เมื่ออายุหกสิบ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2556

วันแต่ละวันเมื่อเราตื่นขึ้นมา ณ กาลเวลาที่อายุหกสิบปีขึ้นไป มันแตกต่างอย่างไรกับช่วงกาลก่อนๆ มา?

ช่วงนี้ ผมมีโอกาสได้อยู่กับ “ยิ่ง” ลูกชายหลายๆ วันที่ “บ้านสวนริมคลองบางมด” หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีต้นไม้ขึ้นครึ้ม เป็นบ้านที่มาเช่าเมื่อลูกชายป่วย เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปหาหมอ หานักกายภาพ โรคภัยของยิ่งนับว่าหายดีระดับหนึ่งแล้ว เหลือแต่ต้องทำกายภาพเพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนขาข้างซ้ายให้กลับคืนมา แม้จะมีพัฒนาการไม่เร็วนัก แต่ยิ่งกับพวกเราที่ช่วยกันดูแลก็ดำรงอยู่อย่างมีความสุข ทำวันคืนให้สนุกสนานคึกครื้น โดยในช่วงหลัง เราได้เพิ่มคำว่า “ชุมชน” เข้าไปในการบำบัดเยียวยา เพราะเชื่อในพลังของชุมชนว่า เมื่อเราเชื่อมโยงหัวใจเข้าด้วยกัน เราจะมีพลังมหาศาลที่จะทำให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้

ปรับตัวเข้าบ้านใหม่

เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของชีวิตมนุษย์คือการปรับตัว ผมเคยอยู่บ้านแบบนี้ในช่วงที่ทำ ปาจารยสารฉบับหัวกะทิ อยู่แถวซอยโชคชัย ๔ ลาดพร้าว ซึ่งมีคนหนุ่มสาวหลายคนมาช่วยกัน เป็นชีวิตอุดมคติที่เปี่ยมไปด้วยการเรียนรู้อีกแห่งหนึ่ง เป็นความพยายามอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน อย่างงดงาม บ้านเช่าหลังใหม่นี้ คิดอยู่ในใจว่า มุมหนึ่งก็อยากกลับไปอยู่แบบเดิมด้วย ให้เป็นบ้านที่ใครไปใครมาได้ง่ายๆ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ขั้นแรก เราต้องมีพิธีกรรมที่จะทำให้บ้านนี้เป็นบ้านของเรา หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านของพวกเราเสียก่อน ด้วยการเดินออกกำลังกาย ช่วงแรกๆ ที่ผมมาพักบ้านหลังนี้ ก็เหมือนมาพักโรงแรม บ้านยังไม่มีชีวิต เราเพียงแต่หาทางให้อยู่ได้อย่างสะดวกสบายเท่านั้น ได้ปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ทางกายภาพบ้างเล็กๆ น้อยๆ อย่างไม่ฟุ่มเฟือย ให้พออยู่ได้ แต่เมื่อสถานการณ์อำนวยแล้ว ผู้คนลงตัวเป็นมิตรระดับหนึ่งแล้ว ก็เริ่มพิธีกรรมแห่งการทำบ้านให้เป็นบ้าน

แปลกนะ เมื่อเริ่มเดินรอบหมู่บ้านในครั้งแรก มันเหมือนฝืดๆ ไม่คล่อง เสียงหมาเห่ากรรโชก แม้ตัวเล็กๆ ก็ทำให้เราสะดุ้ง แต่การทำซ้ำ การเดินอีกวันหนึ่ง อีกครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่ง เราก็ค่อยๆ ทำให้ต้นไม้ใบหญ้า บ้านเรือนเป็นที่คุ้นเคยต่อสายตา และค่อยๆ ซึมซับมาเป็นที่ทางของเรา ความรักความชอบค่อยๆ ถูกปลูกสร้างขึ้นในใจ เราสามารถเดินอย่างจับจังหวะลมหายใจได้ ทุกๆ อณูของหมู่บ้านเริ่มผายมือออกรับเราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมและวิญญาณของสถานที่

อันดับแรกของชีวิต

อันดับแรกของชีวิต คือการเป็นครู ประมาณสองหรือสามปีมาแล้ว มีพระสงฆ์นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งโบกรถมาหาผมที่เชียงราย แจ้งความจำนงว่าต้องการจะมาเรียนโดยเป็นงานบุญกับพระสงฆ์ แต่หลังจากเรียนแล้วไม่นานก็เงียบหายไป ยังคิดถึงอยู่ เพราะพวกท่านน่ารักและตั้งใจเรียนกันมาก ต่อมาเมื่อปีที่แล้ว ก็มีบางองค์ในกลุ่มแรกได้นำกลุ่มคิลานธรรมมาเรียนกับผมอย่างต่อเนื่องถึงสามครั้ง และผมได้ให้สัญญากับท่านว่าจะถวายความรู้เป็นงานบุญเช่นนี้ไปตลอด ตราบที่ท่านยังต้องการเรียนเป็นกระบวนกรอยู่ พระสงฆ์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เรียนหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาชีวิตและความตาย ซึ่งเป็นชื่อสาขาวิชาที่เท่มาก ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนหนึ่งของการเรียนคือการไปเยี่ยมผู้ป่วย ท่านเลยก่อตั้งกลุ่มคิลานธรรมขึ้นมา และได้ไปทำงานอาสาให้สังคมอย่างกว้างขวาง รวมถึงการอบรมให้พยาบาลทั้งหมดในวชิรพยาบาลประมาณแปดร้อยคน นี่เป็นงานที่ผมภูมิใจมาก เหมือนได้ติดอาวุธให้กองทัพธรรมอย่างไรไม่รู้

