มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 14 พฤศจิกายน 2552
ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิยังสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำ เพราะส่วนตัวผมเคยแอบหวังแอบฝันเอาไว้เล็กๆ ว่า สนามบินสุวรรณภูมิที่ใหญ่โตและทันสมัยอาจจะมี “เมดิเทชั่นรูม” เอาไว้ให้ผู้โดยสารได้ใช้หย่อนจิตผ่อนใจ
ก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันว่าทำไมไม่ได้เขียนเสียที อาจจะเป็นเพราะช่วงหลังๆ ผมเดินทางน้อยลงก็เลยมีโอกาสใช้สนามบินน้อยลงไปบ้างกระมัง ทำให้ลืมเลือนความรู้สึกเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสนามบินไปหรืออาจจะเป็นเพราะพยายามที่จะทดลองฝึกปรับสภาพจิตใจของผมให้เข้าได้กับสภาพความเป็นของสนามบิน
ผมพบว่ามีความจริงสามสี่ประการเกี่ยวกับการเดินทางโดยเครื่องบิน
ประการแรก การเดินทางโดยเครื่องบิน ผู้โดยสารส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในสนามบินเป็นเวลาค่อนข้างนาน ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องเผื่อเวลาในการเดินทางมาก่อนเวลา และมักจะใช้เวลาในการรอคอยการขึ้นเครื่องมากกว่าเวลาที่อยู่บนเครื่องบินจริงๆ
ประการที่สอง บรรยากาศของสนามบินโดยทั่วไป เป็นบรรยากาศของความพลุกพล่าน วุ่นวาย เร่งรีบ
ผมเชื่อว่าท่านที่เคยไปใช้บริการสนามบินหลายๆ ท่านจะพบว่า ในสนามบินจะไม่มีมุมสงบเลย ยกเว้นเข้าไปนั่งในห้องน้ำแล้วปิดประตู ก็ยังไม่วายมีเสียงตามสายเล็ดลอดออกมาแทบจะตลอดเวลา สนามบินจึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สร้างความเครียดให้กับผู้เดินทางได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
สมัยก่อนที่ผมยังต้องใช้สนามบินดอนเมือง ผมต้องไปหาที่ยืนภาวนาที่ส่วนพักของทางเดินบันได เพราะหามุมสงบไม่ได้เลยที่ดอนเมือง แต่ก็ยอมรับสภาพครับ เพราะเป็นสนามบินที่สร้างมานานหลายสิบปีแล้ว พื้นที่ใช้สอยก็อาจจะมีไม่เพียงพอ
ประการที่สาม ตามความเข้าใจของผม สนามบินที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่เพียงแค่สนามบินที่ใหญ่โตมโหฬาร มีเทคโนโลยีทันสมัย และปลอดภัยเท่านั้น แต่น่าจะต้องมี “บรรยากาศของความสงบเย็น” ผ่อนคลาย เบาสบาย
ประการที่สี่ ทุกวันนี้โลกตะวันตกและงานวิจัยต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ยอมรับอย่างสิ้นเชิงไม่มีเงื่อนไขแล้วว่า “การภาวนา” แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ช่วยให้มนุษย์มีความสุข ลดความเครียดได้เป็นอย่างดี
แน่นอนนะครับว่า การภาวนาเราสามารถทำได้ทุกแห่งทุกโอกาสทุกสถานการณ์ แต่หากสามารถมีบรรยากาศที่เอื้อ บริบทของพื้นที่และบริเวณที่เหมาะสม ก็จะยิ่งทำให้เกิดความสงบความปีติสุขได้ง่ายขึ้นมากกว่า
ไม่รู้ว่าผมฟันเฟื่องมากเกินไปหรือไม่
ผมนึกวาดภาพเห็นห้องโล่งๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ มีเบาะรองนั่งเล็กๆ เรียงรายไว้บนพื้นพรมที่สะอาด
เป็นห้องภาวนาหรือห้องผ่อนคลายแบบสากลสำหรับทุกๆ ศาสนา (ห้องผ่อนคลายสำหรับการสูบบุหรี่ยังมีได้เลย)
มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้บรรยากาศภายในห้องนั้นเป็นบรรยากาศของความสงบ อาจจะป้องกันคนเข้าไปนอนหลับด้วยการกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบนาที
กติกาสำคัญสำหรับห้องนี้คือ
“งดการสื่อสารภายนอกทุกชนิด” “การมีเวลาดำรงอยู่กับตัวเอง”
ห้ามพูดคุย งดการส่งเสียง
ไม่สบสายตากับใครเลย
งดเสียงโทรศัพท์มือถือ
ห้ามส่งเสียงกรน (อาจจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสงบ)
รายละเอียดอื่นๆ ก็น่าจะมีการระดมสมอง ช่วยกันคิดช่วยกันให้ความเห็น โดยรักษาแก่นหรือวัตถุประสงค์หลักของเรื่องนี้ คือ “ขอมีสถานที่สงบ” สักแห่งหนึ่งในสนามบินที่พลุกพล่านวุ่นวายให้ผู้โดยสารที่เดินทางได้มีเวลาของการ “ผ่อนคลาย” ลดความเครียดทางด้านจิตใจ
ผมไม่ได้คาดหวังว่าทุกๆ สนามบินในประเทศจะต้องมีเมดิเทชั่นรูมนะครับ บทความนี้จึงน่าจะชื่อ “สุวรรณภูมิแอร์พอร์ตเมดิเทชั่นรูม” เป็นการเฉพาะมากกว่า
ผมคิดใคร่ครวญถึงเรื่องนี้มาหลายปี ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะมีข้อเสียหายอะไรจากการมีห้องเมดิเทชั่นสำหรับผู้โดยสารทั่วไปในสนามบินเลย แต่ก็เป็นเพียงมุมมองในฐานะผู้ใช้บริการนะครับ คงจะต้องฟังความเห็นจากทางสนามบินด้วย
เพราะผมเชื่อว่า แอร์พอร์ทเมดิเทชั่นรูมจะสามารถทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความสมบูรณ์และเพียบพร้อมมากขึ้น
พูดกันจริงๆ เลยนะครับว่า ผมไม่อยากเห็นฝรั่งเค้าทำก่อนแล้วเราค่อยไปทำตามกันทีหลัง
เขียนถึงตรงนี้ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ตัวผมเองยังมีประสบการณ์การเดินทางน้อย ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้และไม่เคยถามใครเหมือนกันว่า สนามบินในต่างประเทศเขามี “เมดิเทชั่นรูม” ที่เป็นแบบสากลสำหรับทุกศาสนากันบ้างหรือยัง
ก็เลยลองเข้าไปค้นหาในกูเกิล ผมก็พบว่า ฝรั่งทำไปก่อนแล้วจริงๆ ด้วย มีหลายสนามบินในสหรัฐอเมริกา มี “เมดิเทชั่นรูม” สำหรับผู้โดยสารแล้ว เช่น สนามบินเจเอฟเค สนามบินอัลบานี สนามบินโคลัมบัส สนามบินมิเนโซตา ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าจะสายเกินไปหากว่าสนามบินสุวรรณภูมิที่ตอนนี้เปิดมาสามปีเต็มๆ แล้ว จะลองพิจารณาเห็นความสำคัญของเรื่องจิตเรื่องใจ และขยับขยายให้เกิด “แอร์พอร์ตเมดิเทชั่นรูม” ขึ้นมา
อย่างน้อยผมก็รู้สึกสบายใจที่ได้เขียนถึงเรื่องนี้ ถึงช้าไปบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้เขียน
ทำช้าไปบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำเลยนะครับ
แสดงความคิดเห็น