มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2554
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาก็เป็นของดี แต่ทำไมจึงความเสื่อมเสียทางศีลธรรมเต็มไปหมด
ความรุนแรงและการฆ่ากันภายในประเทศไทยสูงกว่าในญี่ปุ่น ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่พระให้ศีลข้อปาณาติบาตวันละหลายหมื่นเที่ยว การลักขโมย การฉ้อฉลคอร์รัปชั่น เป็นวิสัยทั้งๆ ที่สมาทานศีลอทินาทาน ทำไมสังคมไทยจึงยอมให้ลูกผู้หญิงของเราต้องเป็นโสเภณีในรูปแบบต่างๆ เป็นแสนคน ทั้งๆ ที่สมาทานกาเมสุมิฉาจาร การพูดไม่จริง การใช้วาจาทำร้ายกันถูกขยายใหญ่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ยาเสพติดระบาดทั่ว เหล่านี้เป็นต้น
เรามีวัดประมาณ ๓ หมื่นแห่ง พระประมาณ ๒ แสน ๕ หมื่นรูป เณรอีกประมาณ ๑ แสนรูป ทำไมสถาบันที่ใหญ่โตมหาศาลเหล่านี้ไม่สามารถเป็นพลังสร้างสังคมศีลธรรมได้ คงจะไม่ใช่ว่าสิ่งที่ท่านทำไม่ดี แต่คงจะมีอะไรผิดฝาผิดตัวไปอย่างฉกรรจ์ในสังคมไทย ที่ทุกฝ่ายน่าจะต้องช่วยกันพิจารณาจากหลักฐานข้อเท็จจริงใหม่ๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษสองคน คือ ริชาร์ด วิลคินสัน และเคท พิคเคตต์ ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานจากงานวิจัยจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคม เช่นความมีอายุยืน การติดยาเสพติด ความรุนแรง การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โรคอ้วน ปัญหาสุขภาพจิต การขาดความเชื่อถือไว้วางใจกันในสังคม ฯลฯ
โดยสรุป ความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือความแตกต่างที่มากเกินระหว่างคนจนกับคนรวยสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมทั้งปวง ดูกราฟที่นำมาแสดงข้างล่างนี้
ญี่ปุ่นกับประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ความเหลื่อมล้ำน้อย ปัญหาสังคมน้อย สหรัฐอเมริกากับอังกฤษความเหลื่อมล้ำมาก ปัญหาสังคมมาก
กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับปัญหาสุขภาพและสังคม เช่น ความมีอายุยืน การติดยาเสพติด ความรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิต ความเชื่อถือไว้วางใจกันในสังคม (จาก วิลคินสัน และพิคเคตต์)
พฤติกรรมของคนอเมริกันเปรียบเทียบกับคนญี่ปุ่นเมื่อประสบหายนภัยแสดงให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ภายหลังพายุไซโคลนแคทรีนาถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ เกิดจลาจลปล้นสดมภ์กันจนต้องใช้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธเข้ามาปราบ แต่ที่ญี่ปุ่นเมื่อโดนสึนามิถล่นจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด คนญี่ปุ่นเผชิญหายนภัยด้วยความสงบ ไม่มีจี้ปล้น ไม่มีแก่งแย่ง มีแต่น้ำใจ อดทน เสียสละ เป็นที่สรรเสริญของคนทั้งโลก คนอเมริกันมีฐานะแตกต่างกันสุดๆ แต่คนญี่ปุ่นฐานะใกล้เคียงกันสุด อยู่ปลายสุดของกราฟที่แสดงข้างบนคนละด้าน
ควรสังเกตว่าอังกฤษและอเมริกาเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตยที่เน้นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ทั้งสองประเทศอยู่ทางปลายสุดของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากและปัญหาสังคมมาก แสดงให้เห็นว่าลำพังสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและประชาธิปไตยยังไม่เพียงพอที่จะสร้างสังคมศีลธรรม แต่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นเองส่งเสริมให้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสวงหาเข้าตนโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนี้ในสมัยต้นๆ ที่ประชากรยังน้อย และทรัพยากรธรรมชาติมีมาก อาจจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเท่าไร แต่ในสมัยปัจจุบันที่ประชากรมาก และทรัพยากรน้อย การคำนึงถึงแต่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของส่วนรวม นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและวิกฤตการณ์ทางสังคมได้ ดังที่เกิดกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตย
