ปลดปล่อยนักเรียน



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557

มีปรากฏในที่สาธารณะหลายครั้งว่า ต้นเหตุหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้เกิดจากระบบการศึกษาที่ผิดพลาดมาช้านาน หากจะป้องกันมิให้เกิดซ้ำ หรือหากจะแก้ปัญหาให้ถาวร จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาครั้งใหญ่

ปฏิรูปการศึกษาไม่พอ ให้ถอนรากถอนโคนแล้วเริ่มใหม่


ระบบการศึกษาที่ผิดพลาดนำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้หลายข้อ จะยกตัวอย่างเพียง ๓ ข้อ

ข้อแรก การศึกษาของประเทศไทยไม่ทำให้นักเรียน นักศึกษา และบัณฑิตรู้จักคิดและรู้วิธีอยู่ร่วมกับความคิดที่แตกต่าง อธิบายว่าในขณะที่เราเรียกร้องให้นักเรียนรู้จักคิด แต่การศึกษาเองที่ส่งสัญญาณห้ามเด็กคิดตลอดมา หนักกว่านี้คือนักเรียน นักศึกษา และบัณฑิตไม่มีประสบการณ์อยู่ร่วมกับความเห็นที่แตกต่างมากพอ

ข้อสอง สืบเนื่องจากข้อแรกที่ว่านักเรียน นักศึกษา และบัณฑิตไม่มีประสบการณ์อยู่ร่วมกับความเห็นต่างที่มากพอ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว หลักสูตรการสอนในประเทศไทยสอนให้รู้เรื่องเดียวและต้องเชื่อเสมอ เนื้อหาที่ปรากฏในหลักสูตรหรือที่ครูสอนเป็นความจริงที่ผู้เรียนไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อไปก่อนเพื่อสอบให้ได้ (หรือเป็นเด็กดีมีวินัย) เมื่อเด็กๆ ทำตัวว่านอนสอนง่ายเช่นนี้ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปีและชั้นอุดมศึกษาอีก ๔-๖ ปี ไม่ว่าจะสาขาวิชาอะไรก็ตาม เราจึงได้บัณฑิตที่คิดต่างไม่ได้หรือถ้าคิดได้ก็ต้องหลบซ่อน (ยังดีที่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คให้ซ่อนตัวอยู่บ้าง)

ข้อสาม สืบเนื่องจากข้อสอง เนื้อหาในหลักสูตรหรือที่ครูสอน คือความจริงที่ถูกสร้างและถูกสถาปนาให้เป็นความจริงหนึ่งเดียวไม่มีอื่น สามารถยกตัวอย่างเนื้อหาในหลักสูตรทุกวิชาของทุกชั้นปีตลอดระยะเวลา ๑๒ ปีได้มากมายว่า เนื้อหาที่มีอยู่ล้าสมัยหรือมีผู้เห็นต่างอย่างไรบ้าง

หากจะยกตัวอย่างให้ทันเหตุการณ์ก็น่าจะเป็นเรื่องความมีอยู่ของอาณาจักรล้านนาในบริเวณภาคเหนือตอนบนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีปฏิสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจที่สุโขทัย อยุธยา หรือกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมาอย่างไร มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการศึกษาไทยมากเพียงใด เป็นต้น

ความผิดพลาดของระบบการศึกษาสามข้อข้างต้น มิใช่ข้อกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย มีหลักฐานสนับสนุนจำนวนมากแต่เราก็ไม่เคยได้อภิปรายถึงหลักฐานเหล่านี้อย่างผู้เจริญแล้วเสียที

ข้อหนึ่ง กฎ ระเบียบ และข้อห้ามเรื่องการแต่งกาย ทรงผม และเครื่องประดับของนักเรียนทุกระดับเป็นรูปธรรมของการใช้อำนาจมิให้เด็กไทยคิด การแต่งกาย ทรงผม และเครื่องประดับมีความสำคัญต่อพัฒนาการบุคลิกภาพส่วนที่ว่าด้วยตัวตนคือ self เด็กที่สามารถกำหนดหรือควบคุมตัวตนหรือ self ได้จึงจะมีความมั่นใจหรือความภูมิใจในตนเองคือมี self-esteem ที่ดี เด็กที่มี self-esteem ที่ดีจึงพัฒนาต่อได้และพัฒนาปัญญาไปได้ด้วย ในทางตรงข้ามเด็กที่ถูกทำลายตัวตนแต่แรกก็จะหยุดพัฒนาตนเองหรือพัฒนาไปในทิศทางที่อำนาจบังคับนั้นกำหนด

