กำแพงในใจ



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2552

หากวันดีคืนดีมีทหารมาที่บ้านของคุณ แล้วบอกว่า ต่อไปนี้จะมีการกั้นรั้วเขตแดนที่บ้านหลังนี้ และเริ่มขึงรั้วลวดหนามเป็นแนวยาว

ช่วงแรกคุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร รั้วลวดหนามเตี้ย-เตี้ยนั่น วิ่งลอดกระโดดข้ามตอนค่ำมืดพ้นหูพ้นตาทหารยามไม่ยากเย็นเท่าไหร่

แต่เมื่อรั้วลวดหนามกลายเป็นกำแพงแบบก่ออิฐถือปูน ประตูหน้าต่างบ้านคุณก็ถูกปิดตายไปด้วย

ในช่วงที่กำแพงยังก่อไม่เสร็จ และคุณอาจจะเป็นคนประเภทตัดสินใจได้เร็ว คุณอาจจะกระโดดออกจากช่องหน้าต่าง หรือวิ่งผ่านประตูที่เหลือออกมาทัน

แต่ถ้าหากคุณไม่ได้อยู่บ้านในขณะนั้น หรืออยู่ไกลไปจากกำแพงที่กำลังสร้าง คุณจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร?

เป็นไปได้ว่า วันนั้นสามีออกไปทำงานที่สำนักงานแต่เช้า กำลังอยู่อีกฟากหนึ่งของกำแพง ในขณะที่ภรรยากำลังทำงานบ้านและเลี้ยงลูกอยู่อีกฝั่ง และจะพบหน้ากันในภายหลังได้ก็ต่อเมื่อขอวีซ่าข้ามแดน

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณกับเพื่อนบ้านมีอาชีพคนละประเภท และเป็นประเภทที่กฎหมายห้ามสนทนาวิสาสะกัน คุณอาจจะไม่เคยโบกมือ ยิ้ม หรือพูดทักทายกับเพื่อนบ้านเลย เพราะไม่รู้ว่าใครจะรายงานความประพฤติของคุณต่อผู้มีอำนาจ

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณเรียนหนังสือ แต่ไม่ได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีกระทั่งตำแหน่งประธานนักเรียน และถ้าหากพูดอะไรผิดหูผู้มีอำนาจ คนหนุ่มสาวอย่างคุณอาจจะไม่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และไม่อาจจะสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศได้เลย

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณอยากได้รถสักคัน ที่แม้จะสร้างจากเหล็กที่บางเบาปานแผ่นกระดาษ แต่ก็เป็นรถยี่ห้อเดียวที่คุณจะซื้อได้ในประเทศนี้ คุณจะต้องไปเข้าคิวรอซื้อรถคันนี้ ซึ่งคิวอาจจะยาวสักสามปีเป็นอย่างน้อย

ชีวิตที่ขาดทางเลือกเช่นนี้ ย่อมทำให้คุณโหยหาอิสรภาพในชีวิตของกำแพงอีกฝั่ง และ – จะหาวิธีข้ามไปอีกฝั่งได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมีคำสั่งอนุญาตให้ทหารยิงคนที่พยายามข้ามกำแพง

คุณอาจจะต้องลงทุนลงแรงเป็นเดือนเป็นปีในการขุดอุโมงค์ลอดกำแพงอย่างลับ-ลับ ไม่ให้ใครเห็นกระทั่งเศษดินที่ขุดขึ้นมา หรือแอบขึ้นบอลลูนพร้อมคำนวณทิศทางลมให้ข้ามกำแพงและแนวกระสุนได้อย่างเหมาะเจาะ หรือคิดค้นสลิงที่ใช้ข้ามแนวกำแพงอย่างรวดเร็วก่อนที่ทหารจะไหวตัวไปหยิบปืนมาเล็งเป้าที่คุณได้ทัน ฯลฯ

ชีวิตข้างบนดูเหมือนนิยาย แต่ดูเหมือนชีวิตของผู้คน ๒๐๖ คนที่ตายไประหว่างพยายามหลบหนีข้าม “กำแพงเบอร์ลิน” จะเป็นพยานที่ดีให้กับการดำรงอยู่ของเรื่องราวดังกล่าวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

กำแพงเบอร์ลินความยาว ๑,๓๘๗ กิโลเมตร เริ่มถูกทุบทำลายเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ผู้คนเดินทางข้ามแดน ญาติพี่น้องที่ไม่ได้พบหน้ากันมากว่า ๒๘ ปี มีโอกาสพบกันก็หนนี้
แต่ถึงแม้ว่ากำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายไปแล้ว กำแพงอีกหลายแห่งกลับกำลังถูกสร้างขึ้น

“กำแพงเหยียดเชื้อชาติ” ที่อิสราเอลสร้างขึ้นล้อมรอบเขตเวสต์แบงค์ของชาวปาเลสไตน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีความสูง ๘ เมตร สูงกว่ากำแพงเบอร์ลินที่สูงเพียง ๓.๖ เมตร

