สงครามจิตใต้สำนึก



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 มีนาคม 2557

ในพื้นที่สาธารณะทั้งหลายในเมืองไทยนั้น หากเงยหน้าขึ้นมองไปรอบตัว เราจะพบเห็นป้ายโฆษณาใหญ่น้อยเต็มไปหมด ป้ายเหล่านี้ล้วนตะโกนออกมาดัง-ดังว่า “จงซื้อ” และ “จงครอบครอง” และถ้าเป็นโฆษณาของโรงพยาบาล ข้อความที่แอบตะโกนแบบเรียบร้อยก็คือ “จงป่วย” และ “จงมาตรวจและพบโรค”


เช่นเดียวกับโฆษณาทางวิทยุในต่างจังหวัดและหรือขอบปริมณฑลของกรุงเทพฯ ที่ช่วงเช้าเต็มไปด้วยโฆษณาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ช่วงกลางวันก็เป็นโฆษณาอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่อ้างสรรพคุณเป็นยาและอ.ย.อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ

ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมสังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมแห่งการซื้อ อาหารที่บริโภคก็ปนเปื้อนสารเคมีจำนวนมาก และผู้คนก็วิ่งไปหาหมอเพียงแค่เป็นไข้หวัด

จิตใจของมนุษย์นั้นเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง ดังที่ซิกมันด์ ฟรอยด์เคยเปรียบเทียบไว้ สิ่งที่ปรากฎให้เห็นผ่านความคิด คำพูด และพฤติกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงของสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่เรียกว่าจิตใต้สำนึก

จิตใต้สำนึกนี้ไถ่ นัท ฮันห์ เคยอธิบายไว้ในเล่ม สู่ชีวิตอันอุดม ว่าเป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ หรือเรียกว่าอาลัยวิญญาณ เมล็ดพันธุ์ของจิตใต้สำนึกเหล่านี้เป็นเครื่องกำหนดความคิด คำพูด และพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งหมด การบ่มเพาะและดูแลจิตใต้สำนึกจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

เมล็ดพันธุ์ของความโกรธ/เกลียด/รัก/หลง ฯลฯ ล้วนดำรงอยู่ในพื้นที่จิตใต้สำนึกนี้ หากเรามองเห็นและตระหนักถึงเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ภายในตัวของเราได้ เราย่อมดูแลเมล็ดพันธุ์ทั้งดีและไม่ดีได้ นั่นคือ เมล็ดพันธุ์ของความไม่ดีก็ดูแลไม่ให้เติบโตงอกงามออกไปเป็นความคิด/คำพูด/พฤติกรรม ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะส่งเสริมให้เมล็ดพันธุ์ที่ดีเติบโตงอกงาม


การบ่มเพาะและดูแลจิตใต้สำนึกนี้เกิดขึ้นได้จากการจัดสภาวะแวดล้อมอย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับกระบวนการตรวจติดตามสภาวะภายในของตนเองหรือที่เรียกว่าการดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ/ภาวนา/เจริญสติ

ในสังคมปัจจุบัน ผู้คนใส่ใจและหรือมีความรู้น้อยลงเกี่ยวกับการตรวจติดตามสภาวะภายในของตน การจัดสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เอื้อต่อการบ่มเพาะและดูแลจิตใต้สำนึกที่ดีจึงมีความสำคัญมาก


ในสมัยโบราณ บ้านของคนจีนจะแขวนตัวอักษรที่แสดงถึงคุณธรรมต่างๆ เป็นต้นว่า กตัญญู สัตย์ซื่อ กล้าหาญ ฯลฯ


ที่หมู่บ้านพลัมมีอักษรและคำขวัญที่เชิญชวนผู้คนกลับมาสู่ปัจจุบันขณะติดอยู่ในหลายที่ ทั้งในห้องน้ำ ห้องนอน ห้องภาวนา และในสวน – และเป็นเช่นเดียวกันกับสวนโมกข์ ไชยา และอีกหลายวัดในเมืองไทย

