สร้างสันติท่ามกลางความขัดแย้ง : มุมมองแนวพุทธ



โดย ดร.จอห์น แมคคอแนล*
กลุ่มสันติทำ สัมภาษณ์และเรียบเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มีนาคม 2557

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องภายในสังคมไทย และดำเนินไปสู่ความรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อาสาสมัครสันติวิธีมีโอกาสได้รับฟังประสบการณ์จาก ดร.จอห์น แมคคอแนล ส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนี้สร้างความเข้าใจถึงการสร้างสันติท่ามกลางความขัดแย้ง จากมุมมองแนวพุทธว่าคืออะไร และทำงานอย่างไรในการสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อออกจากสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งเริ่มต้นได้จากตัวเราทุกคน และนี่คือบางส่วนของบทสนทนาในวันนั้น

“ในสถานการณ์ของประเทศศรีลังกาและประเทศไทย ผมไม่อยากแสร้งทำเป็นบอกว่าผมมีสูตรวิเศษ หรือมีคำตอบง่ายๆ อันดับแรก เราต้องคิดว่าในความขัดแย้งนี้ในแต่ละกลุ่มก็มีการพูดคุยกันและสร้างภาพต่างๆ ขึ้นมา ทุกสิ่งเกิดขึ้นในความคิดของพวกเขา (เกิดเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ในใจคนที่เกี่ยวข้อง) นั่นเป็นสิ่งที่ทั้งดีและไม่ดี ที่ไม่ดีเพราะถ้าคุณไม่พอใจหรือกังวลอะไรสักอย่าง จิตของคุณจะจ่อมจมอยู่แต่กับเรื่องนั้นและคาดการณ์ได้ว่าทุกอย่างจะแย่ลง แต่ในทางกลับกัน ในความเป็นจริง โลภะ โทสะ โมหะเป็นอนิจจังอย่างสิ้นเชิง ถ้าคุณรับมือกับมันโดยไม่มีสติ มันจะแย่ลง แต่ถ้าคุณรับมือกับมันด้วยสติ มันจะลดลงอย่างรวดเร็ว

“นั่นคือสิ่งที่การเป็นคนกลางในการเจรจาทำ คุณนำความเข้าใจผิดของแต่ละฝ่ายมา แล้วนำความจริงและความชัดเจนใส่เข้าไปแทน คุณนำความโกรธเคืองของแต่ละฝ่ายมา แล้วสร้างความปรารถนาดีต่อกัน คุณนำความโลภของแต่ละฝ่ายมา แล้วสร้างมุมมองที่เปี่ยมด้วยเหตุผลและขันติ ใส่ใจต่อความต้องการของแต่ละฝ่าย และจากความต้องการของแต่ละฝ่าย เราสามารถหาข้อตกลงร่วมได้

“พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ใส่ใจต่อการสร้างสันติ บางครั้งพระองค์ทำหน้าที่คนกลาง ครั้งหนึ่งมีปัญหาที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่สงฆ์จนกลายเป็นความขัดแย้ง พระแต่ละรูปต่างเต็มไปด้วยความไม่พอใจและเกลียดชังกัน

“พระพุทธองค์พยายามอย่างไม่ลดละที่จะช่วยให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุขด้วยกัน ข้อแนะนำอย่างหนึ่งของพระองค์ในระหว่างที่ความขัดแย้งกำลังลุกลามคือ ขอให้แต่ละคนชื่นชมความดีของผู้อื่น อย่าลืมความดีของพระรูปนั้น อย่าลืมว่านี่เป็นพระอาจารย์สอนธรรมะให้กับท่าน เขาเป็นคนดีมาก เขาสอนธรรมะดีมาก นี่คือพระอาจารย์สอนพระวินัยให้กับท่าน อย่าลืมเสีย ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราลืมไปได้ง่ายมากในความขัดแย้ง เมื่อไปถึงจุดที่คนทำร้ายคนอีกฝ่ายโดยไม่เลือกหน้า คนมักไม่เห็นคุณค่าว่าอีกฝ่ายก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน

“พระพุทธองค์ยังตรัสอีกว่า เมื่อความขัดแย้งรุนแรงขึ้น พวกเธอควรนั่งลงข้างๆ กัน (ลองคิดภาพดูนะครับ นั่งเคียงข้างกัน ไม่ใช่นั่งหันหน้าเข้าหากัน) และคุยกันให้รู้เรื่อง หาทางออกร่วมกัน หาข้อตกลงร่วม และเราจะไม่เดินหน้าต่อไปสู่ความรุนแรง เราจะพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยกัน พระองค์ท่านยังบอกว่า ให้พิจารณาถึงผลของความขัดแย้งด้วย ถ้าเรายังเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ สังฆะจะแตกแยกกัน

“แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย บรรดาสงฆ์ทั้งหลายไม่เห็นด้วยและบอกกับพระพุทธเจ้าว่าขอให้พระองค์ไปนั่งสงบๆ แล้วเราจะรับผิดชอบเรื่องนี้เอง พวกเขาปฏิเสธคำแนะนำของพระองค์ พระพุทธเจ้าก็จากพวกเขาไปจริงๆ ชาวบ้านรอบๆ ก็ไม่ใส่บาตรให้พระ เพราะพวกพระทำตัวไร้ปัญญามาก พระเลยหิวมาก ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น พวกเขาก็ออกเริ่มค้นหาพระพุทธเจ้า เพื่อกราบขอโทษ

“ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง ความขัดแย้งจริงๆ แล้วคือ โลภะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้นในจิตใจคน จุดเดียวที่มันเริ่มก่อตัวขึ้นคือภายในตัวเรา และในความเป็นจริงเราทุกคนต่างล้วนแต่สัมพันธ์กันหมด ทันทีที่คุณเริ่มรู้สึกเป็นศัตรู ผมจะรับรู้ได้ ถึงผมไม่เห็นชัดๆ ผมก็ยังรับรู้ได้ ในทำนองเดียวกัน ทันทีที่คุณเริ่มมีความเมตตา ผมก็จะรับรู้ได้เช่นกัน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกเจ็บปวด เวลาที่อยู่ในสถานการณ์ความตึงเครียดและความขัดแย้ง และด้วยเหตุผลที่เรามีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เช่นนี้เอง เราจึงสามารถใช้มันในทางกลับกันได้ โดยพยายามเอาชนะความหลงที่มาจากความยึดมั่นถือมั่นในตนเอง ด้วยการมีความเข้าใจที่ชัดแจ้ง เอาชนะความโกรธเคือง ด้วยความปรารถนาดี เอาชนะความโลภ ด้วยการใส่ใจต่อความต้องการของทุกๆ ฝ่าย เราทำเช่นนี้ได้ในหลายๆ ระดับ แต่เราจะทำในระดับที่สูงขึ้นไม่ได้ หากเราไม่สามารถทำได้ในตัวเราเอง

“พระพุทธเจ้ายังมีคำแนะนำอื่นๆ เช่น หากคุณต้องการพูดอะไรบางอย่างที่อีกฝ่ายไม่อยากรับฟัง มี ๕ ขั้นตอนที่เราควรทำ

“ขั้นแรกคือ เลือกเวลาพูดให้เหมาะสม ขั้นที่สอง พูดแต่ความจริง โดยไม่มีความเท็จ ไม่ขยายความ ไม่สร้างเรื่อง ขั้นที่สาม พูดอย่างอ่อนโยน ไม่รุนแรง นั่นแปลว่าเราพูดอย่างชัดเจน มั่นคง แต่น้ำเสียงเป็นไปด้วยความเคารพ ขั้นที่สี่ พูดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออีกฝ่าย ให้คำแนะนำในด้านบวก แทนที่จะกล่าวโทษอีกฝ่าย และขั้นสุดท้าย พูดด้วยความเมตตาในใจ

“และผมคิดว่าการบ่มเพาะความเมตตาในใจ เป็นหัวใจของการสร้างสันติ ตอนที่ผมทำงานในศรีลังกา ผมมักจะต้องไปเจอคนที่ทำในสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยเสมอ ในทุกการประชุม ผมจะตั้งสติตอนเดินเข้าประตู ผมจะแผ่เมตตาให้กับตัวเอง ให้กับพวกเขา และให้กับทุกคนที่จะได้รับผลกระทบ

“วัฒนธรรมความขัดแย้งนั้นเต็มไปด้วยพลังทางลบ และมีความบิดเบือนมาก เราจะดีใจมาก ที่เห็นฝ่ายตรงข้ามได้รับบาดเจ็บ เราจะคิดว่าพวกเขาสมควรโดนแล้ว แต่พอฝ่ายเราได้รับบาดเจ็บ เราจะไม่พอใจมาก ดังนั้น สำคัญมากที่ฝ่ายผู้สร้างสันติจะต้องมีสติ มีความเมตตา และบ่มเพาะมันขึ้นมาใหม่เสมอๆ เราไม่สามารถไว้ใจได้ว่าความเมตตาของเราจะคงอยู่ไปตลอด เพราะเราได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ดังนั้น เราจึงต้องบ่มเพาะเมตตาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

“เมื่อดูสถานการณ์ในภาพใหญ่ มันอาจดูเหมือนว่าคุณทำอะไรไม่ได้ จริงๆ แล้วแต่ละคนสามารถทำในระดับเล็กๆ ได้ เราสามารถทำความเข้าใจความขัดแย้งและทำให้สิ่งที่ไม่เป็นจริงลดลง เราสามารถลดความโกรธเคืองที่ก่อตัวขึ้นได้ เราสามารถทำให้คนสนใจไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้นำของอีกฝั่งที่พวกเขาเกลียด แต่เข้าไปสัมผัสกับคนธรรมดาในอีกฝั่งที่ไม่ได้ต่างอะไรไปจากพวกเขาเลย คนที่มีความใส่ใจเหมือนๆ กัน มีคุณค่าเหมือนๆ กัน มีศาสนาเดียวกัน มีความกลัวเหมือนๆ กัน และต่างก็มีความเหมือนกันอยู่ แต่ถูกบิดเบือนไปด้วยความขัดแย้ง ด้วยการให้ข้อมูลผิดๆ หรือให้ข้อมูลที่ขยายความ”



*ดร.จอห์น แมคคอแนล เคยทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาสันติภาพในประเทศศรีลังกา เป็นผู้ศึกษาคำสอนทางพุทธที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายความขัดแย้งและการเยียวยา บทความนี้เรียบเรียงขึ้นจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกับอาสาสมัครสันติวิธีในเมืองไทย

Back to Top