ที่ดีใจมากยิ่งขึ้น คือพระสงฆ์หลายรูปมาจากวัดญาณเวศกวัน อันเป็นที่อยู่ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เจ้าคุณอาจารย์ที่ผมได้เคยร่ำเรียนมาจากท่าน และบางท่านมาจากสวนโมกข์ ไชยา ผมรู้สึกว่าได้สืบต่องานของท่านพุทธทาสและของเจ้าคุณอาจารย์อย่างไรไม่รู้ นำความปลาบปลื้มใจมาให้ตัวเองเป็นล้นพ้น

เรือนพักใน “ความว่าง” หลังจากไขว้สลับตัวตนแล้ว

ผมอยากผสมผสานสหวิทยาการ สหปัญญาปฏิบัติ สหศิลป์ เข้าด้วยกัน ในวอยซ์ไดอะล็อค ผมได้เรียน ได้ลองปฏิบัติ ทั้งกับตัวเองและน้อมนำผู้อื่นให้ได้สัมผัสกับตัวตนต่างๆ ทำให้ค้นพบว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นตัวตนบางตัวดั่งที่เคยเป็นมา เช่น ตัวควบคุมสั่งการ หรือตัวเจ้านายใหญ่ (The boss) ก็ได้ เราอาจย่อตัวเจ้านายใหญ่ให้เล็กลงมาหน่อย ให้เป็นเพียงตัวผู้จัดการหรือตัวจัดการงานธรรมดาๆ ไม่ต้องใหญ่โต ไม่ต้องสั่งการ แต่ทำเองบ้าง แล้วหากจะให้คนอื่นทำก็ดูความเหมาะสม ดูการเติบโต ดูวาระของเธอหรือเขาไปด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่วาระของตัวเอง

แต่ประโยชน์ของวอยซ์ไดอะล็อค หรือจิตวิทยาตัวตน หรือจิตวิทยาการรู้ทันตัวตน (ชื่อภาษาไทย สมพล ชัยสิริโรจน์เสนอให้ใช้) ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น ผมยังพยายามไปให้ไกลขึ้น คือค่อยๆ วางตัวตนนักจัดการลงด้วย ไม่ต้องจัดการอะไรมากมาย ปล่อยให้เป็นภาระของผู้อื่นบ้าง โลกมันหมุนไปได้โดยปราศจากเราสักคนหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งได้ไหม? และให้เราได้นอนหลับสบาย

แล้วผมมาคิดดูต่อไปอีกว่า ฐานเดิมของผมตั้งแต่เด็กๆ ที่เป็นคนช่างคิด ใคร่ครวญ แสวงหาภูมิปัญญาที่ลึกซึ้ง ที่จะตอบคำถามยากๆ เช่น “เกิดมาทำไม” เป็นต้น มีรุ่นพี่ คือ มอนตาเนต เบ็นเนต เคยบอกตอนผมอายุยี่สิบต้นๆ ว่า ผมเป็นปราชญ์น้อย ผมชอบคำคำนี้มาก ในทางกรรมฐาน หรือฐานที่ตั้งแห่งความเพียร ในการบำเพ็ญเพื่อการรู้แจ้ง เราจะวางฐานของตัวเองไว้ที่ไหนดี ก็เกิดญาณทัศนะขึ้นมาว่า “ทำไมไม่วางไว้ที่ความว่างล่ะ” นึกถึงบทกลอน “เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง” ของท่านพุทธทาส ประมาณว่า “กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน” หรือเราจะวางฐานของตัวตนต่างๆ หลังจากที่วิ่งไปตามตัวตนต่างๆ แล้วจะกลับมาพักที่ไหน จะให้ที่ไหนเป็นฐาน ก็เลยคิดว่าให้กลับมาที่ “ความว่าง” กลับมาที่ตัวตนที่เรียกว่าปราชญ์น้อย ที่ดำรงอยู่ในศูนยตา ส่วนจะเข้าถึงศูนยตาได้ลึกซึ้งแค่ไหน สัมผัสได้จริงหรือเปล่า ก็ค่อยๆ ทำงานไป ค่อยๆ แกะ ค่อยๆ ถอดสลักไป คงจะเข้าถึงความว่างได้โดยลำดับ และอาศัย “ความว่าง” เป็นเรือนอยู่ เป็นฐานอันมั่นคง ไม่มีอะไรต้องกลัวเกรงอีกต่อไป พร้อมเสมอกับอะไรก็ตามที่เข้ามาในชีวิต

Back to Top