โดย
วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 มกราคม 2557
ทุกวันนี้เราพอจะพูดได้ไหมว่าเราสนิทสนมกับใครบ้าง? งานจัดกระบวนการเพื่อความเปลี่ยนแปลง ได้นำผมมาศึกษาค้นคว้าเรื่องความสนิทสนมมากขึ้น เหมือนว่ามันน่าจะเป็นกุญแจเข้าไปทำความเข้าใจจิตใจมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องความสุขที่แท้
ผมได้มีโอกาสศึกษาวอยซ์ไดอะล็อกหรือจิตวิทยาตัวตน ที่บอกว่าคนเรามีตัวตนหรือบุคลิกภาพต่างๆ หลายๆ ตัวตน หลายๆ บุคลิกภาพในตัวเอง บุคลิกภาพหนึ่งๆ หรือตัวตนหนึ่งๆ ในตัวเรา ซึ่งบางทีเรียกว่าส่วน คือส่วนหนึ่งๆ ในตัวเรา คืออวัยวะแห่งจิต เหมือนร่างกายมีอวัยวะของมัน จิตก็มีอวัยวะเป็นองค์ประกอบคือแยกเป็นส่วนต่างๆ ได้ ตอนหลังมาศึกษาประสาทวิทยา (neuroscience) ส่วนต่างๆ ก็คือวงจรสมองต่างๆ ที่เรานำมาใช้งาน ซึ่งผมเคยเขียนในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ไว้บ้างแล้ว (บทความเรื่อง “เชื่อมโยง นพลักษณ์ ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) จิตวิทยา พุทธธรรม”, ตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖)
แต่บทความนี้จะพูดถึงตัวตนหนึ่ง ส่วนหนึ่ง อวัยวะทางจิตหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ “เด็กน้อยผู้เปราะบาง” ซึ่งเป็นตัวละครที่สำคัญมากๆ ในวอยซ์ไดอะล็อก แต่ทำไมเราจึงไม่ค่อยได้สัมผัสกัน เมื่อมาใคร่ครวญ ผมก็ได้คำตอบว่า เป็นเพราะเรามักจะหลีกหนีหรือกลบเกลื่อนความสั่นไหวเปราะบางของเราไปเสียก่อนที่จะยอมสัมผัสกับส่วนนี้ในตัวเรา เราจะเห็นว่าความสั่นไหว หรือความเปราะบางเป็นความอ่อนแอ เราจึงมุ่งไปหา “ความเข้มแข็ง” ต่างๆ เช่นการตัดสินคนอื่นและตัวเราเอง ความพยายามเป็นตัวของตัวเองแบบแยกตัวออกมา เหินห่างเย็นชา ไม่เห็นสัจธรรมแห่งความเป็นโยงใยที่ซ่อนเร้นหรืออิทัปปัจจยตา
และเร็วๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของเบรนเน่ บราวน์ ชื่อ
The Power of Vulnerability ที่จริงเธอพูดเรื่องนี้ใน “เท็ดทอล์ก” ด้วย เธอพูดถึงอุปสรรคสามประการ ที่ทำให้คนเราไม่เข้าถึง “ความเปราะบาง”
ประการแรกคือ เราไม่ยอมอนุญาตให้ตัวเรา “มีความสุข”
เราจะคอยระแวดระวังว่า เราคงสุขได้ไม่นานเดี๋ยวก็ทุกข์ และหากหลงระเริงมากไป ณ หัวเลี้ยวของทางเดินแห่งชีวิต ภัยวิบัติใหญ่หลวงกำลังรอเราอยู่ ข่าวโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์ต่างๆ ก็มักจะปรากฏข่าวคราวเคราะห์หามยามร้ายเหล่านี้เสมอๆ หากเราไม่หลงระเริงกับความสุขมากเกินไป เราคิดว่าพอเราประสบเรื่องร้าย เราก็จะพอรับมือกับมันได้กระมัง
ผมจะพูดถึงเรื่องนี้ในสองประเด็น ประเด็นแรก ตอบโจทย์นี้ด้วยเรื่องเล่าของเบรนเน่ บราวน์ เธอเล่าว่ามีชายคนหนึ่งได้ใช้ชีวิตด้วยทัศนคติเช่นนี้ คือเขาจะไม่ยอมให้ตัวเองมีความสุข เขาจะมองความสุขว่าก็อย่างนั้นๆ เดี๋ยวก็ทุกข์ เราอย่าปล่อยให้ใจดื่มด่ำไปกับความสุขเลย เขาอยู่กับภรรยามายี่สิบปี และแล้วภรรยาก็มาจากเขาไปด้วยโรคร้าย ณ ตอนนั้น เขากลับมาใคร่ครวญอีกทีว่า รู้อย่างนี้ เขาสู้อนุญาตให้ตัวเองมีความสุขน่าจะดีกว่า ดีกว่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปด้วยความระแวงระวังต่อชีวิต
อีกประเด็นหนึ่งที่เขาอาจจะไม่ล่วงรู้ก็คือ การเปิดออกให้กับชีวิตนั้นอาจจะมีคุณภาพที่ไปไกลกว่านั้นได้อีก นั่นคือความสามารถที่จะแนบสนิทกับปัจจุบันขณะ หรือก็คือการฝึกสติ สามารถอยู่กับปัจจุบันขณะได้อย่างแท้จริง ตรงนั้นเราจะรับรู้ชีวิตได้เต็มๆ ทุกเม็ด และที่จริงความทุกข์ที่รบกวนเรามากๆ ไม่ใช่ทุกข์ตามสภาพ แต่คือทุกข์ที่เป็นความวิตกกังวลอันวนเวียนซ้ำซาก อันเป็นสิ่งที่จิตก่อประกอบขึ้นมาเองมากกว่า ทุกข์ตามสภาพจะอยู่กับเราเพียงสั้นๆ มาแล้วก็ผ่านไป แต่ทุกข์อย่างหลังจะวนเวียนอยู่กับเราได้นานเท่านาน
