ยึดหลักก่อนทิ้งหลัก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2556

เมื่อสองสามเดือนก่อน คุณคำผกา พิธีกร “คิดเล่นเห็นต่าง” ออกมา “ขอขมาต่อพระรัตนตรัย” และขอโทษต่อมหาเถรสมาคมและองค์กรพุทธทั่วประเทศ พร้อมทั้งประกาศว่าจะหยุดออกอากาศเป็นเวลาหนึ่งเดือน “เพื่อแสดงความรับผิดชอบ” ในสิ่งที่กล่าวออกอากาศไปในรายการเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม โดยมีเนื้อหาในทำนองว่า การจัดงานสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและเปรียบเสมือน “ยากล่อมประสาท” ประชาชน ทำให้ลืมนึกถึงปัญหาของตนเอง

คุณคำผกาได้ออกมาวิพากษ์ว่า “พิธีกรรม” เป็นเรื่องไร้สาระ แต่สำหรับผม แม้แต่การกรรมวาจาของพิธีกรที่ออกมา “ขอขมา”​ ออกอากาศนั่นก็หลีกไม่พ้นเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง

โจเซฟ แคมพ์เบลล์ ใน พลานุภาพแห่งปกรณัม กล่าวว่า “พิธีกรรมเป็นเครื่องมือที่ทำให้จิตมีความสอดคล้องกับกาย และทำให้วิถีชีวิตมีความสอดคล้องกับธรรมชาติ” และ พิธีกรรมนั้นมีไว้เพื่อ “เชื่อมโยงคนแต่ละคนเข้ากับโครงสร้างของชีวิตที่มีขนาดใหญ่กว่าร่างกายตนเอง” เหตุที่คนเรายังต้องการพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโลกในยุคสมัยปัจจุบัน ก็เพราะเราเป็นคนในยุค “รากขาดลอย” รากในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงแค่รากทางวัฒนธรรม แต่ผมพูดถึงรากที่เชื่อมโยงระหว่าง “จิตและกาย” เข้าด้วยกัน

วิทยาศาสตร์แบบลดทอนได้ตัดแบ่งกายกับจิตให้แยกขาดจากกัน โดยมองว่าจิตไม่มี มีแต่สมอง และพยายามอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ผ่านแว่นดังกล่าวนี้ ดังนั้น คนสมัยใหม่จึงไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างจิตใจและร่างกาย โดยเห็นทุกอย่างเป็นเพียงปฏิกิริยาเคมี และพลังงานไฟฟ้า ชีวิตจึงห่างไกลจากธรรมชาติ และ “คลองธรรม” ซึ่งหมายถึงสัจจะ

ดังนั้น ยิ่งเรื่องของจิตใจถูกทำให้เป็นสิ่งแปลกแยกออกไปจากชีวิตประจำวันมากเท่าใด เราก็ยิ่งต้องการ “พิธีกรรม” มากขึ้นเท่านั้น เพื่อเชื่อมโยงภายนอกกับภายในให้กลมกลืนกัน พิธีกรรมในที่นี้ผมไม่ได้หมายความถึงพิธีกรรมที่พระหรือนักบวชประกอบให้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงพิธีกรรมอื่นๆ เช่นของชาวบ้านด้วย ซึ่งผมเคยได้ยินว่าสมัยก่อนในชนบท ถ้าเกิดเรื่องใดที่ทำให้เด็กเกิดอาการตกใจ อกสั่นขวัญผวา กินไม่ได้นอนไม่หลับ ชาวบ้านก็จะทำพิธีเรียก “ขวัญ”​ กลับคืนมา เมื่อทำพิธีแล้ว ส่วนใหญ่เด็กก็จะมีอาการดีขึ้นตามลำดับ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อขวัญไม่อยู่กับตัว ก็เหมือนคนไม่อยู่ดูแลบ้าน บ้านก็ย่อมชำรุดทรุดโทรมลง ซึ่งก็เป็นเรื่องจิตกับกายนั่นเอง แม้แต่ในการบำบัดรักษาแผนปัจจุบัน ถ้าหากแพทย์มุ่งแต่จะรักษาอาการไข้ แต่ไม่รักษาคนป่วยไข้ ก็เท่ากับละเลยมิติทางจิตใจ ซึ่งมีผลมากต่อการเยียวยาตนเองของคนไข้