อย่างไรก็ดี สภาวะแวดล้อมปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เต็มไปด้วยข่าวสารจำนวนมาก และมีคุณภาพเชิงลบ หากเราไม่ระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นการเสพข่าวโฆษณาจนกลายเป็นนักบริโภคนิยม หรือเสพข้อมูลข่าวสารความรุนแรง ไม่ว่าจะถ้อยคำ/ความประชดประเทียดเสียดสี กระแหนะกระแหนด่าทอ กระทั่งว่าตัวเราเองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิ่งแวดล้อมนั้นเอง เช่น เป็นต้นตอเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ พูดหรือเขียนประชดประชันแบบรายวัน กระแหนะกระแหนด่าทอรายชั่วโมง – เหล่านี้ล้วนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์จิตใต้สำนึกที่ไม่ดีทั้งนั้น และไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมการประชดประชันกระแหนะกระแหนด่าทอต่อเนื่องรายวันนานหลายเดือน จึงกลายมาเป็นเฮทสปีช (Hate Speech) เป็นปฏิบัติการต่อยตีบนท้องถนน เป็นพฤติกรรมล่าแม่มดด้วยการเปิดเผยชื่อที่อยู่ของศัตรู/เหยื่อให้คนอื่นไปข่มขู่ทำร้ายร่างกายถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน


เมล็ดพันธุ์จิตใต้สำนึกของพวกเราแต่ละคนพอมารวมกันมากเข้าก็กลายเป็นจิตใต้สำนึกแบบรวมหมู่ของสังคม และนำมาสู่การกำหนดกฎกติกาทั้งหลายในสังคม ดังนั้นเอง ถ้าคนหลายคนทำในหลายสิ่งเหมือนกันมากเข้าจนกลายเป็นคุณค่าร่วม เช่น การมองเห็นศัตรูเป็นมารร้ายไม่ใช่มนุษย์ การสะใจในความสูญเสียของเพื่อนมนุษย์อีกฝ่าย เห็นแต่คำตอบแบบขาว-ดำในความขัดแย้งเห็นต่าง เห็นว่าตนเองดีกว่าคนอื่น เห็นว่าคนอื่นทำดีไม่เหมือนตนเอง ฯลฯ เมล็ดพันธุ์จิตใต้สำนึกเหล่านี้ - ไม่ว่าจะอยู่ฟากฝ่ายของความคิดทางการเมืองแบบใด – ก็ล้วนนำพาสังคมไปสู่ทิศทางแห่งความล่มสลายไม่ต่างกัน

สงครามในมหาภารตยุทธนั้น เป็นสงครามทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่สงครามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง หากมนุษย์พ่ายแพ้ต่อจิตใจฝ่ายต่ำ ประกอบด้วยความโลภและความรุนแรง ดังที่พี่ฆ่าน้อง หลานฆ่าปู่ ศิษย์ฆ่าอาจารย์ นักรบมุ่งชัยชนะจนผิดกติกา ลอบทำร้ายกันยามค่ำคืน พราหมณ์ทำร้ายหญิงมีครรภ์ ธรรมบุตรกล่าวเท็จ เหล่านี้ย่อมนำไปสู่หายนะและความพินาศ พระกฤษณะ อวตารแห่งพระนารายณ์ แม้จะเป็นเพียงสารถีรถศึก ก็ยังถูกสาปให้ญาติพี่น้องตนเองเข่นฆ่ากันจนสิ้นวงศ์ ตัวเองก็เสียชีวิตในลักษณาการอันน่าอนาถ


สถานการณ์สังคมไทยปัจจุบันมีผู้เปรียบว่าเหมือนอยู่ในภาวะสงคราม เป็นสงครามทางความคิดและอุดมการณ์ และมีแนวโน้มที่จะเป็นสงครามกลางเมืองได้ อย่างไรก็ดี อนาคตของสงครามกลางเมืองก็ขึ้นอยู่กับสงครามทางจิตสำนึก/จิตวิญญาณในปัจจุบันด้วย

การดูแลจิตสำนึกของความรุนแรงไม่ให้เติบโต และบ่มเพาะจิตสำนึกของสันติวิธีให้งอกงาม ผ่านปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพและระดับปรากฏการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการระมัดระวังความคิด คำพูด การกระทำของเรา/สังคม จึงยังคงเป็นเรื่องจำเป็น

Back to Top