ผลัดเปลี่ยนชีวิต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖

วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นวันที่แปลกอีกวันหนึ่ง ตอนเช้า ขณะที่ผมและทีมงานกำลังจัดกระบวนการอยู่ จู่ๆ หลอดไฟ เครื่องเสียง และเครื่องปรับอากาศก็ดับลง เราเลยต้องจัดอบรมกันโดยไม่ใช้ไมค์ กระทั่ง ๑ ชั่วโมงถัดมา น้องร่วมทีมจึงเดินมาถามผมในช่วงพักว่า “พี่รู้หรือยัง อาจารย์เสียแล้ว” ผมเปิดดูไลน์ของชุมชนที่ร่วมงานกันอยู่ จึงได้เห็นข้อความที่โพสต์เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ประหลาดเมื่อเช้าว่า “อาจารย์ฌานเดช ออกเดินทางแล้วนะครับ”

ผมไม่ได้ช็อค อึ้ง หรือเศร้าแม้แต่น้อย เช้านี้เป็นเพียงการทราบข่าวของเพื่อนที่ผมเพิ่งไปส่งถึงปากทางระหว่างความเป็นกับความตายเมื่อวันก่อน ผม ครอบครัว และเพื่อนร่วมทางบนเส้นทางแห่งการฝึกตนหลายคนได้บอกกล่าว อำลา และใช้เวลาดำรงอยู่ร่วมกับอาจารย์มากพอที่จะจับ สัมผัส และรับรู้กายเนื้อที่อ่อนโรยราทว่ายังคงมีพลังชีวิตและลมหายใจ ภรรยาของผมค่อยๆ เลื่อนผ้าม่านปิดเตียง เพื่อว่าเราจะได้ร่วมกันภาวนาส่งความรักและเมตตาจิตให้กับอาจารย์โดยไม่รบกวนผู้ป่วยเตียงอื่นๆ เราอยู่ร่วมกันอย่างเงียบสงัด ดำรงอยู่ตรงนั้นเพื่ออาจารย์ฌานเดชอยู่พักใหญ่ ปล่อยให้เวลาและโลกหมุนผ่านเราไป นับเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ายิ่ง

ผมตระหนักถึงโอกาสบอกกล่าวความในใจที่เรามีอยู่โดยไม่ต้องขัดเขินหรือตะขิดตะขวงใจ แน่นอน…มันเศร้ามาก ผมยืนอยู่ข้างเตียง น้ำตาเอ่อล้นด้วยหัวใจที่พยายามยอมรับการสูญเสียเพื่อนร่วมทางคนนี้ไป ความรู้สึกนั้นมีมากมายท่วมท้น แต่ผมกลับพูดอะไรไม่ออก ผมอยากให้อาจารย์ได้รับรู้สิ่งที่ผมอยากบอกก่อนที่จะจากไป อย่างน้อยๆ…หากได้บอกแล้วอาจารย์จะไม่ไป เกิดปาฏิหาริย์ให้ร่างกายฟื้นคืนสู่สภาวะปรกติได้ ก็คงถือเป็นสิ่งวิเศษสุดสำหรับพวกเราทุกคน

ผมพูดกับอาจารย์ในใจว่า “ผมมาหาแล้วนะครับ ได้ยินเสียงผมไหม ผมณัฐนะครับ เพื่อนเก่าของอาจารย์ไง ชีวิตนี้ไม่เสียหลายแล้วนะอาจารย์ คุ้มค่ามากเลย อาจารย์ได้ทำในสิ่งที่มีค่าให้กับครอบครัวและผู้คนมากมาย ให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะดูแลรักษาตัวเองและคนรอบข้างให้รักกัน อาจารย์คงเหนื่อยมามากแล้ว ได้เวลาพักบ้างแล้ว…นี่อาจใกล้ถึงเวลาที่อาจารย์ต้องละจากร่างกายที่เจ็บป่วยและทรมานนี้ไป…อาจารย์คงเจ็บมากใช่ไหม”

ถึงตอนนี้ น้ำตาผมก็กลับรื้นขึ้นมากลบนัยน์ตาอีกระลอก จนต้องหยิบผ้าอ้อมผืนใหญ่ของลูกสาวที่ติดไว้ในกระเป๋ากางเกงขึ้นมาเช็ดน้ำมูกน้ำตาตัวเองบ้าง แม้คุยในใจก็อดกลั้นน้ำตาไม่ให้ทะลักออกมาได้ยาก เพราะสิ่งที่ผมอยากบอกอาจารย์มากก็คือ

“ขอบคุณอาจารย์มากนะ สำหรับมิตรภาพที่เกื้อกูลงดงามระหว่างเรา ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจารย์ได้ช่วยในระหว่างที่เราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา อาจารย์พิเศษสำหรับผมจริงๆ…หากมีสิ่งใดที่เราได้กระทำผิดต่อกัน ผมอาจทำให้อาจารย์ทุกข์ร้อน ผมก็ขออโหสิกรรมด้วย ผมเองก็ขออโหสิให้อาจารย์ทั้งหมด ไม่มีอะไรติดค้างต่อกัน"