ข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำกับความเสื่อมเสียทางจิตใจและสังคมอย่างชัดเจนถึงเพียงนี้ น่าจะนำไปสู่จิตสำนึกใหม่และวิถีคิดใหม่ ความเชื่อเรื่องกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนก็ดี ธรรมะแบบปัจเจกบุคคลก็ดี สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลก็ดี ประชาธิปไตยตามรูปแบบก็ดี ไม่เพียงพอที่จะอธิบายวิกฤตการณ์ทางศีลธรรมที่ระบาดทั่วโลก
วิกฤตการณ์ทางศีลธรรมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน อันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ
การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมคือศีลธรรม
การที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ต้องการจิตสำนึกใหม่และโครงสร้างใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องทำให้ได้ ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดจากวิกฤตการณ์ทางศีลธรรม คอลัมน์จิตวิวัฒ์นี้ได้พูดถึงจิตสำนึกใหม่อยู่เนืองๆ ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ จิตเล็กคือจิตที่เห็นแคบๆ คิดแคบๆ เห็นแต่เรื่องของตัวเอง คิดแต่เรื่องของตัวเอง จิตใหญ่คือจิตที่เห็นทั้งหมด คิดถึงทั้งหมด ดังที่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนทั้งหมด ต้องคิดถึงเสรีภาพของทั้งหมด (wholistic freedom) คือเมื่อมีความถูกต้องเป็นธรรมของทั้งหมด ทั้งหมดก็เป็นไปอย่างราบรื่น คล่องตัวไม่ติดขัด
โครงสร้างต่างๆ เช่น โครงสร้างอำนาจรัฐ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการศึกษา โครงสร้างทางความยุติธรรม และคำสอนทางศาสนา ควรจะมุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ มิฉะนั้นโครงสร้างต่างๆ จะส่งเสริมความเหลื่อมล้ำอันนำไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรม
ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ควรจะเป็นยุทศาสตร์ชาติที่รัฐบาลใหม่และสังคมไทยร่วมกันขับเคลื่อน องค์กรที่สนับสนุนการวิจัยและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ควรจะวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ แล้วนำความรู้ที่ได้มาสู่การรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวาง ความเข้าใจและความมุ่งมั่นร่วมกันจะทำให้การแก้ไขโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเป็นไปได้ด้วยสันติวิธี
การยึดมั่นกับความเชื่อและการปฏิบัติผิดๆ ทางพระเรียกว่า สีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาสนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางสังคมและความรุนแรง เพื่อลบล้างความเชื่อและการปฏิบัติที่ผิดๆ ถ้าจะพ้นจากวิกฤตการณ์ทางศีลธรรม สังคมไทยต้องทบทวนความยึดมั่นในความเชื่อและการปฏิบัติที่ไม่ได้ผล
ถ้าเห็นตรงกันว่าการลดความเหลื่อมล้ำคือศีลธรรม ก็สามารถหลอมรวมพลังของคนไทยไปสู่จุดลงตัวใหม่เพื่อสร้างสังคมศานติสุขได้
จิตไม่ได้ลอยตัวแยกเป็นเอกเทศจากสังคมและสิ่งแวดล้อม จิตและสังคมเชื่อมโยงและเป็นปัจจัยแก่กันและกันตามหลักอิทัปปัจจยตา จิตสำนึกใหม่กับสังคมที่มีความเสมอภาคเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน จิตสำนึกใหม่ไม่ใช่เพื่อปัจเจกเท่านั้น นั่นยังไม่ใช่จิตใหญ่จริง จิตสำนึกใหม่ที่เป็นจิตใหญ่ต้องเป็นไปเพื่อทั้งหมด โดยเห็นว่าทั้งหมดคือเรา เราคือทั้งหมด ด้วยจิตสำนึกใหม่และโครงสร้างต่างๆ ในสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น ศีลธรรมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขจึงจะเป็นไปได้
One Comment
เราบอกว่าคนคนนี้โกงเรา แล้วเราก็ไม่ทำอะไรต่อ เอาแต่บ่นๆ ไปวันๆ แต่ถ้าเรารู้ว่าเขาโกงเพราะอะไร? เราจะทำอะไรได้ไหมในการตรวจสอบเขา? แบบนี้ดีกว่าไหม?…..
เข้ามาร่วมแชร์ความคิด ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อประเทศไทยของเรากันนะคะ
คลิ๊ก LIKE ได้ที่
http://www.facebook.com/pages/ReformThailand/110693348986948
แสดงความคิดเห็น