มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552
ในโลกไซเบอร์ อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกันด้วยอิเล็กตรอน มีฟังก์ชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ แชท เอ็ม บล็อก บอร์ด ดิ๊ก วิดีโอแชร์ริง และอื่นๆ ผู้คนกลายเป็นที่รู้จักโด่งดังกันในชั่วข้ามคืน
สาวใหญ่ หน้าตาธรรมดา ซูซาน บอยล์ (Susan Boyle) จากเมืองเล็กๆ ในสกอตแลนด์ กลายเป็นดาราดังจากการประกวดร้องเพลง คลิปในยูทูปของเธอมีคนดาวน์โหลดชมถึงร้อยกว่าล้านครั้งแล้ว เธอมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนักร้อง และเป็นดั่งตัวแทนของตัวแทนผู้คนทั่วไปที่ตามค้นหาความฝัน
นิก วูจิซิซ (Nick Vujicic) เกิดออกมามีอาการผิดปรกติแบบเตตร้าอมีเลีย คือไม่มีแขนและขาทั้งสี่ เคยคิดจะฆ่าตัวตายตั้งแต่อายุสิบขวบ แต่เขาก็พบว่าเขาเองไม่ใช่คนเดียวที่ประสบกับความทุกข์ยากลำบากในชีวิต เขาค้นพบว่าศรัทธาเป็นดั่งบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เขามีความสุขในการใช้ชีวิต มีพลังไม่เพียงแต่จะมีชีวิตต่อ แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกต่อผู้คนไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือครบสามสิบสองอีกเป็นจำนวนมาก คลิปการบรรยายอันน่าประทับใจของเขาถูกคนโหลดดูเป็นล้านครั้งเช่นกัน
แต่บางครั้งอินเทอร์เน็ตก็ทำให้บางคนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือเต็มใจของเขาคนนั้นหรือไม่ก็ตาม
ปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ ชายคนหนึ่งเขียนขอความช่วยเหลือจากชุมชนเว็บบอร์ดพันทิป ห้องมาบุญครอง (ที่พูดคุยเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และผู้ให้บริการระบบ) โดยตั้งหัวข้อกระทู้ว่าเบอร์โทรศัพท์ของตนถูกขโมยซึ่งๆ หน้าจากผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่ง
เรื่องมีอยู่ว่าเบอร์ของเขาเป็นเบอร์สวย หมายเลข 08X9000600 (มูลค่าตลาดน่าจะเกินครึ่งแสน) อยู่สองหมายเลข เติมเงินใช้ได้ถึงปี ๒๕๕๓ แต่จู่ๆ ก็พบว่าเบอร์ของเขาไม่สามารถใช้งานได้ ศูนย์บริการแจ้งว่าเบอร์นี้ไม่มีในระบบ วันถัดมาไปติดต่อที่ศูนย์ใหญ่ก็พบว่าเบอร์ของตนถูกเปิดใช้บริการโดยคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าของกระทู้บอกว่า “อยากได้เบอร์นี้คืนมากๆ เพราะมันมีความหมายกับผมมากๆ (ดูจากชื่อล็อกอินของผมก็ได้)”
เท่านั้นแหละครับ ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องยุคดิจิตอลก็เกิดขึ้นเหมือนไฟลามทุ่ง ผู้คนทั้งทวิต บล็อก เอ็ม แชท ฟอร์เวิร์ดเมล และอื่นๆ มีคนเขียนลงหนังสือพิมพ์ เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง กระทู้ถูกโหวตดันขึ้นให้เป็นกระทู้แนะนำของห้องอย่างรวดเร็ว บางช่วงกระทู้แนะนำของห้องเป็นกระทู้ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณี 9000600 เกือบทั้งหมด หากนับรวมความคิดเห็นต่างๆ ก็คงเป็นจำนวนหลายพัน
ชายผู้มีล็อกอินว่า “#เก้าพันหกร้อย#” กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่คนเชื่อ (จากข้อมูลเท่าที่ได้รับมา) ว่าเอาเปรียบผู้บริโภค
มีการตั้งกระทู้โหวตว่าควรทำอย่างไร ผลออกมาว่าเกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าควรฟ้องร้อง ในขณะกลุ่มที่คิดว่าควรรอจนได้เบอร์คืน หรือรับข้อเสนออื่น มีเพียงอย่างละสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
กลางเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เหตุการณ์มาถึงข้อสรุปที่ว่า ทางคุณ #เก้าพันหกร้อย# ยอมรับข้อเสนอจากบริษัท เนื่องจากหมายเลขเดิมคงไม่สามารถใช้ได้อีก เพราะมีคนโทรเข้ามาเยอะมาก จึงเลือกรับเบอร์ใหม่ ซึ่งแม้จะไม่สวยเท่าเดิม แต่ก็พอใจ “ต้องยอมรับว่า ผมไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องด้วยภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เวลา และอื่นๆ” และลงท้ายว่า “สุดท้ายนี้ ผมขออภัยเพื่อนๆ ในบอร์ด ทุกๆ คนครับ หากการตัดสินใจของผมอาจจะไม่ถูกใจของใครหลายๆ คน ผมยอมรับคำตำหนิของทุกความเห็นครับ ผมจึงขออนุญาตจบเรื่องนี้แต่เพียงเท่านี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็น ทุกๆ กำลังใจ ทุกๆ คนที่ติดตาม และช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ผม ขอบคุณทุกๆ คนมากจริงๆ ครับ”
อนิจจา เหตุการณ์ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ แม้กองเชียร์ส่วนหนึ่งจะรู้สึกยินดีด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกว่าตนเองถูกหลอกใช้ให้เรียกร้องต่อรองกับบริษัทเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่า “เซ็งเป็ด” เกิดกระทู้วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์อีกมาก ด่าทอเจ้าของเบอร์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะความเชื่อว่าเรื่องนี้อาจเป็นกรณีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐานแย่ๆ สำหรับการเรียกร้องให้กับผู้บริโภค เพราะแทนที่บริษัทจะทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าถูกต้อง คือคืนเบอร์ให้กับเจ้าของ แต่กลับไปตกลงต่อรองยอมความกันเอง
ที่น่าตกใจ คือ ปรากฏการณ์ที่หลายคนบอกว่าหากในอนาคตเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่ยอมไปร่วมเรียกร้องอะไรอีกแล้ว อยู่แบบตัวใครตัวมันดีกว่า หรือถ้าจะทำจริงก็ต้องคิดหลายตลบก่อน
กรณีนี้น่าสนใจ เพราะคงไม่ได้เป็นกรณีสุดท้ายแน่นอน
มีสิ่งดีงามมากมายเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้
คุณ #เก้าพันหกร้อย# ได้รับน้ำใจจากผู้คนจำนวนมาก ช่วยผลักดันให้เกิดทางออกที่เขายอมรับได้
บริษัทมือถือได้รับบทเรียนว่าการขโมยเบอร์ของผู้ใช้กลับไปไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ผลประโยชน์อันใดที่ได้รับไม่คุ้มกับต้นทุนทางสังคมจำนวนมหาศาลที่เสียไปแน่นอน
กองเชียร์ทั้งหลายก็ได้เห็นถึงพลังของคนเล็กคนน้อยที่ช่วยกันเรียกร้องจนผู้เสียหายได้รับการตอบแทน
เราควรเรียนรู้และหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์ของกรณีเช่นนี้ให้ดี อนาคตของเราและสังคมเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับจิต (consciousness) ของเรา จิตของเราเป็นอย่างไรขึ้นกับเราใส่เหตุอะไรเข้าไป
การเรียกร้องความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี หากว่าเราทำควบคู่ไปกับการสะท้อนใคร่ครวญภายใน จนเราเข้าใจผู้อื่น เข้าใจตนเอง ลดละอัตตาและเท่าทันความคาดหวังของตนเอง ย่อมเป็นการเรียกร้องที่ยิ่งงดงามมากขึ้น
“ไม่มีใครทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อย โดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจของคุณ” (Eleanor Roosevelt) มิใช่หรือ
ความรู้สึกแย่ๆ ของเราเป็นสัดส่วนโดยตรงกับช่องว่างระหว่างคาดหวังกับความจริง ความคาดหวังของเราที่อยากจะให้ใครบางคน บริษัทบางแห่ง หรือเหตุการณ์บางอย่าง ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ กับความเป็นจริงที่เราพบว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้น
