ทำไมต้องเจรจากับโจร



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มีนาคม 2557

ย้อนหลังไปเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว ประเทศแอฟริกาใต้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต บ้านเมืองแตกแยกอย่างหนัก มีการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธปีละหลายร้อยครั้ง เป็นผลจากนโยบายเหยียดผิวของรัฐบาลที่สืบเนื่องมาหลายสิบปี คนดำและคนเอเชียถูกลิดรอนสิทธิเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง ไม่สามารถใช้สถานที่สาธารณะร่วมกับคนขาวได้ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และชายหาด อีกทั้งยังถูกกีดกันไม่ให้พักอาศัยในเมืองเดียวกับคนขาว คนขาวซึ่งมีไม่ถึง ๑ ใน ๕ ของประชากรกลายเป็นเจ้าของประเทศทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย เนื่องจากคนผิวสีทั้งหลายไม่มีสิทธิเลือกตั้ง การเหยียดผิวอย่างเป็นระบบดังกล่าวปลุกเร้าให้คนผิวดำลุกขึ้นประท้วง และเมื่อถูกปราบปรามอย่างหนัก จึงหลบใต้ดินและจับอาวุธขึ้นสู้อย่างไม่ยอมลดราวาศอกส่วนรัฐบาลคนขาวก็ยิ่งใช้ความรุนแรงหนักขึ้น กดขี่ปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ซ้ำยังสนับสนุนชนเผ่าซูลูให้บดขยี้กองกำลังของคนดำอีกทางหนึ่งด้วย การปะทะกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าส่งผลให้คนบริสุทธิ์ล้มตายเป็นอันมาก

ปี ๒๕๓๑ แอฟริกาใต้ใกล้เกิดสงครามกลางเมือง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ เนื่องจากถูกประชาคมโลกคว่ำบาตร แทบไม่มีประเทศใดคบค้าสมาคมด้วย แม้กระทั่งในด้านกีฬาและวัฒนธรรมตอนนั้นเนลสัน แมนเดลา ผู้นำคนดำ ถูกจำคุกมาแล้ว ๒๕ ปี เขาเห็นว่าการเจรจาเท่านั้นที่สามารถพาแอฟริกาใต้หลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองได้ จึงพยายามหาช่องทางเจรจากับรัฐบาล หลังจากใช้เวลา ๒ ปี เจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงถึง ๑๒ ครั้ง ก็สามารถเข้าไปสนทนาตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีโบทาและเดอเคลิร์กได้ทั้งๆ ที่ยังเป็นนักโทษอยู่

ผู้นำหลายคนในพรรค ANC (African National Congress)ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของแมนเดลา เพราะเขาเจรจากับฝ่ายรัฐโดยลำพัง ไม่สามารถปรึกษาพูดคุยกับผู้นำคนอื่นๆ ได้เลย (เนื่องจากเป็นนักโทษอุกฤษฏ์ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเกือบสิ้นเชิง) จึงย่อมอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ หลายคนกลัวว่านี้เป็นแผนของรัฐบาลที่ต้องการตอกลิ่มระหว่างแมนเดลากับ ANC บางคนถึงกับระแวงว่าแมนเดลากำลังขายตัว ใช่แต่เท่านั้นเสียงค้านยังมาจากฝ่ายหัวรุนแรงในพรรคที่เห็นว่า มีแต่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเท่านั้นที่จะนำชัยชนะมาสู่คนดำอย่างแท้จริง คนเหล่านี้มองว่าความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ควรหวั่นวิตก เพราะมันคือการปฏิวัติที่กำลังเคลื่อนตัว

อย่างไรก็ตาม แมนเดลากลับมองว่า “ประเทศใดก็ตาม แม้ในยามสงคราม ก็ยังมีเวลาสำหรับการเจรจา” แมนเดลาจึงเดินหน้าต่อไปและสามารถเปลี่ยนความคิดของผู้นำส่วนใหญ่ของ ANC ได้ การริเริ่มของแมนเดลานอกจากจะเปิดลู่ทางให้มีการเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลกับผู้นำANC คนอื่นๆ (ที่อยู่นอกคุก) แล้ว ยังนำไปสู่ข้อตกลงหลายประการที่ผ่อนคลายความรุนแรง อาทิ การปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมทั้งการคืนอิสรภาพให้แก่เมนเดลา ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญคนสุดท้ายที่ได้ออกจากคุก การเลือกตั้งทั่วประเทศในปี ๒๕๓๗ ได้ทำให้อำนาจจากคนขาวถูกส่งผ่านมายังคนดำได้อย่างสันติ โดยปราศจากการนองเลือด นับแต่นั้นแอฟริกาใต้ก็เริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว

ทั้งๆ ที่ต้องเจรจาแต่ลำพังในคุกท่ามกลางเสียงคัดค้านของมิตรสหายและพลพรรค แต่การที่แมนเดลาสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในแอฟริกาใต้ได้โดยสันติวิธี แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของเขา รวมทั้งความมั่นคงในหลักการ ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะตน และความกล้าที่จะทำตามความเชื่อของตนแม้คนอื่นจะเห็นต่าง

