คุณค่ากลาง



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 มกราคม 2552

คุณค่ากลาง (Common values) เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเป็นชุมชนเรียนรู้ (Learning community) การที่สังคมไทยจะเป็นสังคมเรียนรู้ในระดับชาติหรือระดับโลกได้ ต้องพิจารณาเรื่องคุณค่ากลางให้ถ้วนถี่ว่า ณ วันนี้ เรามีคุณค่าอะไรร่วมกันอยู่บ้าง เหตุผลความจำเป็น รวมทั้งความรู้สึกร่วมที่แท้จริง

นักจิตวิทยาชุมชน แมคมิลแลน (McMillan) และ ชาวิส (Chavis) ได้นำเสนอไว้ในวารสารจิตวิทยาชุมชน (Community Psychology) ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ว่าการจะเป็นชุมชนเรียนรู้ จะมีองค์ประกอบ ๔ ประการคือ ๑. ความรู้สึกเป็นสมาชิก ๒. การมีอิทธิพลต่อกัน ๓. ปัจเจกแต่ละคนสามารถบรรลุความต้องการพื้นฐานได้ ๔. การมีส่วนร่วมในปรากฏการณ์และความรู้สึกร่วม

ถามว่าสังคมไทยจำต้องเป็นสังคมเรียนรู้หรือไม่ ผู้เขียนขอตอบว่า “จำเป็น” เพราะไม่เช่นนั้น เราจะผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะไม่เรียนรู้ว่าผิดพลาดเรื่องอะไร อย่างไร ไม่รู้ว่าผิดพลาดที่หลักการหรือ ผิดพลาดที่การปฏิบัติ ซึ่งโดยมากมักจะผิดพลาดที่การปฏิบัติ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ ไม่มีระบบรองรับในการตัดสินใจ ความผิดพลาดในการปฏิบัตินั้น สามารถเรียนรู้ได้ แก้ไขได้ แต่ที่ผ่านมา เมื่อเกิดความผิดพลาดใดๆ เรามักเหมารวมว่าผิดไปทั้งหมด รวมทั้งหลักการด้วย เลยคิดจะรื้อใหม่ทั้งระบบ ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น เพราะอาจจะกระทบต่อคุณค่ากลางอื่นๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมโดยรวม และแน่นอนที่สุด ย่อมกระทบไปทั้งโลกด้วย เนื่องจากยุคสมัยนี้ ข้อมูลและความสัมพันธ์ทั้งหลายได้ถูกเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายทั่วไปหมดแล้ว และหากไม่ตระหนักในเรื่องนี้ให้ดี สุดท้ายจะกลายเป็นความขัดแย้งและพัฒนาตัวไปสู่สงครามในที่สุด

ณ วันนี้ การพูดคุยกันเรื่ององค์ประกอบของการเป็นชุมชนเรียนรู้ เป็นเรื่องที่สนใจกันทั่วโลก ต้องถามว่า องค์ประกอบเหล่านี้มีความชัดเจนหรือยังในบ้านเมืองเรา จะเห็นได้ชัดว่า เมื่อคนในสังคมมีความรู้สึกร่วมและรู้สึกได้ถึงศักยภาพของตนที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม คนก็จะสนใจเป็นสมาชิกของสังคมและมีความต้องการที่จะเรียนรู้ร่วมกัน แต่ถ้าหากคนไม่รู้สึกถึงความเป็นสมาชิก ไม่ได้รับการดูแลกันในเรื่องความต้องการพื้นฐาน คนย่อมจะไม่อยากเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

หากจะถามว่า ประเทศไทยเราเป็นสังคมเรียนรู้ได้หรือไม่ ต้องถามก่อนว่า เราสามารถสร้างองค์ประกอบพื้นฐานทั้ง ๔ ประการให้คนแต่ละคนรู้สึกถึงความต้องการที่จะเป็นสมาชิกในสังคมเรียนรู้หรือไม่ จะเห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมา เมื่อคนไทยผิดหวังในผู้นำประเทศ ก็จะสนใจเรียนรู้เรื่องราวในประเทศของตนน้อยลง แต่หันไปสนใจประเทศอื่นแทน เช่น ไปสนใจ บารัค โอบามา ผู้นำของสหรัฐอเมริกา บางครั้งเราจะได้ยินถึงถ้อยคำยกย่องให้ บารัค โอบามา เป็นผู้นำของโลกด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องตีเมืองกันให้เสียเวลาเสียทรัพยากร ก็เนื่องมาจากปรากฏการณ์ของความรู้สึกร่วมและความปรารถนาที่จะเป็นสมาชิกของสังคมเรียนรู้นั่นเอง ผู้คนเริ่มจะมองตนเองในฐานะประชากรของโลก แทนที่ความเป็นประชากรในประเทศ เพราะดูแล้วมีความหวังต่อชีวิตมากกว่าในแง่ของการตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน และความหวังที่แต่ละคนจะสามารถมีอิทธิพลต่อกัน

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ในฐานะเป็นคนผิวสี ที่ก่อนหน้านี้มักจะถูกมองว่าเป็นประชาชนชั้นสองหรือชั้นสามนั้น เขายืนยันที่จะมีป้ายหาเสียงที่ห้อมล้อมไปด้วยคนผิวสี คนเอเชีย และคนกลุ่มน้อย เป็นการท้าทายและพิสูจน์ใจของคนอเมริกันทั้งหมดว่า เชื่อมั่นในคุณค่าของ “ความเท่าเทียม” ของมนุษย์จริงหรือไม่ เขาอยากเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องที่มีพื้นฐานดี หรือได้รับการยอมรับมาตั้งแต่เกิด แต่สามารถพัฒนาตนเองได้ และเป็นไปได้สำหรับมนุษย์ทุกคนที่จะมีความหวังในชีวิต สามารถเคารพกันจริงๆ ในฐานะมนุษย์กับมนุษย์ นี่คือ คุณค่ากลาง ที่ทุกคนยอมรับ และไม่ใช่เป็นเพียงความสำเร็จของประธานาธิบดี บารัค โอบามา เท่านั้น แต่เป็นความสำเร็จของคนอเมริกันทั้งหมด ที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แต่เพียงหลักการในคำประกาศเท่านั้น โอบามาจึงเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากคนทั่วโลก