เราอาจเชียร์ให้คุณ #เก้าพันหกร้อย# เป็นตัวแทนหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ (เพราะเป็นการตัดสินใจของเรา) แต่เราคงไม่สามารถบังคับให้เขาเป็นหรือทำดังใจเราต้องการได้ (เพราะเป็นการตัดสินใจของเขา) ความทุกข์ในใจเราอาจเกิดจากใจยังไม่ยอมรับความแตกต่างในข้อนี้ใช่หรือไม่
การแบ่งปันและร่วมกันสร้างการเรียนรู้ให้สังคมเช่นนี้มีความสำคัญ หากเราอุปโลกน์ให้ใครเป็นผู้นำ (ไม่ว่าโดยความตั้งใจหรือยินยอมหรือไม่) แล้วเขากลับไม่ทำตามใจเรา เราก็ด่าทอเขา สาดเสีย เทเสีย อนาคตจะมีใครยอมเป็นผู้นำเล่า หากถูกรัฐหรือบริษัทเอารัดเอาเปรียบ เขาอาจจะก้มหน้ายอมรับแล้วเฉยๆ ไป เพียงเพราะเกรงว่าเขาไม่อาจทำตัวได้เทียบเท่ากับความคาดหวังของกองเชียร์
สังคมที่หล่อเลี้ยงดูแลกันสร้างได้ด้วยการที่เราทุกคนกลับมาเริ่มที่ตนเอง ไม่ยกภาระการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งจิตสำนึกและการกระทำไปให้ผู้อื่น ไม่ยอมให้ตนเองใช้การกระทำของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับใจของเรามาเป็นเหตุผลในการที่เราจะไม่ทำในสิ่งที่เราควรทำ
เราสามารถประสบผลสำเร็จอันน่าทึ่งมากมาย หากว่าเราทำโดยไม่คาดหวังผล
เมื่อกลางปีที่แล้ว คุณรสนา โตสิตระกูล มาเล่าเรื่องแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางของเธอให้กลุ่มจิตวิวัฒน์ฟัง (บันทึกการประชุมจิตวิวัฒน์ทั้งหมดสามารถหาอ่านได้ที่ sph.thaissf.org) เธอเล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมสามสิบปีกับโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (“ต้องเน้นคำว่าเพื่อการพึ่งตนเองนะ” เธอว่า) รู้สึกพอจะมีความสำเร็จอยู่บ้าง แต่เมื่อระบบประกันสุขภาพเข้ามา ประชาชนกลับเลิกพึ่งตนเอง หันไปพึ่งหน่วยงานรัฐเหมือนเดิม ทำให้เธอท้อแท้มาก
ภายหลังเธอนึกถึงหนังสือ ตำนานของซิเซฟัส (The Myth of Sisyphus) ของ อัลแบร์ กามู (Albert Camus) ที่พูดถึงซิเซฟัส ตัวละครในตำนานเทพปกรณัมกรีก ผู้ถูกสาปให้ทำงานที่ดูเหมือนจะไม่มีความหมาย คือเข็นก้อนหินขึ้นไปยอดเขา เพียงเพื่อให้มันไหลกลับลงมาอีก “วันหนึ่ง ขณะซิเซฟัสเข็นหินขึ้นภูเขา เขาได้พบดอกไม้เล็กๆ ที่บานสะพรั่งอยู่ริมทางแล้วพลันก็มีความสุข มนุษย์อาจจะเป็นอย่างนั้น” หรืออย่างในหนังสือของกามูจบลงตรงที่ว่า การต่อสู้โดยตัวมันเองแล้วก็เพียงพอที่จะเติมเต็มหัวใจของมนุษย์
อีกเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยควรได้ร่วมรับรู้อย่างยิ่ง ก็คือกรณีการยับยั้งไม่ให้นำการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เข้าตลาดหุ้น หลายคนไม่เห็นด้วยกับเธอที่จะต่อสู้ เธอพูดเล่นๆ ว่า “เธอไม่เคยฟัง ภาษิตจีนเหรอว่า ‘ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า’ เรากำหนดไม่ได้หรอกว่าความสำเร็จจะมาได้อย่างไร แต่หน้าที่ของเราคือพยายามไปก่อน” หรือ “ประชาชนมีแต่กำไรกับเสมอตัวเท่านั้น ไม่มีอะไรขาดทุน”
ตอนศาลตัดสินยับยั้ง ผู้คนต่างตื่นเต้นยินดี นักข่าวมาสัมภาษณ์ว่าตอนที่ทำคาดหวังไหมว่าจะชนะ เธอว่าเปล่าเลย ไม่ได้คาดหวังว่าจะมันจะต้องชนะ
นักข่าวถามอีกว่า “ถ้าไม่คิดว่าจะชนะแล้วสู้ทำไม”
เธอตอบไปว่า “อ้าว ... มีแต่เรื่องที่ชนะเท่านั้นหรือที่คุณจะสู้?”
จริงสินะ หรือว่าชีวิตนี้มันดีตรงที่มันได้สู้ ได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่ตรงที่มันต้องได้ผลชนะเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น