ความเป็นฮีโร่กับวิทยาศาสตร์ใหม่

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 30 กรกฎาคม 2548

ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านงานของวงจิตวิวัฒน์คงจะพอเริ่มเข้าใจบ้างแล้วเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันและวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างควอนตัมฟิสิกส์ ส่วนหนึ่งพวกเราตั้งสมมติฐานกันว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ไปติดกรอบกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่า เช่น การมุ่งควบคุมทุกอย่างด้วยอำนาจ การคาดถึงผลที่แน่นอนชัดเจน การแยกส่วนซอยย่อยเป็นกลไกแบบเครื่องจักร ตามที่ อ.หมอประสาน ต่างใจ ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน และท่านอื่นๆ อีกหลายท่านได้เขียนถึงไปบ้างแล้ว

การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่กรอบคิดและใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่เหมือนกับที่ อ.หมอประเวศ วะสี พูดถึงคำพูดของไอน์สไตน์เสมอๆ ว่า “No Problem can be solved from the same consciousness that created it” วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเป็นตรงกันข้าม ที่พอจะเขียนเป็นหลักใหญ่ๆ ได้ก็คือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย เข้าใจความไม่แน่นอนและมองเห็นความเชื่อมโยงของทุกสิ่ง

วิทยาศาสตร์เก่าไม่ได้ผิด เพียงแต่มีข้อจำกัดที่ไม่ได้มองให้เห็นภาพรวมทั้งหมดเหมือนตาบอดคลำช้างที่ได้ภาพเป็นส่วนๆ และมองไม่เห็นความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันของส่วนต่างๆ ที่มากไปกว่าความเป็นกลไกแบบเครื่องจักร

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจร่วมกันในเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยเวลาอีกสักช่วงหนึ่ง แต่ก็จะต้องเป็นไปตามกระบวนการทางวิวัฒนาการ เหมือนเวลาที่เรานั่งอยู่ริมทะเลแล้วมองดูขอบฟ้า เราทุกคนก็จะมองเห็นว่าขอบฟ้ามันโค้งเพราะเรารู้ว่าโลกกลม แต่ทำไมขอบฟ้าขอบเดียวกันนี้คนที่อยู่ในศตวรรษที่ 14-15 ถึงมองไม่เห็นว่ามันโค้งละ? แต่กลับเห็นขอบฟ้าขอบนี้เป็นเส้นตรง ก็เพราะว่าคนในสมัยนั้นคิดว่าโลกแบนนั่นเอง กว่าที่วิทยาศาสตร์ (แบบเก่า) จะพิสูจน์ตรงนี้ให้คนส่วนใหญ่เชื่อได้ก็ใช้เวลาร่วมร้อยปี ตอนนี้จะให้คนเข้าใจวิทยาศาสตร์แบบใหม่ก็คงไม่ง่ายนัก เพราะมนุษย์เราก็เพิ่งจะค้นพบวิทยาศาสตร์ใหม่นี้มาไม่นานเท่าไรนัก การฝังรากลงลึกในความคิดของความเป็นวิทยาศาสตร์เก่าอยู่ในความคิดของมนุษย์นานกว่าสามร้อยปีมาแล้ว

ผมคิดว่าจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องทำความเข้าใจตรงนี้ร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน และบทความในวันนี้ ผมอยากจะเขียนถึงความแตกต่างที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งระหว่างวิทยาศาสตร์เก่าและวิทยาศาสตร์ใหม่ที่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ ก็คือ “ความเป็นฮีโร่”

วิทยาศาสตร์เก่านั้นจะเชื่อความเป็นฮีโร่ นิยมความเป็นฮีโร่ เพราะภายใต้กรอบคิดแบบนิวตันนั้น (F=ma) การออกแรงมากย่อมเกิดการเคลื่อนที่มาก ออกแรงน้อยย่อมเกิดการเคลื่อนที่น้อย ฮีโร่คือคนที่สามารถออกแรงได้มาก สังคมจึงต้องการฮีโร่เพื่อมาขับเคลื่อนสังคมให้เคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต้องการผู้นำที่เข้มแข็งอะไรประมาณนั้น แนวคิดเรื่องนี้ไม่ได้ผิด แต่เป็นความถูกต้องเฉพาะกับวัตถุและมีข้อแม้อีกหนึ่งข้อก็คือ วัตถุชิ้นนั้นจะต้องเป็นวัตถุที่มีความเร็วไม่มากไปกว่าความเร็วของแสงเท่านั้น ทั้งยังใช้ไม่ได้กับวัตถุเล็กๆ ในระดับอะตอมอีกด้วย

มีข้อสังเกตตรงนี้ว่า “คนและสังคมเป็นสิ่งมีชีวิต” การใช้แนวคิดแบบกลไกนี้กับคนและสังคมจึงอาจจะใช้ไม่ได้ (มั๊ง)

