มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 9 พฤษภาคม 2552
วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นั้นเริ่มจากควอนตัมฟิสิกส์และความเข้าใจในเชิงอภิปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พัฒนาไปสู่ชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่ รวมไปถึงเคมีกระบวนทัศน์ใหม่
ในบรรดาข้อมูลที่เกี่ยวกับชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่นั้น มีหนังสือที่น่าสนใจมากเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Earth Dance ผู้เขียนซึ่งเป็นนักชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่ที่ชื่อ อลิซาเบท ซาห์ตอริส ได้เขียนถึงข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย
โดยหลักๆ ก็คือ “ความเชื่อมโยง” ของทุกสิ่งมีชีวิต และน่าสนใจมากที่รากศัพท์ของคำว่า “ศาสนา” มาจากภาษาละตินว่า “re-ligio” ซึ่งแปลว่า “reconnect” คือ “การเชื่อมต่อใหม่”
ดังนั้น “ศาสนา” ที่หากแปลโดยรากศัพท์ จึงหมายความถึงการเชื่อมต่อใหม่เข้ากับรากของมนุษย์เข้ากับแหล่งกำเนิดของมนุษย์ ซึ่งในทางปฏิบัติหมายถึงการกลับมาสู่การทำความเข้าใจภายในตัวเรา จิตใจของเรา ทำความเข้าใจถึงความหมายของการเกิดมาของเรา อลิซาเบท ซาห์ตอริส ได้ตั้งสมมติฐานขึ้นเรื่องหนึ่งว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า การทำความเข้าใจกับรากเหง้า (ธรรมชาติ) ของมนุษย์นั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่รอดอยู่ต่อไปได้ในสายของวิวัฒนาการ
ท่านพุทธทาสเองก็พูดเสมอว่า ศาสนาคือการศึกษาความเป็น “ธรรมชาติ” ของสรรพสิ่ง ศาสนาคือความเป็นธรรมชาติ และความเป็นธรรมชาติก็คือศาสนา
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนช่วยให้วิทยาศาสตร์ใหม่นั้นมีความนอบน้อม ถ่อมตน อ่อนโยน เชื่อมโยงและให้ “ความเคารพ” กับธรรมชาติ
ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่า ที่มุ่งเอาชนะธรรมชาติ มุ่งควบคุมทุกสรรพสิ่ง มองข้ามความสำคัญของจิตใจ ไม่เชื่อสิ่งที่มองไม่เห็นแต่กลับลืม “รับความรู้สึกลึกๆ” ที่ผมเชื่อว่าทุกคนจะต้องสัมผัสได้หากให้ความใส่ใจ สนใจ หรือ “ใจใส” เพียงพอ
มองในแง่วิวัฒนาการของมนุษยชาติ มนุษย์ที่เป็นโฮโมซาเปียน คือมีลำตัวตั้งตรงจริงๆ นั้น เพิ่งจะมีมาเพียงไม่กี่หมื่นปี เมื่อ ๘,๐๐๐ ปีก่อนเรายังเป็นมนุษย์ถ้ำกันอยู่เลย พวกเราเพิ่งจะรู้จักการเพาะปลูกเลี้ยงชีพเมื่อ ๗,๐๐๐ ปีก่อน เพิ่งจะมีการประดิษฐ์อักษรที่เขียนได้เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีนี้เอง พวกเราก็มีอายุเฉลี่ยกันเพียงประมาณ ๗๐ ปี ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ดูเผินๆ แล้วอาจจะไม่เห็นภาพอะไรชัด
แต่ถ้าเราลองเขียนตัวเลขเหล่านี้ในกระดาษแล้วลองเทียบกับอายุของจักรวาล (๑๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี) เทียบกับอายุของโลกใบนี้ (๔,๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี) เทียบกับอายุของแบคทีเรียที่มีมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีก่อน และก็ยังมีอยู่ไม่สูญพันธุ์ไปจนกระทั่งปัจจุบัน เราน่าจะเห็นมิติอะไรบางอย่างได้นะ
