งานของผู้นำ



โดย นพ.กิจจา เจียรวัฒนกนก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2552

ผมอ่านงานแปลประวัติของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวอลดอร์ฟ เรื่องราวของเขาน่าสนใจในหลายเรื่อง แต่ที่ผมประทับใจมาก เป็นเรื่องซึ่งเขามีปณิธานที่จะปลุกให้มนุษย์ตื่นรู้ถึงพลังที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน เขาใช้คำว่า “ขอให้ข้าได้เป็นผู้จุดเปลวไฟในหมู่มวลมนุษย์” การที่เขาได้บรรยายเพื่อให้คนได้ตระหนักถึงศักยภาพในการรู้แจ้งของตน ไม่ต่างจากปณิธานของพระโพธิสัตว์ ในวัตรปฏิบัติของเขาจึงแสดงถึงการศิโรราบอย่างไร้ตัวตน ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง มีการยกตัวอย่างการปฏิบัติต่อผู้คนของสไตเนอร์ที่น้อมตนเองเพื่อรับใช้ความต้องการของผู้อื่นอยู่มากมาย เป็นการนำผู้คนผ่านการรับใช้โดยไม่นำความต้องการของตนเองมาบิดเบือน

พวกเราน้อยคนที่จะทำได้อย่างนั้น แต่วิถีปฏิบัติของสไตเนอร์แสดงถึงเป้าหมายสูงสุดของการเป็นผู้นำ นั่นคือนำมนุษย์ไปสู่การตื่นรู้ในศักยภาพของตนเอง จุดเปลวไฟในหมู่ผู้คนให้พวกเขาเห็นความสามารถที่จะจารึกการกระทำอันสร้างสรรค์ของตนเองให้กับโลก ผู้นำมองเห็นเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ในตัวคน การนำด้วยการรับใช้ พวกเขาเป็นเหมือนดั่งชาวสวนที่ทะนุถนอม หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงเพาะ ดูแลให้เมล็ดพันธุ์ได้เติบโตเต็มศักยภาพ

ดังนั้นงานสำคัญประการแรกของผู้นำ คือการมองเห็นศักยภาพที่จะเติบโตทางจิตวิญญาณของผู้คน ผมใช้คำนี้อาจจะดูใหญ่โตเกินไป แต่หากมองให้ลึกซึ้งแล้ว คนที่ทำงานให้กับองค์กร ไม่ได้เพียงเงินค่าตอบแทน หรือตำแหน่งอำนาจใดๆ หากเมื่อเราลองถามตัวเองลึกๆ จริงๆ แล้ว เมื่อเราได้เงิน หรือตำแหน่งอำนาจนั้นๆ แล้ว มันได้เติมเต็มความปรารถนาลึกๆ อะไรบ้าง เมื่อได้เงินทอง บางคนอาจได้ใช้เงินเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว อันเป็นความปรารถนาร่วมกันที่จะธำรงรักษามนุษยชาติผ่านความมั่นคง ความผาสุกของครอบครัว อันเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคม เงินสำหรับคนบางคนอาจเป็นการเติมเต็มความปรารถนาที่จะตอบแทนพระคุณบุพการี ตำแหน่งที่ได้รับอาจเป็นเพื่อทำให้เราได้ “สร้างความดีที่มากยิ่งกว่า” ให้กับสังคม หรือแม้กระทั่งเพื่อสร้างความยอมรับจากผู้อื่น แต่สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนคงมีความปรารถนาที่จะมีดุลยภาพของการได้รับสนองความต้องการพื้นฐาน กับความต้องการที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีงามตามคุณค่าที่แต่ละคนยึดถือ

งานของผู้นำที่จะช่วยผู้คนให้มองเห็นศักยภาพในตนเองนั้น ต้องเริ่มต้นที่ตัวผู้นำเองมองเห็นสิ่งนี้ก่อน ทั้งในตัวเอง และผู้อื่น เหมือนกับชาวสวนมองเห็นต้นมะม่วงในเมล็ดมะม่วง ความสามารถหลักในการเป็นผู้นำ คือสามารถพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง จนมองเห็นศักยภาพในตนเองและผู้อื่นที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อน ต้องเฝ้าดูตนเอง และผู้อื่นอย่างเนิ่นนานพอที่จะมองเห็นสิ่งนี้ เช่นเดียวกับที่เกอเธ่บอกไว้ว่า เมื่อเราเฝ้าดูสิ่งใดอย่างเนิ่นนานพอจนเกิดเป็นอวัยวะใหม่ในการรับรู้สิ่งนั้น