วิทยาศาสตร์ใหม่โดยเฉพาะทฤษฎีไร้ระเบียบนั้นบอกว่า ในระบบที่มีความไร้ระเบียบนั้นจะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบได้โดยเกิดจากการเปลี่ยนของจุดเล็กๆ ในระบบ ผ่านวงจรขยาย (Amplify Loop) คล้ายๆ กับเครื่องขยายเสียง เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Butterfly Effect” หรือคำพูดที่ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า “ผีเสื้อขยับปีกที่ปักกิ่งแล้วทำให้เกิดพายุทอร์นาโดที่ฟลอริด้า” ตามแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่การเปลี่ยนแปลงของระบบจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ฮีโร่” แต่จะขึ้นอยู่กับจุดเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกันเป็นชุมชนแล้วขยายผลตามเหตุตามปัจจัยที่เหมาะสม

ยกตัวอย่างเช่นกำแพงเบอร์ลินที่พังทลายลงได้ มิใช่เพราะฮีโร่แบบปัจเจก หากแต่เป็นเพราะชุมชนเล็กๆ ในเยอรมันเกิดการรวมตัวกัน กฎหมายที่ให้สิทธิ์เท่าเทียมกันเรื่องผิวสีในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นมาได้ในช่วงทศวรรษ 60 ก็มิใช่เพราะฮีโร่ แต่เป็นเพราะผู้หญิงผิวดำบ้านนอกธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจไม่ยอมลุกขึ้นให้ที่นั่งกับคนขาวบนรถเมล์ในวันหนึ่ง แล้วเกิดการรวมตัวของคนผิวดำจำนวนมากมายที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและปรากฏการณ์อื่นๆ ในธรรมชาติล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความจริงในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

วิทยาศาสตร์ใหม่จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ฮีโร่” มากไปกว่าการเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม นอกจากนี้ ถ้าเราดูดีๆ การปรากฏตัวของ “ฮีโร่” กลับจะเป็นการรบกวนและอาจจะถึงขั้นทำลายกระบวนการที่ควรจะเป็นไปในระบบตามที่ควรจะเป็นไปด้วยซ้ำ เพราะ “ฮีโร่” มักจะใช้อำนาจ เมื่อใช้อำนาจก็ย่อมเกิดความไม่เท่าเทียม รบกวนระบบและยังจะทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นตามมามากมาย

ปีเตอร์ เซ็งเก (Peter Zenge) ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการบริหารงานธุรกิจหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือที่ชื่อ The Fifth Discipline ที่โด่งดังมากร่วมกับโจเซฟ จาวอร์สกี (Joseph Jaworski) ผู้เขียนหนังสือชื่อ Synchronicity และยังเป็นผู้ก่อตั้ง ALF (American Leadership Forum) ที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกาและออตโต ชาร์มเมอร์ (Otto Scharmer) กับเบ็ตตี้ ซู ฟาวเวอร์ (Betty Sue Flowers) ทั้งสี่คนนี้ได้ร่วมกันเขียนหนังสือที่น่าสนใจมากๆ เล่มหนึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อกลางปี 2004 นี้เอง ชื่อ Presence ในหนังสือเล่มนี้เขียนว่า “ความเป็นผู้นำแบบฮีโร่” นั้นอาจจะมีความจำเป็นในอดีต ประมาณว่าแบบประเทศจีนเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน แต่อาจจะ “ไม่ใช่” สำหรับยุคสมัยปัจจุบันเสียแล้วและในหน้าที่ 191 ของหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า “ความเป็นผู้นำในโลกอนาคตอันใกล้นี้ควรจะเป็นเรื่องของกลุ่ม สถาบัน ชุมชนหรือเครือข่าย ไม่ใช่ความเป็นผู้นำแบบปัจเจกบุคคลเหมือนกับที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป

ในมุมมองแบบนี้การก่อเกิด “ความเป็นผู้นำ” จึงไม่ใช่อยู่ที่ “ตัวตน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใดคนหนึ่ง หากแต่จะอยู่ที่ “พลังงานของกลุ่ม” เป็น “พลังงานที่ซ่อนเร้นอยู่” ที่พลังงานเหล่านี้สามารถ “ผุดบังเกิด” หรือ “โผล่ปรากฏ” ออกมาได้ก็ต่อเมื่อมี “กระบวนการ” ที่เหมาะสม ได้แก่ การอยู่กับปัจจุบัน การใคร่ครวญร่วมกัน การรับรู้และรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ความเท่าเทียมและการแขวนการตัดสิน

ด้วยความเข้าใจแบบนี้ ความเป็นผู้นำแบบวิทยาศาสตร์ใหม่จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “ฮีโร่” ในความหมายแบบเก่าที่เข้าใจกันมาตลอด ด้วยความเข้าใจใหม่แบบนี้เราก็จะมองเห็นได้ว่า “ความเป็นผู้นำ” ไม่จำเป็นจะต้องอาศัย “ฮีโร่” (ที่มีแรงมากเพื่อออกแรงมาก) อีกต่อไปหากแต่ต้องการ “ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน” แล้วไว้ใจให้ “สาระสำคัญของความเป็นผู้นำ” ผุดบังเกิดออกมาในเวลาที่เหมาะสม

ผมคิดว่าพวกเราได้มาถึงยุคที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ใหม่ให้เหมาะสมกันแล้ว มิเช่นนั้นเราก็คงจะมิอาจแก้ไขปัญหาใดๆ ได้เลย ถ้ายังคงมีกรอบคิดแบบเดิมและใช้อำนาจแบบฮีโร่ในสมัยก่อน

Back to Top