โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2556
กระบวนการตามล่าฆ่าแม่มดในยุคประชาธิปไตย (ตามความหมายของฉัน) กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านบนลานการเมืองของประเทศไทย
มีคำถามที่สำคัญหลายคำถามที่อยากจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้หยุดคิด พิจารณาทบทวน ใคร่ครวญด้วยสติและปัญญา เช่น ใครคือแม่มดที่ต้องถูกตามล่า?
แม่มดคืออำมาตย์ ไพร่ กลุ่มคนต่างสี รัฐธรรมนูญ ตุลาการ หรือใครหรืออะไรก็ได้ที่ไม่อยู่ฝ่ายเดียวกัน ใช่หรือเปล่า?
ประชาธิปไตย ตามความหมายของฉัน เปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายที่เห็นต่างจริงหรือไม่? ถ้าจริง ทำไมต้องไล่ล่า?
ประชาธิปไตย ตามความหมายของฉัน ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใช่หรือไม่? ถ้าใช่ ทำไมต้องนิรโทษ?
ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทุกฝ่ายทำผิดกฎหมาย สมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่?
เราควรถือโอกาสนี้ที่สังคมถูกกระทำให้แตกแยกและมีการเรียกร้องความปรองดอง นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดกฎหมายทุกคนทุกเรื่องดีหรือไม่?
ลองตอบคำถามทีละข้อ ช้าๆ ตามความเป็นจริง จะได้เห็นจุดยืนที่มีคติ/อคติของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น จะได้มีสติและรู้เท่าทันตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้น
ความปรองดองและการให้อภัยที่เกิดจากการมีสติและปัญญาก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นภายในจิตใจ โดยไม่ต้องออกกฎหมายใดๆ มาลบล้างความผิด
ทั้งหมดที่เขียนมาตั้งแต่ชื่อบทความและคำถามต่างๆ ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังถูกทำให้ต้องแบ่งพรรคแบ่งพวก สุดโต่งไปคนละข้าง ประชาธิปไตย (ตามความหมายของฉัน) การปรองดอง และการนิรโทษกรรม เป็นเพียงข้ออ้าง และวาทกรรมทางการเมือง เป็นศาสตราวุธที่ใช้ในสงครามการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก มากกว่าเพื่อประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม ใช่หรือเปล่า?
เราได้ยินได้ฟังวาทกรรมทางการเมืองที่ฟังดูดี มีตรรกะ แต่มันก็มักจะอยู่ในลักษณะของการเลือกนำเสนอและตอกย้ำเป็นจุดๆ แบบแยกส่วน แล้วกระโดดเข้าสู่ข้อสรุปที่เกินจริงบ่อยๆ เพื่อจะชี้แนะว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นแม่มด เป็นความชั่วร้าย ต้องทำลายให้หมดไป แล้วจะมาเรียกหาความปรองดองกันไปทำไม
ความปรองดองที่แท้จริง ควรต้องเริ่มจากการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยอมรับและเคารพในความแตกต่างของกันและกันอย่างแท้จริง แล้วร่วมกันหาทางสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันบนความหลากหลาย (Unity through diversity) และนี่คือความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน ใช่หรือไม่?
และถ้าหากเราเชื่อจริงๆ ว่าสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
มาลองเลิกกระบวนการผลักไสให้ใครเป็นแม่มดจะดีกว่าไหม เพราะถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นคนเลว คนชั่วของสังคม ไม่มีใครอยากเป็นแม่มดที่ต้องถูกไล่ล่า และถ้ามีโอกาส เขาเหล่านั้นก็คงอยากจะเป็นคนดีของสังคม
มาลองท้าทายตนเองที่จะหาวิธีการเปลี่ยนแปลงแม่มดให้กลายมาเป็นคนปกติธรรมดา เป็นคนดีของสังคมจะดีกว่าไหม?
บทเรียนที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้เป็นแบบอย่างก็มีมากมาย ดังเช่นเรื่องขององคุลีมาล
ที่เสนอมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าให้มีการนิรโทษกรรมทางกฏหมายซึ่งเป็นมิติภายนอก แต่เป็นการให้อภัยทางความคิดและจิตใจที่เป็นมิติภายในของเราเอง
สำหรับผม ทุกคนล้วนแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นอำมาตย์หรือไพร่ เศรษฐีหรือยาจก คนสีเดียวกันหรือต่างสี ใครคิดดี พูดดี ทำดีก็ควรได้รับคำชื่นชมและยกย่อง ใครทำผิดก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย ตามจารีตประเพณี ไม่จำเป็นต้องผลักไสให้เขาไปเป็นแม่มด
สำหรับผม รัฐธรรมนูญไม่ใช่แม่มดที่ต้องถูกไล่ล่า ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ก็ไม่ควรถูกกระทำในฐานะที่เป็นแม่มด แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เก็บไว้บนหิ้งเพื่อกราบไหว้บูชา เพราะสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงและสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
เลิกทำสงครามตามล่าฆ่าแม่มด แล้วหันหน้ามาร่วมด้วยช่วยกันสร้างคนดีให้สังคม ดีไหมครับ?
แสดงความคิดเห็น