มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 มกราคม 2552
การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา โดยปรัชญา หลักการและแนวคิด ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หวังให้ผู้เรียนเป็นทั้งคนเก่ง คนดี และมีความสุข แต่จากผลการประเมินของ สมศ. และผลการทดสอบระดับชาติของ สทศ. ยืนยันตรงกันว่า การปฏิรูปการศึกษายังไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งเรียนสูงขึ้น ความสุขและความดีดูเหมือนจะค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ความเก่ง ซึ่งหมายถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ไม่ดี จนมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
มีการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์จากหลายฝ่าย สรุปว่า ความล้มเหลวมาจากปัจจัยที่หลากหลาย บางคนโทษครูว่าไม่มีคุณภาพ บางคนโทษผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการว่ามัวแต่สนใจเรื่องการปรับโครงสร้างองค์การเพื่อรักษาหรือสร้างฐานอำนาจ บางคนก็โทษนักการเมืองที่มุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง และอื่นๆ อีกมากมาย ผู้เขียนจะไม่ร่วมวิเคราะห์สาเหตุแห่งความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่รับผล (ผู้เรียน ผู้ปกครอง สังคม...) ก็รับผลไปแล้ว และในความเป็นจริงเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ คงต้องตั้งสติแล้วใช้ปัญญาร่วม (Collective Wisdom) จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันหาวิธีที่จะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น มากกว่าการพยายามหาสาเหตุของความล้มเหลว กล้าที่จะก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา ไปสู่การร่วมกันสร้างและพัฒนาเป้าหมายและวิธีบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ที่เป็นไปได้ โดยเริ่มจากการยอมรับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างรู้เท่าทัน แล้วก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสติ มีความรักความเมตตาเป็นฐาน มีปัญญาญาณเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอว่า ในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ควรต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังถึงการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของการศึกษาใหม่ที่เรียกว่าจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) มาใช้ในทุกระดับและประเภทของการศึกษา และเพื่อเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการพิจารณา ผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติโดยสรุปของจิตตปัญญาศึกษาดังต่อไปนี้
จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่เน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความตระหนักรู้และการเรียนรู้มิติ/โลกด้านใน (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทัศนะ/มุมมองต่อชีวิตและโลก) ของตนเอง ให้คุณค่าในเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งหมายถึงการสังเกตอย่างมีสติต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเองที่เกิดขึ้นจากการเผชิญกับผู้อื่นและโลกภายนอก ผ่านกระบวนการ/วิธีการและกิจกรรมที่หลากหลาย (การนิ่งสงบอยู่กับตนเอง/การเจริญสติ ภาวนา self and group reflection, dialogue, deep listening, journaling, กิจกรรมอาสาสมัคร/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ศิลปะ ดนตรี โยคะ นิเวศน์ภาวนา...ไปจนถึงพิธีกรรมทางศาสนา) มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental) อย่างลึกซึ้ง (Profound) ทางความคิดและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับตนเองและโลก ส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิตอย่างมีสติและปัญญา มีความรักความเมตตาต่อตนเองและสรรพสิ่งทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
จิตตปัญญาศึกษาเน้นประสบการณ์ตรงภายใน ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินแบบจิตตปัญญาศึกษาจะอยู่บนฐานของการเป็นกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่ากัลยาณมิตรเรียนรู้และกัลยาณมิตรประเมิน (Amicable Learning and Evaluation) ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน จิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ภายใน (Tacit Knowledge) ของแต่ละคน ไม่วิพากษ์ วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ภายใต้บรรยากาศของการเคารพ ยอมรับระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผยและรู้จักตนเอง (Self Disclosure) และผู้อื่น
จิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ในระดับต่างๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภายในตน (Self/Personal Transformation) การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร (Organizational Transformation) และการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม (Social Transformation) โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ แต่ เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้ง