“กำแพงเมืองจีนในเม็กซิโก” ที่ได้รับฉันทานุมัติจากรัฐสภาอเมริกันให้สร้างขึ้นด้วยเงินกว่า ๑.๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อกั้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก
ปรกติแล้ว กำแพงถูกสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัย ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของผู้คนที่อยู่ภายใน แต่กำแพงเหล่านี้ กลับถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกผู้คน ด้วยความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ ด้วยชาติพันธุ์ ด้วยความระแวง ด้วยความเกลียด ด้วยความหวาดกลัว

กำแพงหนึ่งกักขังผู้คนของตน

กำแพงหนึ่งกักขังผู้คนของชาติหนึ่ง

กำแพงหนึ่งกั้นความทุกข์ยากของเพื่อนบ้านออกไปพ้นจากความรับรู้ของตน

โลกจะเข้าสู่ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ แล้ว เรากำลังสำรวจดาวอังคาร ค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ จำลองการเกิดของจักรวาลในเครื่องเร่งอนุภาค สื่อสารด้วยเทคโนโลยี 3G – แล้วเรายังสร้างกำแพงเหล่านี้บนโลกล่ะหรือ?

แท้จริงแล้ว กำแพงเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของกำแพงภายในใจของผู้คน ความหวาดกลัว ความไม่ไว้วางใจในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
กระทั่งเขตแดนระหว่างประเทศก็มักจะมีกำแพงที่มองไม่เห็นปรากฎอยู่เสมอ สถานทูตหรือด่านตรวจคนเข้าเมืองของบางประเทศทำตัวเป็นกำแพงเสียยิ่งกว่าสะพาน

อวิชชาและมิจฉาทิฏฐิในประวัติศาสตร์ที่ยกย่องวีรบุรุษสงคราม ย่อมนำไปสู่อคติทางวัฒนธรรม และก่อร่างสร้างกำแพงแห่งความยโสทะนงตน คลางแคลงในความเป็นมนุษย์ของประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน สิ้นสุดยุคสงครามเย็นที่กินเวลากว่า ๔๐ ปี เยอรมนีเดินหน้าเต็มตัวในการเป็นผู้นำในการรวมตัวกันของสหภาพยุโรป สานฝันเก่าแก่เมื่อสองร้อยปีก่อน ตั้งแต่ยุคของนักคิดเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่อย่าง อิมมานูเอล คานท์ (ค.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๘๐๔)

แนวคิดการรวมยุโรปซึ่งเป็นไปเพื่อยุติสงครามและความขัดแย้งได้รับความสนับสนุนอย่างดีจากฝรั่งเศสและเยอรมัน แม้จะเป็นคู่แค้นลึกซึ้งมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ แต่ชนชั้นนำของทั้งสองประเทศเห็นตรงกันว่า สันติภาพยุโรปนั้นยิ่งใหญ่มหาศาลกว่ามหิทธานุภาพของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของโลกาภิวัฒน์ ที่พลเมืองของประเทศหนึ่งย่อมกลายเป็นพลเมืองโลกด้วย สันติภาพและความเป็นอยู่ของประเทศหนึ่งย่อมส่งผลต่อทั้งโลกเช่นกัน

ยิ่งในภาวะที่เผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เฮอริเคนขนาดมหึมา การร่วมมือของมนุษยชาติเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ตนบนโลกนี้ยิ่งมีความจำเป็นเด่นชัดขึ้น ประเด็นเรื่องโลกร้อนอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์กลายเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยในเวทีโลกบ่อยครั้งขึ้น ความเป็นประเทศหรือชาติแบบปัจเจกถูกแทนที่ด้วยความเป็นสมุหภาพของความเป็นมนุษย์
การพูดว่ารักโลกหรือรักธรรมชาตินั้นง่ายกว่ารักเพื่อนบ้าน การพูดว่ารักเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันก็ง่ายกว่ารักเพื่อนร่วมประเทศที่มีความเห็นแตกต่างจากตน หากเราไม่ยอมสำรวจตรวจตรากำแพงภายในใจ เราย่อมมองไม่เห็นว่านักการเมืองอีกพรรคหนึ่งไม่ได้โง่หรือคิดผิดไปทุกเรื่องเพียงเพราะเขาหรือเธอคิดหรือเชื่อแตกต่างไปจากเรา เราย่อมมองไม่เห็นว่าคนที่ใส่เสื้อต่างสีก็มีความรู้คิดและมีเหตุผลไม่แตกต่างไปจากเรา เราย่อมมองไม่เห็นท้องฟ้าแห่งสันติภาพและภราดรภาพอันกว้างใหญ่ที่จะปรากฎในรุ่นลูกรุ่นหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา - กำแพงภายในที่กั้นกลางวิวัฒนาการแห่งความเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูงจำเป็นต้องทลายลงมา

Back to Top