เมื่อเอาใจนำ ทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นสุข



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มกราคม 2552

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๒ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่าน “จิตวิวัฒน์” ทุกคนและเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดประสบความสุขสวัสดี ความทุกข์ใดๆ ในปีที่ผ่านมา ก็ขอให้ผ่านไปพร้อมกับปีเก่า เคล็ดลับของความสุขนั้นไม่ยากเลย เหมือนเส้นผมบังภูเขา เราทำอะไรๆ โดยเอาความรู้นำบ้าง เอาเศรษฐกิจนำบ้าง เอาการเมืองนำบ้าง แล้วก็นำเราเข้าไปสู่ความเครียด ความขัดแย้ง และวิกฤต จริงอยู่ ความรู้ก็ดี เศรษฐกิจก็ดี การเมืองก็ดี มีความจำเป็นแต่ไม่ใช่ตัวนำ

ทำอะไรต้องเอาใจนำ

ถ้าเอาใจนำจะง่ายขึ้นเยอะและนำไปสู่การลงตัว

ใจเป็นเรื่องที่ทุกคนมี ความรู้อาจจะไม่มี เศรษฐกิจอาจจะไม่มี การเมืองอาจจะไม่มี จะทำอะไรให้ง่ายและสำเร็จต้องเริ่มจากเรื่องที่ทุกคนมีและมีส่วนร่วมได้

ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ

นี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราต้องตระหนักรู้ เพราะเป็นทุนของการพัฒนาที่สำคัญที่สุด จริงอยู่มนุษย์มีโลภะ โทสะ โมหะ และทำอะไรร้ายๆ ได้มากมาย แต่ลึกๆ ก็มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ เวลาเกิดภัยพิบัติเช่นสึนามิ คลื่นน้ำใจที่หลั่งไหลออกมาใหญ่กว่าคลื่นสึนามิอีก การที่น้ำใจหลั่งออกมาทันทีแปลว่ามันมีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีก็ไม่มีอะไรจะหลั่งออกมา น้ำใจจะแสดงออกด้วยอาการต่างๆ เช่น เห็นใจคนตกทุกข์ได้ยาก คนเสียเปรียบ คนถูกรังแก

ถ้าเอาความรู้นำ เอาเศรษฐกิจนำ เอาการเมืองนำ จะไปกระตุ้นอกุศลมูล และเกิดความใจร้ายตามมาได้อย่างสุดๆ จนกลบความดีแห่งความเป็นมนุษย์ไปเสียหมด เราตกอยู่ในความเข้าใจผิดหรือโมหภูมินี้และเครียดขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดีๆ เพื่อจะออกจากโมหภูมิให้ได้

พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นสัตว์ร้ายในตัวมนุษย์ ๓ ตัว ที่เราต้องระวังระไว เพราะถ้ามันออกมาเพ่นพ่านในการคิด การพูด และการทำของเรา มันจะก่อความเดือดร้อนให้ตัวเราเองและสังคม สัตว์ร้าย ๓ ตัวนั้นชื่อ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เราอาจจะไม่ชอบภาษาบาลีเหล่านี้เพราะเราไปติดศัพท์ฝรั่งเสียจนเคย แต่คำบาลีเหล่านี้บอกอะไรที่ลึกซึ้งกว่าภูมิปัญญาตะวันตกมาก และไม่ยากที่จะเข้าใจถ้าเพียงแต่เราจะใส่ใจ

ตัณหา = ความอยากได้มากๆ ยิ่งมากยิ่งดี

มานะ = ต้องการใช้อำนาจเหนือผู้อื่น

ทิฏฐิ = การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่

การใช้ความรู้ที่ขาดปัญญากำกับก็จะตกเป็นเหยื่อของกิเลส นำไปสู่อหังการและทิฏฐิราคะ นำไปสู่ความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์และความรุนแรง เศรษฐกิจก็นำไปสู่โลภจริต การเอาเปรียบ การทำร้ายผู้อื่น สงคราม การเมืองถ้าขาดปัญญากำกับก็นำไปสู่การใช้อำนาจเหนือผู้อื่น ซึ่งตรงกับมานะซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ร้าย ๓ ตัวดังกล่าวข้างต้น

การใช้ความรู้นำ ใช้เศรษฐกิจนำ ใช้การเมืองนำ จึงเป็นเรื่องของการใช้สัตว์ร้าย ๓ ตัว หรืออกุศลมูลนำ จึงนำไปสู่ความยุ่งยากในชีวิตและสังคมอย่างที่เกิดขึ้น

การใช้ใจนำง่ายกว่าเยอะและนำไปสู่สิ่งดีๆ

ถ้าเพียงแต่คิดว่าเราทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ เราก็มีความสุขแล้ว