คุณค่ากลางอีกประการที่ขาดไม่ได้ คือ อิสรภาพและเสรีภาพทางความคิดและจิตวิญญาณ ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาจะเห็นชัดว่า ไม่ว่าหลักการจะดียิ่งประการใด หากในทางปฏิบัติเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของคน จะทำให้ล้มเหลว ดังที่เกิดปรากฏการณ์การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ที่แม้รัฐบาลเยอรมันตะวันออก ที่เป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ จะพร่ำบอกถึงคุณงามความดีของการเป็นประชากรที่ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน โดยแบ่งปันรายได้อย่างเท่าเทียม ทำงานวันละไม่มาก มีเวลาอ่านหนังสือดีๆ ที่รัฐบาลเลือกให้ และได้พบปะผู้คนในชุมชน ทำงานเพื่อแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้แก่กันและกัน แต่คนก็อพยพออกจากเบอร์ลินตะวันออกไปอยู่เบอร์ลินตะวันตกมากขึ้นทุกที ทั้งนักวิชาการ นักปราชญ์ หมอ ทนาย ฯลฯ จนกระทั่งรัฐบาลตัดสินใจสร้างกำแพงล้อมเบอร์ลินตะวันตกเป็นเกาะขนาดประมาณ ๑,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร อยู่ใจกลางเยอรมันตะวันออก มีทหารยามรักษาการณ์ไม่ให้คนเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตกที่เป็นส่วนของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นที่ของระบบเสรีนิยม

แต่ก็ยังไม่สามารถทัดทานการอพยพย้ายถิ่นฐานได้ กลับเกิดปรากฎการณ์ที่คนทั่วทุกสารทิศจากแผ่นดินเยอรมันตะวันออกอันกว้างใหญ่ พยายามที่จะเสียงตายหลบหนีอย่างผิดกฎหมายเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ในระยะเวลา ๒๘ ปี เกิดการหลบหนีถึง ๕,๐๐๐ ครั้ง ซึ่งเฉลี่ยต่อปีแล้ว คือหนีวันเว้นวัน เป็นปรากฏการณ์ที่โลกตกตะลึง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไปว่า แท้จริงแล้ว คนต้องการอิสรภาพในการเลือก มากกว่าต้องการให้ผู้อื่นกำหนดให้ คนไม่ต้องการถูกบังคับ และชัดเจนว่าคนย่อมละเลิกกิเลสต่างๆ เมื่อเขาเห็นโทษทุกข์ด้วยตัวเองแล้วเท่านั้น

ปรากฏการณ์การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ทำให้เป็นที่มาของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้นำสหรัฐฯ ทุกสมัย รวมทั้งโอบามา ที่มักจะอ้างถึงกำแพงเบอร์ลิน ที่เปรียบเสมือน “กำแพงในใจของคน” เขากล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชนชาติใด ย่อมได้รับความเสมอภาคและการเคารพในฐานะมนุษย์ ย่อมได้รับเสรีภาพและอิสรภาพอย่างเท่าเทียมกัน โอบามาจะพูดบ่อยว่า “The wall must be tear down (กำแพง (ในใจ) ต้องถูกทลายลง)” ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประโยคคลาสสิก “Tear down this wall (จงทลายกำแพงนี้เสีย)” ของประธานาธิบดี โรนัล เรแกนด์ ที่ท้าทายจิตใจของ มิคาเอล กอร์บาชาฟ ผู้นำสหภาพโซเวียต จนกระทั่งกอร์บาชอฟสามารถทำลายกำแพงในใจตนเองได้ และกำแพงเบอร์ลินก็ถูกทำลายลงด้วย จนกอร์บาชอฟได้รับความนิยมว่าเป็นผู้นำที่โลกไม่มีวันลืม (บุญคุณ)

โอบามายังให้กำลังใจคนทั้งโลกด้วยประโยคว่า “Yes, we can (ใช่ เราทำได้)” เป็นประโยคที่มนุษย์ทุกคนบนโลกได้รับกำลังใจไปตามๆ กัน จนหลายคนบอกว่า วันนี้สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงแล้ว แม้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่เคยล้มการปกครองเลยก็ตาม แต่สามารถเรียนรู้และพัฒนาให้ความผิดพลาดลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ได้ จากการยืนหยัดที่จะเป็นสังคมเรียนรู้ร่วมกัน สร้างองค์ประกอบ ปัจจัยการเรียนรู้จนสำเร็จ ณ วันนี้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงแล้ว คุณค่ากลางจากจิตวิญญาณภายในของคนอเมริกันฉายออกมาในระดับกายภาพอย่างชัดเจนแล้ว ที่เหลือก็เป็นปัญหาและโทษทุกข์ทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เองก็ยอมรับแล้วเช่นกัน และจะแก้ไขต่อไป

ส่วนประเทศไทยก็ควรเรียนรู้และไม่จำเป็นต้องถอยหลังไปผิดพลาด ให้เหมือนกับลอกเขามาทุกประการก็น่าจะดี

Back to Top