และถ้ามองด้วยมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ใหม่ ทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อว่า “โลกมีชีวิต” (Gaia Theory) มนุษย์อาจจะเป็นเพียงแค่ “การทดลอง” อย่างหนึ่งของโลกหรือของจักรวาล เหมือนกับที่เคยทดลองกับไดโนเสาร์มาแล้ว (๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีก่อน) เป็นการทดลองใหม่ล่าสุดของจักรวาลว่า พวกเราจะไปกันรอดหรือไม่
เมื่อหลายพันปีก่อน เรามี “ศาสนา” (หลายศาสนา) เป็นเครื่องค้ำจุนโลก เพื่อให้คลี่คลายไปจาก “ความขัดแย้งต่างๆ” แต่มนุษย์ก็มักจะตกไปเป็นทาสของเครื่องมือที่ตัวเองสร้างขึ้นมา มนุษย์ขัดแย้งกันมากขึ้น ทำลายล้างกันด้วยเรื่องชาติพันธุ์และศาสนาตามที่เราเห็นอยู่ในประวัติศาสตร์
นอกจากนั้น ปัจจุบันพวกเรายังติดกับดักครั้งสำคัญของความเป็นขอบเขต แต่โชคดีที่ดูเหมือนเราจะมี “วิทยาศาสตร์ใหม่” มา ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์ใหม่นี้ก็คงไม่ต่างไปจากศาสนาที่ “ธรรมชาติ” มอบให้มาเพื่อเป็นแนวทางในการพาตัวให้รอด ก่อนที่จะสูญสิ้นไปหรือหลุดออกไปจากวงจรวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลกใบนี้
ดูจากอายุของโลกและจักรวาล ความเป็น “มนุษยชาติ” ของเราเป็นเพียงแค่ “จุดเล็กๆ” ของช่วงเวลาที่ยาวนานมหาศาล
ทำไมเราไม่หันกลับมา “เรียนรู้” วิธีการอยู่รอดของแบคทีเรียว่า เจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านั้นอยู่รอดได้อย่างไรมาเป็นเวลาร่วมครึ่งอายุของโลก หรือเราควรจะเลียนแบบไดโนเสาร์ที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันและสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาของมนุษย์ที่ผ่านมาโดยตลอดก็คือ “สงครามและความขัดแย้ง” ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังนี้ “ความขัดแย้ง” ได้พัฒนามาเป็นความขัดแย้งของคนในชาติพันธุ์เดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ
นักชีววิทยาพบว่า ในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาทั้งหมด มนุษย์เราได้กลายเป็นแชมป์ในการทำลายสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ไปเป็นจำนวนมากมายถึงวันละหลายร้อยสายพันธุ์ และตอนนี้มนุษย์กำลังจะทำลายสายพันธุ์เดียวกันอีกไม่รู้จบ
ทำไมเราไม่ทดลองถอยออกไปไกลๆ แบบว่าออกไปนอกโลกไกลๆ แล้วลองมองเข้ามาดูโลกใบนี้ มองดูพฤติกรรมความขัดแย้งของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นคนในชาติเดียวกันหรือความขัดแย้งในเรื่องของชาติพันธุ์และศาสนา
เมื่อเราถอยออกไปนอกโลก เมื่อเรามองเห็นโลกทั้งใบ ในขณะเดียวกันกับที่มองเห็นพฤติกรรมทั้งหมดของเรา และลองนึกถึงประวัติความเป็นมาทั้งหมดของโลกใบนี้ตั้งแต่เกิดขึ้นมาเมื่อสี่พันกว่าล้านปีก่อนโน้น
เราเห็นอะไรกันบ้าง? เรารู้สึกอย่างไรกันบ้าง?
โลกทั้งใบนั้นมีตรงไหนบ้างที่บอกว่า เป็นประเทศนั้นประเทศนี้
มีจุดไหนของโลกบ้างที่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว หากว่าส่วนอื่นๆ ถูกทำลายล้างไป
ลองดูดีๆ แล้วคุณจะเห็นอะไรบางอย่าง แล้วคุณอาจจะมานึกขำหรือนึกเสียใจว่า พวกเราทะเลาะกันไปทำไม
ถ้าเจ้าแบคทีเรียทั้งหลายหัวเราะได้ พวกมันคงนั่งหัวเราะกันจนท้องแข็งแล้วว่า มนุษย์ที่มีมันสมองก้อนใหญ่ วิวัฒนาการมาไกลกว่าพวกมันมากแล้ว แต่กลับจะกำลังทำลายล้างกันเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แสดงความคิดเห็น