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีต่างๆ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รณรงค์ขับเคลื่อนเรื่อง “เมืองไทยหัวใจมนุษย์” หรือ “เติมหัวใจให้สังคม” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขับเคลื่อนเรื่อง “มิตรภาพบำบัด” ศูนย์คุณธรรมขับเคลื่อนเรื่อง “การทำแผนที่ความดี” วงการสุขภาพขับเคลื่อนเรื่อง “ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” หลายองค์กรขับเคลื่อนเรื่อง “อาสาสมัครเพื่อสังคม หรือ อาสาสมัครเพื่อเพื่อนมนุษย์” ในระดับชุมชนหลายแห่ง เช่นที่ตำบลปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการสำรวจว่ามีคนพิการกี่คนในตำบล ประเภทใดบ้าง และมีอาสาสมัครเป็นเพื่อนให้ความช่วยเหลือทุกประเภท ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องของการเอาใจนำทั้งสิ้น

ในการรณรงค์เรื่อง “เมืองไทยหัวใจมนุษย์” โดย สช. และภาคี ได้นำตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ที่ทำด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์มาเล่าสู่กันฟัง ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมมากขึ้นๆ และตัวอย่างมีมากมายทุกพื้นที่ ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังต่างเต็มตื้นไปด้วยความสุข และเห็นได้ชัดว่าความสุขติดต่อกันได้ คือการเห็นใครทำอะไรดีๆ แล้วพลอยมีความสุขไปด้วย

ในขณะที่โลกระบมไปด้วยความโกรธ ความเกลียด ความร้ายกาจ เพราะการขับเคลื่อนด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่เมื่อเอาใจนำหรือเอามิตรภาพนำ ก็เกิดการเยียวยาหรือการบำบัดขึ้น เมื่อมีมิตรภาพ โรคก็บรรเทาเบาบางลงหรือถึงกับหายแม้แต่จากมะเร็ง ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเราทุกคนในฐานะที่เป็นมนุษย์ มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่สัตว์ไม่มี แล้วมีมิตรภาพต่อกันและกัน จะเกิดการเยียวยามหาศาลเพียงใด โลกป่วยหนักด้วยโรคโลภะ โทสะ โมหะ จึงต้องการการเยียวยาขนาดหนัก การเยียวยาขนาดนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อตระหนักรู้ว่าทำอะไรๆ ต้องเอาใจนำ

สช. และภาคที่ขับเคลื่อนเรื่อง “เมืองไทยหัวใจมนุษย์” มาพักหนึ่งแล้ว เขามั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่ยาก เพราะเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน และมีแรงจูงใจที่ใหญ่ที่สุด แรงจูงใจที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์คือความสุข คนที่มีใจเพื่อเพื่อนมนุษย์เกิดความสุขฉับพลันทันทีทุกคนไม่มียกเว้น ผู้ที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่อง “เมืองไทยหัวใจมนุษย์” จึงกล้าที่จะมีความฝันใหญ่ (Big Dream) ว่าเทียนเล่มน้อยในหัวใจของคนไทยแต่ละคน จะค่อยๆ จุดต่อๆ กันจนเกิดดวงใจที่เชื่อมโยงกันเต็มประเทศ เมื่อนั้นประเทศไทยจะเปลี่ยนไป ความสุขจะเปี่ยมล้นประเทศ ความรักความสมานฉันท์จะบริบูรณ์ ทำอะไรๆ ก็สำเร็จได้ง่าย ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา หรือสาธารณสุข ทุกเรื่องต้องการใจนำทั้งสิ้น

เรามีพื้นฐานเรื่องนี้อยู่ในวัฒนธรรมของเราอยู่แล้ว เป็นจุดแข็งของเรา เมื่อผมเด็กๆ อยู่เมืองกาญจน์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นจับฝรั่งมาเป็นเชลย ชาวบ้านก็สงสารฝรั่ง คอยให้กล้วยให้น้ำ ตอนสงครามสิ้นสุดลง ฝรั่งจับญี่ปุ่นเป็นเชลย ชาวบ้านก็ไปสงสารญี่ปุ่นอีก ไม่ยึดในอุดมการณ์แยกข้างแยกขั้ว แต่มีความสงสารเป็นเจ้าเรือน ผมได้รับฟังมาว่าบริษัทเครื่องบินต่างๆ แอบเอาเครื่องบินมาให้ช่างไทยซ่อม ผมคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนไทยจะซ่อมเก่งกว่าฝรั่ง ไปถามช่างซ่อมเครื่องบินที่รู้จักกัน เขาบอกว่าจริง เพราะช่างไทยมีน้ำใจ ระหว่างที่ซ่อมถ้าเจออะไรบกพร่องก็ทำแถมให้ด้วยถึงแม้ไม่อยู่ในสัญญา ฝรั่งถือสัญญาเป็นหลักไม่ได้ถือใจเป็นหลัก ในเรื่องการพยาบาล พยาบาลชาติไหนจะมีใจเท่าพยาบาลไทย จีนเหรอ ฝรั่งเหรอ แขกเหรอ พยาบาลไทยจึงขายดีมาก ในปัจจุบันและอนาคต การพยาบาลและการบริบาลสำหรับคนแก่ เด็ก คนป่วย คนพิการ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าบริบาลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์แล้ว จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้มนุษย์อย่างเหลือหลาย ผมจึงประกาศแก่พยาบาลว่า “ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางการพยาบาล” ได้แน่นอน และให้คำขวัญว่า

  • พยาบาลไทยหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์
  • แพทย์ไทยหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์
  • อะไรๆ ไทยก็หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์


ในที่สุดประเทศไทยทั้งประเทศเป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ นี้คือการเปลี่ยนวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง เป็นการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่า “Change” ของโอบามา เพราะนั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระนาบของภพภูมิเดิมของ โลภะ โทสะ โมหะ คงจะไปไม่ได้ไกลหรือไปไม่ได้เลย

แท้ที่จริงคำว่า “ใจ” หรือการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ แม้เป็นคำง่ายๆ ที่เราคุ้นเคย แต่หมายถึง “ปัญญา” ในทางพุทธนั้นถือว่า ความเห็นแก่ตัวเกิดจากอวิชชาหรือความไม่รู้ซึ่งตรงข้ามกับปัญญา การไม่ยึดมั่นเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางได้มากเท่าไร ก็ถือว่ามีปัญญามากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นที่ว่าการทำอะไรๆ ต้องเอาใจนำนั้น แท้ที่จริงคือการเอาปัญญานำ มีพุทธพจน์ว่า “นัตถิ ปัญญา สมาอาภา” (แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี)

พุทธศาสนาก็เป็นรากฐานของสังคมไทย พุทธศาสนามีแนวคิดและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับความดีอย่างสุดๆ หาที่เปรียบได้ยาก เราทิ้งรากฐานของเราไปเห่อสิ่งที่ไม่ดีจริง ที่กำลังทำให้วิกฤตทั้งโลกแล้ว ควรหันกลับมาหาจุดแข็งในรากฐานของเรา “ใจ” เป็นจุดแข็งในรากฐานของเรา ซึ่งควรจะนำมาเป็นพลังในการพัฒนาประเทศของเราให้มีความยุติธรรม มีความสมานฉันท์ และมีความสุข

ขอให้คนไทยทำคนประสบความสุขสวัสดี ขอให้ร่วมสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก โดยเป็นประเทศที่เต็มไปหัวใจของความเป็นมนุษย์

One Comment

ครูสุริยะ กล่าวว่า...

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับผม


ผมเชื่อตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่ท่านอาจารย์หมอกล่าวมาในบทความฉบับนี้


เพราะกรรมทางพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ 3 ทาง คือกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม


แต่กรรมที่สำคัญและน่าจะมาเป็นอันดับแรก นำหน้ากรรมทางอื่น อีก 2 ทางก็คือ มโนกรรม เพราะคนเรานั้น ก่อนที่จะทำอะไรก็ต้องคิดก่อน การคิดหรือมโนกรรมหรือเรื่องของใจน่าจะนำทุกอย่าง นำทั้งการพูด นำทั้งการกระทำ

หากคนเราคิดดี ก็จะนำไปสู่การพูดและการกระทำที่ดี

หากคิดไม่ดีก็จะนำไปสู่การพูดและการกระทำที่ไม่ดี


ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยครับว่าใจนำทุกสิ่ง



คิดดีในใจก็แปรเปลี่ยนออกมาเป็นคำพูดและการกระทำที่ดีงามต่อตนเอง ต่อคนอื่นและต่อสังคม
ตลอดจนการส่งผลถึงการเกิดของเราในชาติต่อๆ ไปได้

หากคิดไม่ดีก็พึงระวัง พึงดับตั้งแต่อยู่ในใจเพื่อป้องกันการแสดงออกทางการพูด การกระทำ ซึ่งถ้าพูดหรือกระทำในสิ่งไม่ดีแล้ว เราจะเอากลับคืนไปก็ไม่ได้ และจะส่งผลเสียต่อตนเอง ต่อสังคม และตลอดจนการว่ายว่ายตายเกิดในภพ ในชาติต่อๆ ไปด้วยครับผม

Back to Top