“ตอนนี้คงไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วงแล้ว หากถึงวาระที่อาจารย์ต้องการออกเดินทางต่อจริงๆ ทั้งน้องกาษ และป้าแอ๋วก็ดูแลตัวเองได้ดี และยังมีผู้คนมากมายคอยช่วยเหลือสนับสนุน ส่วนคุณแม่และน้องสาวของอาจารย์ต่างพากันมาแสดงความรักและกำลังใจให้กับอาจารย์กันถ้วนหน้า ทุกอย่างดีพร้อมแล้ว เมื่ออาจารย์พร้อมก็ขอให้เดินทางจากร่างนี้เป็นไปด้วยความตั้งมั่น ศรัทธา และกล้าหาญ พวกเราที่ยังอยู่ก็จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ตามแนวทางที่เราเชื่อและศรัทธาเช่นกัน ขอให้อาจารย์วางใจ”


อิสรภาพในการบอกลาผู้ใกล้ตายเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อน และถ้าเป็นแต่ก่อน ผมจะไม่ยอมให้ตัวเองทำแบบนี้เด็ดขาด เพราะคิดว่า “บอกลาอย่างนี้ก็เหมือนไปแช่งให้เขาตายเร็วขึ้น” ที่ถูกและควรคือการให้กำลังใจเขาฟื้นคืนกลับมาต่างหาก เวลาไปเยี่ยมคนป่วย ผมก็มักไปให้เขามีกำลังใจที่จะ “หาย” กลับคืนสู่สภาวะปรกติ แต่วันนั้น…มันแตกต่าง ผมตั้งใจไปส่งเพื่อนคนนี้สู่การเดินทางบทสำคัญครั้งสุดท้ายในชีวิตเขา ให้กำลังใจทั้งเขาและครอบครัวในยามเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้โดยไม่โดดเดี่ยวลำพัง

นี่อาจสืบเนื่องมาจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่า “ความตายหมายถึงสิ้นสุด” ทั้งๆ ที่ความเข้าใจและแนวคิดแบบเอเชียดั้งเดิมนั้น ถือว่าการตายคือ “การกลับบ้าน” โดยเฉพาะแนวคิดแบบธิเบตที่เชื่อว่า การตายคือหนึ่งในวัฏจักรการผลัดเปลี่ยนของชีวิต จากชีวิตในร่างเดิมไปถือกำเนิดในร่างใหม่ สานต่อภารกิจที่ยังเหลืออยู่ในเสร็จสิ้น ยิ่งคราวนี้ได้ทราบจากป้าแอ๋ว ภรรยาของอาจารย์ว่า อาจารย์บอกไว้ก่อนแล้วว่าหากไม่ไหวจริงๆ ก็ขอให้ได้เดินทางต่อด้วยดี เจตนาที่แน่วแน่ของอาจารย์นี้เองกระมัง ที่ช่วยทำให้ผมมองความตายจากมุมมองใหม่ ในฐานะที่เป็นการเดินทางต่อของชีวิตจริงๆ

เวลาได้มาทำพิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ร่วมกัน ทำให้ผมรู้สึกว่า พวกเราทุกคนเหมือนเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน อาจเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่โด่งดังหรือมีชื่อเสียงสำหรับคนทั่วไป ต่างก็ดำเนินชีวิตในแบบที่เราเชื่อว่าจะดีสำหรับตัวเองและสังคม เมื่อใครคนหนึ่งใกล้จะจากไป เราก็มาส่งเสียและอวยพร พรั่งพร้อมด้วยรอยยิ้มและน้ำตาซึ่งรำลึกถึงคุณค่าที่เขามีต่อเรา

ผมถือว่าอาจารย์ฌานเดช พ่วงจีน เป็นครูทางจิตวิญญาณที่สำคัญคนหนึ่งของยุคสมัย ที่ช่วยปลุกให้ผู้คนตื่นขึ้นมาตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย และเปิดรับบทเรียนของชีวิต หัวใจสำคัญที่อาจารย์ฌานเดชแบ่งปันมาตลอด คือการใส่ใจและให้คุณค่ากับปัญญากายที่เชื่อมโยงกับปัญญาอารมณ์ และปัญญาทางความคิด ที่อาจารย์เรียกว่า ไตรปัญญาสิกขา โดยปัญญาฐานกายนี้มักถูกละเลยและขาดการดูแลเอาใจใส่ พอๆ กับที่เรามักละเลยผืนดิน สายน้ำ ธรรมชาติแวดล้อม สุขภาพ วีถีชีวิตแห่งการอยู่ร่วมอย่างชุมชนและความเรียบง่ายไปอย่างน่าเศร้า หากเราปรารถนาชีวิตที่สมดุล เราก็พึงกลับมาดูแลปัญญาทั้ง ๓ ฐานให้พูนพร้อมมากยิ่งขึ้น

บทเรียนของการเผชิญหน้ากับความตายอย่างเห็นคุณค่าและยอมรับนี้ ช่วยทำให้ประสบการณ์ชีวิตของผมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น การได้มาส่งอาจารย์เพื่อเดินทางต่อ ช่วยให้ผมได้เห็นความงดงามในความเปราะบาง ความกล้าหาญในความกลัว และความสืบเนื่องในความสิ้นสุด

Back to Top