กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย
เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552

ในวาระแห่งการจากไปของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ครบ ๑๐๐ วัน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยท่านประธานกิตติมศักดิ์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ดำริให้มีการจัดกิจกรรมที่ระลึกในวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และให้มีการจัดทั้งกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน นับเป็นการสมควรยิ่งนัก

ท่านอาจารย์กรุณา และอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย สองสดมภ์หลักทางภารตศึกษา ทำงานโดยปิดทองหลังพระ แต่เป็นหลังพระที่กว้างใหญ่ไพศาลในทางความกรุณาและปัญญา

โลกวิกฤตเพราะขาดความกรุณาและปัญญา

โลกสร้างความรู้มากมาย แต่ความรู้ก็ไม่ใช่ปัญญา ความรู้ไม่มีพลังพอที่จะเผชิญกับกิเลส จึงถูกอกุศลมูล คือโลภะ โทสะ โมหะ จับไปใช้งานเพื่อการแย่งชิง เอาเปรียบ เข่นฆ่า อย่างปราศจากความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ การขับเคลื่อนการพัฒนาในอกุศลมูลนำไปสู่วิกฤตอารยธรรมในปัจจุบัน อันเกิดจากการเสียดุลยภาพในทุกๆ มิติ ทั้งกาย ใจ สังคม สิ่งแวดล้อม การทำลายโดยมิจฉาพัฒนามิได้จำกัดอยู่เพียงในโลกมนุษย์ แต่ลงไปถึงนรกและขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์ คือใต้ดินและชั้นบรรยากาศด้วย จนโลกทั้งใบรุ่มร้อน แม้กระทั่งสรรพชีวิตก็จะดำรงคงอยู่ต่อไปไม่ได้

โลกจะต้องหันกลับมาหาความกรุณาและปัญญา

ความกรุณาแบบปัญญา คือทวิลักษณ์ของสองสามีภรรยากุศลาสัย กุศลาสัยคือที่อยู่ของกุศล หรือกุศลภูมิ อันตรงกันข้ามกับอกุศลภูมิอันเป็นที่มาแห่งหายนะดังกล่าวข้างต้น ใครๆ ที่ได้รู้จักสองสามีภรรยา ทั้งในระยะใกล้หรือระยะไกล จะสัมผัสได้ถึงรังสีแห่งความกรุณาอันแผ่ซ่านทั่วไป ปัญญาต่างจากความรู้ตรงที่ความรู้นั้นรู้เป็นเรื่องๆ เช่น รู้วิชาหรือศาสตร์ต่างๆ แต่ปัญญานั้นหมายถึงรู้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงรู้ตัวเองด้วย เมื่อรู้ทั้งหมดและรู้ตัวเองด้วยก็จะทำให้จัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นและสิ่งอื่นได้อย่างถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องคือจริยธรรม

ในปัญญาจึงมีจริยธรรมอยู่ด้วยเสมอ

ในความรู้ไม่แน่ว่ามีจริยธรรม ส่วนใหญ่ไม่มี


ฝรั่งนั้นมีความรู้ศาสตร์ต่างๆ มาก แต่ศาสตร์ที่ปราศจากปัญญากำกับก็จะกลายเป็นศาสตรา ที่ใช้ทิ่มแทง แย่งชิง เข่นฆ่ากัน การตามฝรั่งไปเสียทั้งหมดจะทำให้ขาดปัญญาได้

ตรงนี้แหละที่บทบาทของสามีภรรยากุศลาสัยเข้ามามีความหมายใหญ่

บทบาทของท่านทั้งสองคือการนำเสนอภูมิปัญญาภารตะผ่านวรรณกรรมใหญ่ๆ ๔ เรื่อง คือ (๑) อัตชีวประวัติของท่านมหาตมา คานธี (๒) พบถิ่นอินเดีย โดยท่านเยาวหราล เนห์รู (๓) คีตาญชลี โดยท่านรพินทรนาถ ฐากูร และ (๔) มหาภารตยุทธ

วรรณกรรมทั้ง ๔ สะท้อนภูมิปัญญาภารตะ อันเป็นหนึ่งในอารยธรรม ๓ แหล่งใหญ่ๆ ของโลกอันเกิดก่อนความเจริญของยุโรปเนิ่นนาน อันได้แก่ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห ในอารยธรรมโบราณเหล่านี้ย่อมมีภูมิปัญญาอันลุ่มลึกแห่งธรรมชาติ ความเป็นมนุษย์และการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ตื้นเขินเพียงเรื่องจีดีพีอันทำให้โลกร้าว

มนุษย์ต้องหันไปศึกษาภูมิปัญญาอันว่าด้วยธรรมชาติ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โลกจึงจะพ้นวิกฤต

อารยธรรมปัจจุบันมีแรงส่งมาได้เพียงเท่านี้ จึงกำลังตีบตันและมาถึงจุดเปลี่ยนของอารยธรรม หรือ Civilization Turning Point แล้ว

บทบาทของสองสามีภรรยากุศลาสัยอยู่ตรง Civilization Turning Point นี่แหละ

ลองไปอ่านวรรณกรรม ๔ เล่ม ที่ท่านทั้งสองช่วยกันแปลและเรียบเรียงด้วยภาษาที่งามจับใจดูเถิด ท่านจะรู้ได้ด้วยตนเองหรือสันทิฏฐิโก ว่าภูมิปัญญาภารตะอันลุ่มลึกมาปลดปล่อยท่านไปสู่ความเป็นไทได้อย่างมหัศจรรย์เพียงไร

ถ้าเราถูกครอบงำอยู่ด้วยอำนาจ มายาคติ และมิจฉาทิฏฐิ เราจะปราศจากความเป็นไท เมื่อปราศจากความเป็นไท ก็ไม่อาจมีความกรุณาและปัญญาได้

เด็กๆ และเยาวชนของเราต้องมีความเป็นไท จึงจะตั้งอยู่ในความดีได้ สังคมไทยไม่ควรจะอยู่ในโมหภูมิที่ปราศจากอุดมคติอีกต่อไป คนไทยควรจะสลัดออกจากความครอบงำของอำนาจ มายาคติ และมิจฉาทิฏฐิ ไปสู่ความเป็นไท เพื่อการผุดบังเกิดของความกรุณาและปัญญา

ขอให้ความตายของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย กัลยาณมิตรอาวุโสของผมจงเป็นเครื่องกระตุกจิตใจของคนไทยทั้งประเทศให้หันมาสนใจสร้างสังคมไทยที่มีอุดมคติ เรามีบุคคลอุดมคติอย่างเอกอุอันเป็นบุคคลร่วมสมัย ก่อนหน้านี้ก็มีเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สังคมไทยควรจะใช้บุคคลอุดมคติเป็นบุคลาธิษฐานเพื่อสร้างสังคมอุดมคติด้วยประการต่างๆ อันหลากหลาย

วิธีหนึ่งก็โดยอุปถัมภ์ค้ำจุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน ให้กว้างขวางออกไป เพราะความเป็นไท ความกรุณา และความมีปัญญา ของเด็กและเยาวชน คืออนาคตของเราร่วมกัน

หมายเหตุ: ขอเชิญร่วมกิจกรรมรำลึก ครบรอบ ๑๐๐ วัน การจากไปของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ในวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๓๐-๒๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๕ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตรงข้ามกับสนามกีฬาแห่งชาติ สี่แยกปทุมวัน

Back to Top