที่สอง ความสัมพันธ์จะเป็นไปแบบจำยอม คือไม่อาจทำตัวเป็นอื่นได้ เช่น จะต้องเป็นลูกที่ดี หรือจะต้องเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นต้น ประการที่สาม ก็คือการถูกผูกติดอยู่ในวิถีเดิมๆ แห่งความสัมพันธ์ โดยไม่อาจสร้างสรรค์ ไปพ้นกรอบความคิด และวิถีปฏิบัติเดิม ๆ

เราจะตื่นรู้และออกจากพันธนาการได้อย่างไร

พันธนาการเป็นเงื่อนไขที่ล็อคไม่ให้แต่ละคนเรียนรู้และเติบโตขึ้น สร้างคุณภาพใหม่ๆ และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ หรือความสัมพันธ์ที่ปราศจากความตื่นรู้ ที่แต่ละคนติดอยู่กับเพียงอคติส่วนบุคคล ก่อให้เกิดปัญหาได้ตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาใหญ่

คำถามคือว่า เมื่อตัวเราแต่ละคนมีความสัมพันธ์และมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลาในทุกระดับ เราจะมีกลไกหรือมีเครื่องมืออย่างไรที่จะช่วยให้เรานำพาตัวเองสู่ความตื่นรู้และก้าวพ้นจากอคติส่วนตนที่พันเกี่ยวตัวเราอย่างเป็นพันธะที่สร้างปัญหา รู้จักมองคุณค่าและด้านดีของผู้อื่นจากหัวใจ ให้การ “อยู่ร่วม” เป็นอิสระและสร้างความหมายให้ทั้งตัวเองและผู้อื่น

Back to Top