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นรัฐบุรุษของแมนเดลา หากยังบ่งชี้ถึงความความหนักแน่นและถี่ถ้วนรอบคอบในทางจริยธรรมของเขา แม้จะไม่สยบยอมต่อรัฐบาลที่ชั่วร้ายโหดเหี้ยม แต่เขาพร้อมจะเจรจาด้วยหากสามารถป้องกันสงครามกลางเมืองหรือหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ น่าคิดว่า หากเขายึดติดกับความถูกต้องอย่างหัวชนฝาถึงขั้นชูธงว่า “ไม่เจรจากับโจร” หรือ “ต้องแตกหักกับคนชั่ว” ผู้คนจะต้องล้มตายกันอีกมากมาย และแอฟริกาใต้คงลุกเป็นไฟอย่างที่นักสังเกตการณ์ทั่วโลกเคยคาดการณ์เอาไว้

การประกาศว่า “ไม่เจรจากับโจร” “ต้องแตกหักกับคนชั่ว” แม้เป็นหลักการที่ดูดี บ่งชี้ถึงความยึดมั่นในความถูกต้อง ไม่ปรารถนาข้องแวะกับคนชั่วร้าย แต่หากยึดมั่นมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียได้ ลองนึกถึงเหตุการณ์โจรจับผู้บริสุทธิ์เป็นตัวประกัน ขณะที่ถูกล้อมด้วยตำรวจซึ่งมีอาวุธครบมือ โจรต้องการเจรจากับตำรวจ แต่หากตำรวจประกาศว่าไม่เจรจากับโจร ต้องแตกหักกับคนชั่ว อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวประกัน แม้ตัวประกันจะตายด้วยน้ำมือของโจร ตำรวจก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย

การยึดมั่นในความถูกต้องนั้นจะมีประโยชน์อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนด้วย โดยเฉพาะถึงขั้นสูญเสียชีวิตและอวัยวะ หากยึดมั่นในความถูกต้องแล้ว คนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องมีอันเป็นไป มันจะเป็นความถูกต้องได้อย่างไร

จะว่าไปแล้วการยึดมั่นในความถูกต้องดังกล่าว แม้ไม่มีใครเดือดร้อนเลย มีแต่ตนเองเท่านั้นที่เดือดร้อน ในบางกรณีก็ใช่ว่าจะสมควรทำ เช่น ถูกโจรเอาปืนจ่อหัวในซอยเปลี่ยวเพื่อปล้นทรัพย์ ควรหรือที่จะ “แตกหักกับคนชั่ว” ถ้าทำเช่นนั้นก็ต้องไม่ยอมยื่นเงินให้เขาตามคำขู่ แต่ต้องขัดขืนต่อสู้ ผลที่เกิดขึ้นคืออะไรก็คงเดาได้ไม่ยาก ผู้มีสติปัญญาย่อมไม่ทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน ถ้าไม่ยอมทำตามคำขู่ของโจร สิ่งที่ควรทำก็คือพยายามเจรจากับโจรเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา หรืออาจเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้

คนที่กล้าประกาศอย่างหนักแน่นว่า ไม่เจรจากับโจร ต้องแตกหักกับคนชั่วนั้น มักเป็นเพราะคิดว่าตนอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ และสามารถมีชัยเหนือโจรและคนชั่วได้โดยไม่ต้องเจรจา ในทัศนะของเขา การเจรจาจะทำให้เขาได้รับชัยชนะไม่เด็ดขาด บรรลุเป้าหมายไม่เต็มร้อย หรือทำให้ชัยชนะที่สมบูรณ์ถูกชะลอออกไป อย่างไรก็ตามน่าคิดต่อไปว่า หากยืนกรานต่อสู้ต่อไป โดยไม่ยอมเจรจา แต่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากขึ้น (จะเป็นฝ่ายไหนก็ไม่สำคัญ เพราะทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าทั้งสิ้น ยิ่งเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่สมควรตาย) การกระทำเช่นนั้นจะเรียกว่าเป็นความถูกต้องได้หรือไม่ ถ้ายึดมั่นในความถูกต้องอย่างแท้จริง ก็ควรคิดถึงผลกระทบอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นจากการกระทำของตนด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ควรคิดถึงแต่ชัยชนะของตนเท่านั้น

ถ้าคิดถึงแต่ชัยชนะของตนหรือผลได้ที่จะเกิดขึ้นกับตน ก็ชวนให้คิดต่อไปว่า แท้จริงแล้ว ที่ทำไปทั้งหมดนั้นเป็นเพราะยึดมั่นในความถูกต้องหรือยึดมั่นในชัยชนะของตนกันแน่ พูดอีกอย่าง เขาทำเพื่อธรรมหรือเพื่ออัตตาตัวตนกันแน่ นี้เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายในความขัดแย้งควรไตร่ตรองมองให้ลึกหากมีจิตใจใฝ่ความถูกต้องอย่างแท้จริง

Back to Top