ข้อสอง ข้อสอบปรนัยของการศึกษาทุกระดับรวมทั้งข้อสอบระดับชาติของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เป็นรูปธรรมของการสกัดกั้นความเห็นต่างทั้งมวลให้เหลือความจริงที่ถูกสถาปนาแล้วเพียงหนึ่งเดียว แม้จะมีผู้อ้างว่าเหล่านี้เป็นข้อสอบที่มีหลักคิดและคิดอย่างมีวิจารณญาณ แต่ก็ไม่พ้นว่าต้องมีวิจารณญาณตามที่ผู้ออกข้อสอบกำหนดให้


เป็นเรื่องน่ายินดีที่ข้อสอบปรนัยระดับชาติกลายเป็นเรื่องขำขันประจำปีที่คนจำนวนมากเฝ้าติดตามด้วยใจระทึก ว่าจะมีใครออกข้อสอบและคำเฉลยเด็ดๆ อะไรได้อีก แต่ถ้าคนจำนวนมากได้แต่ขำไปทีละปีโดยไม่ลงมือถอนรากถอนโคนระบบการศึกษาเหล่านี้ทิ้ง ข้อสอบเหล่านี้เองจะเป็นเครื่องฉุดรั้งสติปัญญาของเด็กไทยรุ่นต่อรุ่นอย่างน่าเสียใจ

ข้อสาม หลักสูตรประวัติศาสตร์ไทยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการสถาปนาความจริงโดยใช้ผู้เขียนหลักสูตรเป็นศูนย์กลาง และศูนย์กลางนั้นอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น การเขียนประวัติศาสตร์วิธีนี้สร้างความขัดแย้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน การเขียนประวัติศาสตร์วิธีนี้ทำให้คนไทยด้วยกันเองหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ไม่มีที่ยืนอย่างมีเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นล้านนา ปัตตานี หรือบริเวณที่ราบสูงอีสาน ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุด การเขียนประวัติศาสตร์วิธีนี้กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองบุคคลที่นิยมการใช้อำนาจมาอยู่ด้วยกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่คอยกำจัดความคิดที่แตกต่างเสมอมา

อันที่จริง แทบทุกสาขาวิชาก็ใช้วิธีสถาปนาความรู้ให้กลายเป็นความจริงที่ตั้งข้อสงสัยมิได้ ไม่เว้นแม้แต่แพทยศาสตร์ ภายใต้การเรียนการสอนเชิงอำนาจเช่นนี้ ทำให้นักศึกษาสาขาวิชานั้นๆ มีทางเลือกเพียงสองทาง คือสยบต่ออำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและลูกหลานในภายหน้า หรือไม่ก็เป็นผู้มีความเห็นต่างที่เก็บตัวอยู่เงียบๆ (ยังดีที่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คให้พื้นที่กลุ่มแพทย์ที่เห็นต่างได้มีที่ยืนและแสดงออกอยู่บ้าง)

เรื่องแย่ที่สุดของที่สุดเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ นักเรียนยากจนถูกคัดกรองออกจากถนนการศึกษาตลอดเวลา มีแต่นักเรียนที่พ่อแม่มีฐานะสู้ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเรียนกวดวิชาไหวที่สามารถไปต่อได้เรื่อยๆ และท้ายที่สุดแล้วใครทุนหนากว่าเป็นผู้ชนะ


ควรมีการสำรวจว่านิสิตของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงสามลำดับแรกมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร นิสิตแพทย์ในปัจจุบันมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร แม้กระทั่งนักเรียนของโรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดสามลำดับแรกมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร เราจะได้ภาพความเหลื่อมล้ำที่มีหลักฐานชัดเจน

อยากแก้ปัญหาปัจจุบัน เพื่อให้สังคมภายหน้าเราสามารถคิดต่างและอยู่ร่วมกันกับเพื่อนๆ ที่คิดต่างอย่างสันติ ควรลงมือถอนรากถอนโคนการศึกษาไทยวันนี้

มีวิธี ไม่ใช่ไม่มี ครูทุกคนเป็นคนสำคัญ ขอเพียงให้รู้วิธี

Back to Top