สิ่งสำคัญที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจก็คือ เมื่อใจหรือจิตได้วิวัฒน์ไปจนกลมกลืนกับกายแล้ว พิธีกรรมก็ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะผลอันเป็นเจตจำนงของพิธีกรรมได้ถูกทำให้มีขึ้นในบุคคลนั้นๆ แล้ว การสวดมนต์และการรับศีลอย่างในศาสนาพุทธ มองในแง่หนึ่งอาจจะเป็นเพียงพิธีกรรม แต่นัยยะที่ซ่อนเร้นอยู่คือ การฝึกอบรมจิตให้บุคคลมีปัญญาจนเข้าถึงสภาวะที่จิตทำงานในลักษณะ “Autorun” หมายถึงเป็นไปเองโดยปกติ ไม่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์หรือพิธีกรรมภายนอกเข้ามาชักนำ เพราะคำว่าศีลในศาสนาพุทธมีนัยยะว่า “ปกติ” ไม่ใช่แปลว่าข้อห้ามอย่างที่เข้าใจกัน ดังนั้น การรับศีลจึงทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครให้ความปกติแก่กันได้ จึงรับได้เพียง “สิกขา” ที่เป็นแบบฝึกนำไปปฏิบัติด้วยตัวเอง

แม้แต่มวยจีนไทจี๋ฉวน ซึ่งขึ้นชื่อในแง่ของท่าทางการรำที่จะต้องให้แม่นตรงถูกต้องต่อแบบแผนที่ครูบาอาจารย์กำหนดและผ่องถ่ายกันมา ก็ยังมีการสั่งสอนกันต่อๆ มาว่า

“ยึดหลัก เดินตามหลัก และทิ้งหลัก”​

หมายถึงเมื่อเริ่มต้นต้องยึดหลักมวยเอาไว้ ห้ามเฉไฉออกนอกทาง มิฉะนั้นจะฝึกเท่าใดก็ไม่สำเร็จ ช่วงนี้จะใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไรไม่ได้เลย ต้องทำตามอย่างเดียวเท่านั้น เหตุเพราะท่วงท่าที่ครูบาอาจารย์ให้ เป็นหลักให้ “จิต” ทำงานประกอบกับกาย การฝึกจึงไม่ได้ฝึกแต่ท่วงท่า แต่ท่ายังเป็นกุศโลบายที่เอาไว้ฝึกใจ เช่นเดียวกับการสวดมนต์ ส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าใจความหมายของภาษาบาลีที่ตนสวด ความหมายจึงยังไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะจุดมุ่งหมายในขั้นตอนนี้เป็นการฝึกใจ ให้เคยชินกับการเข้าสู่สภาวะของการ “ออกจากความคิด” และกลับมาที่ความเป็นไปในร่างกาย

เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์ที่สอนภาวนา เมื่อถึงที่สุดท่านให้ทิ้งการ “บริกรรม” หมายถึงไม่ต้องท่อง ไม่ต้องสวดในใจ ครูบาอาจารย์มวยจีนก็บอกให้ “ทิ้งหลัก” ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า “ไม่มีหลัก”​ แต่เพราะการฝึกฝนนั้นถึงขั้นที่หลักนั้นเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของผู้ฝึก คือสามารถทำได้ไม่ต้องใช้ความคิด หรือความพยายามซึ่งเรียกว่าเป็น “Unconscious competence” อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเรียนรู้สิ่งใหม่ตามโมเดลของกอร์ดอน เทรนนิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล

การที่คุณคำผกาออกมาขอโทษ ผมมองว่าเป็นการทำพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งการยกมือไหว้เพื่อขอโทษนั้นต้องมีการค้อมศีรษะลง กิริยาอาการและถ้อยคำที่ใช้ขอโทษ ก็แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่าทีเช่นนี้คือปรับ “ร่างกาย” และวาจา ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกให้สมานเข้ากับองค์ประกอบภายใน นั้นคือ “จิตใจ” ที่ควรต้องอ่อนน้อมไปตามกิริยาอาการที่แสดงออก แต่ถ้าองค์ประกอบภายในยังไม่สอดคล้องกับภายนอก หมายถึงผู้ที่เอ่ยปากขอโทษ ไม่ได้มีใจยอมรับ จุดมุ่งหมายของพิธีกรรมก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ผมไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจิตใจของเธอเป็นอย่างไร มีแต่ตัวเธอเท่านั้นที่จะทราบ

ถ้าหากเป็นคนที่ไม่เคยเอ่ยปากขอโทษใครเลย จู่ๆ ต้องมาทำเช่นนั้น ภายในก็ต้องรู้สึกแปลกแยกเป็นธรรมดา ถ้าหากใครไม่เคยสวดมนต์แล้วต้องนั่งลงทำวัตรเช้าหรือวัตรเย็น เมื่อได้ลองทำแรกๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายทรมานใจ แต่ถ้าทำบ่อยเข้า ก็จะทำได้เองหรือรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ อาจจะเป็นเพราะจิตใจของคนเราชอบวิ่งไปหาสิ่งที่น่าชอบใจ และหนีจากสิ่งที่ไม่น่าชอบใจ การฝึกฝนจิตใจนั้นต้องมีการ “ฝึกฝืน” ธรรมชาติเดิมของมัน แต่สิ่งที่ได้รับนั้น ผู้ที่เข้าถึงสภาวะนั้นแล้วจะสามารถบอกได้ว่ามันดีอย่างไร

แต่ผมก็ต้องพูดตรงนี้ไว้ว่า ไม่เห็นด้วยสำหรับคนที่ค่อนข้างไปทางนักจัดระเบียบสังคม หรือสุดโต่งด้วยศรัทธาจริต เพราะไปยึดพิธีกรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จนมองไม่เห็นถึงเจตนาหรือจุดมุ่งหมายเบื้องปลายของพิธีกรรม พวกเขาเหล่านี้เห็นว่ารูปแบบสำคัญกว่ากระบวนการเรียนรู้ จึงกลายเป็นพวกเผด็จการทางความเชื่อ และนำรูปแบบภายนอกมาบังคับให้ผู้อื่นต้องทำตามโดยไม่ยินยอมพร้อมใจ

ผมเคยได้ยินเสียงสวดมนต์ของเด็กนักเรียนโรงเรียนลองวิทยา จ.แพร่ ที่รุ่นพี่รุ่นน้องจัดอบรมค่ายพุทธศาสนากันเอง และเข้าร่วมกันด้วยความสมัครใจ ฟังแล้วรู้สึกอิ่มเอิบ เพราะทุกคนตั้งใจสวดมนต์กันมาก ต่างจากอีกโรงเรียนหนึ่งที่ครูไปเกณฑ์เด็กมาเข้าร่วมอบรม ฟังแล้วเหนื่อยใจ และเด็กก็ไม่ได้อะไร เปลืองงบประมาณอบรมอีกด้วย

พวกคุณคิดบ้างไหมว่า เมื่อตอนที่คุณคำผกาเป็นเด็กนักเรียน อาจจะเคยอยู่ในโรงเรียนที่เกณฑ์เด็กมาสวดมนต์ แล้วก็รู้สึกไม่ได้อะไร เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นว่าศาสนามันจะสำคัญตรงไหน เมื่อเธอเป็นผลิตผลของสังคมไทย เราจะโทษใครไม่ได้ ก็ต้องโทษตัวเราเองที่มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแบบนี้ ทางแก้น่ะหรือ ต้องถามตัวคุณเองว่า ทุกวันนี้คุณทำอะไรบ้างที่มีส่วนทำให้เยาวชนของชาติได้พัฒนาจิต?

Back to Top