งานของผู้นำในประการที่สองคือ การเตรียมการเพื่อให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ผมชอบที่ ออตโต ชาร์มเมอร์ เขียนใน Theory U ถึงการเตรียมพื้นที่นาของตระกูลเขาว่า เป็นส่วนสำคัญของการเพาะปลูก พื้นที่ในการเรียนรู้ไม่ต่างจากที่นาสำหรับการเพาะปลูก คือต้องมีที่ว่างให้เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ได้งอกงาม และมีแร่ธาตุ ความชุ่มชื้นที่จะทำนุบำรุงให้เกิดการเรียนรู้ ผู้นำมีงานที่จะต้องสร้างให้สิ่งแวดล้อมในองค์กรมีโอกาสให้ศักยภาพของแต่ละคนเติบโต ให้พื้นที่แก่ผู้อื่นที่จะเรียนรู้ผ่านการทดลอง บำรุงพื้นที่นี้ด้วยข้อมูลข่าวสารและความสัมพันธ์ระหว่างกันในองค์กร งานในการเตรียมองค์กรให้พร้อมต่อการเติบโต เป็นการสร้าง “สนาม” ให้องค์กรด้วยการทำให้ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ใครๆ ก็เข้าถึงข่าวสารได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารความสนใจต่อข่าวสารนั้นแก่ใครก็ตามที่เห็นความสำคัญร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ในองค์กร นำความมีชีวิตมาสู่องค์กร

ยังมีงานสำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจเป็นงานในหน้าที่อันสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำ ไม่ใช่การนำเพื่อบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดใดๆ ไม่ใช่การบรรลุผลกำไรสูงสุด ไม่ใช้การได้รับผลประกอบการดีที่สุด ไม่ใช่องค์กรที่เป็นเลิศ หรือการให้ใครมาติดป้ายว่าองค์กรของเขาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แต่งานที่สำคัญที่สุดของผู้นำคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กร แรงบันดาลใจที่จะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรลุกขึ้นมาฟันฝ่าอุปสรรคใดๆ เพื่อทำให้การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นองค์กรของพวกเขาเป็นสิ่งซึ่งมีความหมาย ผู้นำมีภารกิจในการทำให้ชีวิตของคนในองค์กรเป็นชีวิตที่มีความหมายผ่านการทำงานร่วมกัน การทำงานเป็นการเพิ่มพูนความหมายให้กับชีวิตของคนในองค์กร หาใช่เป็นเพียงการเพิ่มผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น แต่เป็นการเพิ่มผลกำไรให้กับทุกชีวิตที่มีส่วนเกี่ยวพันกับองค์กร

ผู้นำต่างจากนักบริหารตรงนี้เอง ผู้นำรับใช้ต่อมนุษย์เพื่อทำให้สิ่งที่มีความหมายต่อมนุษย์เป็นจริงขึ้นมา เพิ่มพูนขึ้น และแบ่งปันซึ่งกันและกัน แต่นักบริหารส่วนมากเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ต่อกฎเกณฑ์ระเบียบ ต่อดัชนีชี้วัด และผลกำไร ต่อผู้มีอำนาจเหนือเขา และต่อผลประโยชน์ทั้งในส่วนของตนเองและองค์กร ไม่ว่านักบริหารจะนำองค์กรประสบผลสำเร็จตามดัชนีชี้วัดซึ่งท้าทายมากเพียงใด หากว่าล้มเหลวในงานของผู้นำทั้งสามประการแล้ว องค์กรก็มีสภาพไม่ต่างจากม้าที่ถูกเฆี่ยนให้วิ่งสุดกำลังตลอดเวลา ในไม่ช้าองค์กรหากไม่ล่มสลายก็จะมีสภาพอ่อนล้าจนไม่สามารถทำให้เกิดคุณค่าต่อผู้ใดได้อีกในที่สุด

One Comment

phana กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ ^^

Back to Top