ประการที่สอง คือ perfectionism หรือการต้องการความสมบูรณ์แบบ
ความสมบูรณ์แบบเป็นเสื้อเกราะที่หนาหนักมาก เราต้องใช้พลังงานมากมายที่จะทำให้ชีวิตดูสมบูรณ์แบบ และในที่สุดชีวิตก็ไม่สมบูรณ์แบบอยู่ดี ลึกๆ ความสมบูรณ์เป็นการใช้ชีวิตด้วยเปลือกนอก ด้วยเหตุที่เรามีความกลัวว่าคนอื่นหรือสังคมจะตำหนิเรา เราจึงต้องทำตัวให้สมบูรณ์แบบ เราจะใช้ชีวิตเพ่งเล็งไปที่เปลือกนอกตลอดเวลา แทนที่เราจะถามตัวเองอย่างแท้จริงว่า เราต้องการอะไร เรากลับถามว่า คนอื่นเขาจะมองเราเป็นเช่นไร เราไม่กล้าให้ด้านในของเราส่งเสียง เราไม่กล้าใช้ชีวิตถามหาความเป็นไปแห่งตัวตนด้านในของเราจริงๆ
ประการที่สาม คือการมอมเมาตัวเองให้เฉื่อยชา
อันนี้ก็คืออาการกลบเกลื่อนตัวเองทุกชนิดทุกประเภทด้วยการเฉไฉออกไปข้างทาง ด้วยเหตุที่เราอาจไม่พอใจกับชีวิตของเรา เราจึงพยายามหาอะไรมาทดแทน หาอะไรมาทำให้เพลิดเพลิน “ฆ่า” เวลาของชีวิตไป อย่างมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ใช้คำว่า fast forward หากชีวิตเป็นวีดีโอ เราอาจ fast forward ชีวิตของเราไปข้างหน้า เวลาชีวิตเราน่าเบื่อ ซึ่งก็หมายความว่า เรากำลังจะทิ้งเวลาของชีวิตไป
แต่แล้วด้วยสิ่งมอมเมาต่างๆ นั้นเอง ไม่ว่าเป็นการเสพติดอย่างอ่อนหรืออย่างแก่ ไม่ว่าจะเป็นเหล้ายา หรือการเสพติดสื่อทางสังคม การบ้างานก็เป็นอาการเสพติดได้เช่นกัน การเสพติดเหล่านี้ทำให้เราดูเหมือนเพลิดเพลิน แต่อันที่จริง เราไม่พอใจชีวิตของเราต่างหาก แล้วเราก็แก้ไม่ตรงจุด แต่ไปอย่างข้างๆ คูๆ
แล้วอย่างไรต่อไปล่ะ?
ประการแรก เราควรอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข คนที่มีความสุขได้ จะค่อยๆ สามารถเก็บเกี่ยวความสุขเข้ามา ความสุขนั้นเมื่อมีศิลปะที่จะสุข เราจะพบว่า ความสุขไม่ต้องการอะไรมากมาย ชีวิตธรรมดาก็สุขแล้ว น้ำเปล่าสักแก้วเวลากระหาย ก็เป็นอะไรที่วิเศษสุดแล้ว การได้อยู่กับสมาชิกในครอบครัวก็มีความสุขแล้ว เพียงเราไม่ fast forward ชีวิตไปให้เปล่าดาย
ประการที่สอง การตื่นขึ้นกับการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ เข้าถึงเนื้อแท้ของชีวิต ผ่อนตัวเองไปกับกระบวนการของชีวิต ที่จะเผยตัว ณ ขณะนั้นๆ เราก็จะสามารถวางเสื้อเกราะแห่งความสมบูรณ์แบบลง และในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ชีวิตโดยไม่ต้องการอาศัยสิ่งมอมเมาอีกด้วย เพราะว่ารสชาติชีวิตในตัวของมันเอง วิเศษสุด โดยไม่ต้องกลบเกลื่อนหรือหาอะไรมาทดแทน
ประการที่สาม เมื่อฝึกฝนระดับหนึ่งที่มีชีวิตตื่นรู้ สามารถดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะได้ สามารถอยู่กับรสแท้ของชีวิตได้ หากเราเปิดใจออกให้กับความเปราะบางหรือความสั่นไหวของเราได้ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์กับผู้คน ความเปราะบางที่ขณะแรกๆ อาจจะดูเหมือนอ่อนแอ น่าอับอาย กลายมาเป็นอะไรที่ตรงกันข้าม ที่จริง ความเปราะบางคือความกล้าหาญ ความเปราะบางคือความสามารถที่จะสนิทสนมได้อย่างแท้จริง เป็นความสัมพันธ์ที่สื่อตรงจากใจถึงใจ
เราอาจจะเรียนสิ่งนี้ได้จากเด็กน้อย เด็กทารก ตาแป๋ว มองมาที่เรา ผมสังเกตความแตกต่างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ผู้ชายมีกรอบวัฒนธรรมครอบงำมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายเข้มแข็งแต่เหินห่าง เราจะเห็นผู้หญิงถูกดึงดูดจากเด็กน้อย และเข้าไปหาเด็กน้อยอย่างเป็นธรรมชาติ เชื่อมโยงและมีสัมผัสที่อบอุ่นระหว่างกัน ความสนิทสนมก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
แสดงความคิดเห็น