โดยนัยนี้ จิตตปัญญาศึกษา เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ ส่วนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นเป้าหมาย แต่เป็นเป้าหมายที่ไม่คงที่ (Static) เพราะเป้าหมายนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง
อาจสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้
ในปัจจุบัน มีองค์กร หน่วยงานและสถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ เอกชนและ NGO ที่ตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่องจิตตปัญญาศึกษา นำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาไปเผยแพร่ผ่านการอบรม การฝึกปฏิบัติ รวมไปถึงการเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษาในระดับประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรหลายแห่งทั่วโลก
ในประเทศไทย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแรกที่เปิดหลักสูตรระดับปริญญามหาบัณฑิตในสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง มีการทำวิจัยทางจิตตปัญญาศึกษาที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษา มีการวิจัยและพัฒนาหารูปแบบการเรียนการสอนด้วยการนำองค์ความรู้ที่รวบรวมได้ไปทดลองใช้ในห้องเรียนจริงที่มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การวิจัยพัฒนาชุนชน (พุทธมณฑล) แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) มีการอบรมพัฒนาด้านจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงให้กับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยและเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการสนับสนุนอย่างจริงจังของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ถึงขั้นกำหนดให้เรื่องการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เป็นนโยบายหลักในวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objectives) ด้านความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน (Teaching and Learning Excellence) มีรองอธิการบดีสี่ท่านเข้ามาเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ภาควิชาศึกษาศาสตร์และเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดว่าจะเปิดสอนได้ในปีการศึกษา ๒๕๕๓
การอบรม การวิจัย การเปิดหลักสูตร และการสร้างและพัฒนาเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นความกล้าหาญทางวิชาการและจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษาที่สมควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดตั้งหน่วยงานภายในคณะครุศาสตร์ คือศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา และโดยการสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษาแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษาได้จัดอบรมด้านจิตตปัญญาศึกษาให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ๒ รุ่น รุ่นละ ๕ หลักสูตร หลักสูตรละ ๓ วันในปีการศึกษา ๒๕๕๑ และภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ทางศูนย์จะจัดอบรมให้คณาจารย์คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ๒๕ แห่งที่เข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๐๐ คน เพื่อเรียนรู้และนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาไปพัฒนารายวิชา/หลักสูตร แล้วนำไปทดลองปฏิบัติจริงในชั้นเรียน
การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ หากมีหัวใจให้จิตตปัญญาศึกษา รัฐบาลจะไม่ได้เริ่มอย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีหน่วยงาน องค์กร สถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ และอีกบางแห่งได้ทดลองนำร่องไปส่วนหนึ่งก่อนแล้ว หากกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ โดยเฉพาะรัฐบาล มีเจตนาดีและมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ผู้เขียนเชื่อว่าเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาพร้อมและยินดีที่ร่วมเดินทางปฏิรูปไปกับท่าน
One Comment
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับผม
ทุกวันนี้การจัดการศึกษามีจุดหมายแบบเลื่อนลอยก็ว่าได้
เน้นความรู้เป็นหลักสำคัญ เชิดชูคนที่มีคะแนนทางการเรียนสูงๆ รับคนเข้าทำงานก็พิจารณาที่เกรดเฉลี่ยและการสัมภาษณ์ที่คนถูกสัมภาษณ์อาจแกล้งตอบให้ฟังดูดีก็ได้
แต่พอเวลาจะถูกไล่ออกหรือลาออกจากงาน ความรู้กลับไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่กลับเป็นปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายมากกว่า นั่นคือเราขาด EQ MQ AQ SQ หรือเปล่า ซึ่ง Q ต่างๆ เหล่านี้เราน่าจะพัฒนาและสร้างได้ด้วยการเสริมด้านจิตวิญญาณตามแนวคิดของจิตตปัญญาศึกษาก็น่าจะเหมาะสมดี
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางมุมมองเล็กๆ ที่หลายๆ คนน่าจะมองเห็นครับผม
แสดงความคิดเห็น