กล้าที่จะไม่สอน ๒: ไว้วางใจแต่ตรวจสอบได้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มกราคม 2557

เมื่อวันที่ ๑๓ ธค. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรกระบวนการให้กับบริษัทต่างชาติที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง และต้องดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษ เพราะทำให้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เป็นทั้งชาวต่างชาติและคนไทย เรื่องที่ต้องรับผิดชอบในการนำเสนอคือค่านิยมหลักในการทำงานของบริษัทคือ Trust but Verify (ไว้วางใจแต่ตรวจสอบได้) ซึ่งประธานกรรมการบริษัทต้องการปลูกฝังให้เกิดกับพนักงานทุกคนทุกระดับ โดยเฉพาะกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเพื่อเป็นต้นแบบให้กับพนักงานผู้อยู่ในความดูแลทั้งหมด

ก่อนการอบรมสัมมนา ได้มีโอกาสคุยกับประธานกรรมการบริษัท ท่านก็ได้เปรยให้ฟังว่า ท่านอยากจะถ่ายทอดและปลูกฝังค่านิยมหลักทั้งสองนี้ให้กับทุกคนในบริษัท แต่มันยากมาก และก็สงสัยเช่นกันว่าผมจะทำ (สอน/อบรม) อย่างไร ผมก็บอกกับท่านว่า ผมจะไม่สอน ไม่บรรยาย เพราะค่านิยมทั้งสองเรื่องนี้เป็นความคิดรวบยอดสำคัญ (Key Concepts) เป็นมิติภายใน ไม่ใช่การเรียนรู้ภายนอกว่าจะทำอย่างไร (How to) และไม่มีมาตรฐานเชิงพฤติกรรมที่เหมือนกันสำหรับทุกคน ในการนำเสนอของผมจึงจะเน้นที่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเพื่อให้แต่ละคนได้ได้มีโอกาสทำความเข้าใจ เห็นความสำคัญ เชื่อและศรัทธาในค่านิยมหลักทั้งสองเรื่องนี้ผ่านกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาที่สำคัญสามกระบวนการคือ สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้ โดยที่ผู้เข้าร่วมทุกคนรวมทั้งผมและท่านประธานเองต่างก็เป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่มีใครสอนใครในความหมายและตามรูปแบบการสอน/การฝึกอบรมแบบเดิมที่คุ้นชินกัน ท่านก็รับฟังด้วยความสนใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน

การร่วมเรียนรู้ในเรื่อง Trust และ Verify ในวันนั้นดำเนินไปด้วยดี ผู้เข้าร่วมเรียนรู้มีความอิ่มเอิบกับประสบการณ์ตรงที่ได้รับและการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ถึงแม้ในระหว่างทางจะมีเสียงร้องไห้และน้ำตาของผู้เข้าร่วมกระบวนการเป็นระยะๆ แต่ก็จบลงด้วยรอยยิ้มที่มอบให้แก่กันด้วยความไว้วางใจ ถึงขั้นกล้าที่จะร้องไห้และหลั่งน้ำตาต่อหน้าผู้บริหารระดับสูงทุกคน

การแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจและทัศนคติเกี่ยวกับค่านิยมหลักทั้งสองเรื่องของบริษัท ท่ามกลางพื้นที่แลกเปลี่ยนที่มั่นคงปลอดภัย พื้นที่ที่เปิด อบอวลไปด้วยการยอมรับและเคารพระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีชีวิตชีวา

การรู้จัก และเข้าใจเพื่อนร่วมงานอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้นผ่านกระบวนการสำคัญของจิตตปัญญาศึกษา เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความไว้วางใจระหว่างกันและช่วยกันตรวจสอบความคิด ขั้นตอน กระบวนการทำงาน และผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติเพิ่มขึ้น

การไว้วางใจจึงไม่ใช่การปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ และการช่วยกันตรวจสอบจึงไม่ใช่กระบวนการจ้องจับผิด

การไว้วางใจแสดงถึงการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้เกียรติ และเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน

การตรวจสอบ ตรวจทานระหว่างกันเป็นกระบวนการของการช่วยกันสร้างสรรค์ความถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกันของส่วนรวม เป็นกระบวนการสร้างความเที่ยงตรง โปร่งใส และหากปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งและส่วนเดียวกันกับการทำงานตามปกติได้ งานของฝ่ายตรวจสอบก็จะง่ายขึ้นหรือไม่จำเป็นต้องมี

ไว้วางใจ และ ตรวจสอบได้ เป็นค่านิยมหลักสำคัญสำหรับการบริหารจัดการและการทำงานโดยทั่วไป หากไม่มีก็เป็นปัญหา จึงต้องช่วยกันสร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้น

ปัญหาทางการเมืองที่ปรากฏเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากมวลมหาประชาชน ยิ่งไม่มีการตรวจสอบที่เที่ยงตรงโปร่งใสในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ความไม่ไว้วางใจก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น

การถกเถียงกันว่าควรจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือแม้กระทั่งปฏิรูปไปพร้อมๆ กับเลือกตั้ง ไม่สามารถหาข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายได้ ก็เพราะการไม่มีความไว้วางใจระหว่างกันเป็นฐานสำคัญ การอ้างระบอบประชาธิปไตย (ตามการตีความของฉัน) จึงเป็นแค่วาทกรรมทางการเมือง ฝ่ายไหนจะได้รับการยอมรับ เชื่อถือ และศรัทธามากกว่า จึงขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจริงๆ มากกว่ากัน

ความไว้วางใจ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากพฤติกรรม (การคิด พูด ทำ) ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกิดจากความทุ่มเท มุ่งมั่น ตั้งใจ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ตรวจสอบได้ ไม่ปกปิด ไม่คลุมเครือ เปิดเผย โปร่งใส ไม่โกหก ไม่หลอกลวง

ไว้วางใจ และ ตรวจสอบได้ ในฐานะที่เป็นค่านิยม เป็นมิติภายใน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถสอนกันได้โดยตรง ต้องประสบเอง เรียนรู้เอง ปิ๊งแว้บเอง

ผมไม่สามารถสอนให้ผู้อื่นไว้วางใจแม่ผมหรือคนอื่น อย่างที่ผมไว้วางใจได้

เมื่อได้รับการทาบทามให้ไปเป็นวิทยากรกระบวนการเรื่อง ไว้วางใจ แต่ ตรวจสอบได้ ผมรู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เชิญผม ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทรัพยากรมนุษย์ (HR) ของบริษัทถามผมว่า จะมีเอกสารประกอบไหม ผมตอบว่าไม่มี เธอถามว่า มี power point ไหม ผมตอบว่าไม่มี เธอถามอีกว่าจะใช้คอมพิวเตอร์หรือไม่ ผมตอบว่าไม่ เธอถามว่า จะจัดห้องแบบไหน ผมตอบว่า จัดเก้าอี้เป็นวงกลมตามจำนวนผู้บริหารที่เข้า (ประมาณ ๑๒ คน) เธอถามเพื่อความมั่นใจว่า จะใช้ flip chart หรือไม่ ผมตอบว่าไม่ เธอถามตามหน้าที่ต่อว่า จะมีกรณีศึกษาหรือแบบฝึกหัดหรือเปล่า ผมตอบว่า ไม่มี เธอพูดว่า จัดอบรมคราวนี้สบายจัง ไม่ต้องวุ่นวายจัดเตรียมอะไรเลย แล้วอาจารย์จะสอนแบบไหนคะ? ผมตอบว่าผมเลิกสอนมาหลายปีแล้ว แต่จะมีกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน สุดท้ายเธอพูดว่าขอบพระคุณค่ะอาจารย์

Back to Top