โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2548
๑เวลาผมเล่าเรื่องของชีวิต ผมจะเริ่มต้นบ่อยๆ ว่า ครั้งหนึ่งในปี ๒๕๑๘ ที่วัดผาลาด ทางขึ้นดอยสุเทพ เชียงใหม่ ผมได้มีโอกาสรับใช้พระเถระรูปหนึ่งอย่างใกล้ชิด ไม่แน่ใจนักว่าท่านรับใช้ผม หรือผมรับใช้ท่านกันแน่? ท่านผู้นั้นคือ ไถ่ นัท ฮันห์
คำว่า ไถ่ เป็นภาษาเวียดนาม เป็นคำเรียกครูของเราอย่างสนิมสนมใกล้ชิดประสบการณ์บางอย่างจะอยู่เหนือคำบรรยาย ประสบการณ์ที่ผมได้เจอะเจอท่านและอยู่กับท่านก็เช่นกัน มันเป็นความทรงจำที่สามารถดึงกลับมาเป็นภาพ เหมือนกับว่าได้กลับไปอยู่ในประสบการณ์นั้นอีกครั้ง และมันจะอยู่กับเราไปอีกตลอดชีวิต ชีวิตของท่านได้มาดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว และเป็นหน่อเชื้อที่เติบโตไปได้ตลอด หากเรารู้จัดรดน้ำพรวนดิน
๒ประสบการณ์ทางศาสนาหรือการแสวงหาทางจิตวิญญาณมีแบบจำลองอยู่ในการรับรู้ของเราอย่างไร?
เรามองโลกมนุษย์ว่า "ดีแล้วกลับมาเสื่อมทราม เสื่อมทรามแล้วก็กลับมาดี" วนเวียนไปมาอยู่กับที่เช่นนี้หรือไม่ หรือว่าวนเวียนอย่างบันไดเวียน คือว่ามันจะเวียนขึ้นไปที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า? ถึงจะแย่ลงอย่างไร โดยรวมก็จะขยับไปในทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา
เราจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด เราวัดการเจริญทางธรรมได้หรือไม่? หรือแท้จริงไม่ต้องวัด เพียงให้แต่ละคนเฝ้าดูตัวเอง
๓เรามีพื้นได้เรียนรู้จากท่านพุทธทาสมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่มาแล้ว ในเรื่องของการนำธรรมอันลึกซึ้งเข้ามาในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ไม่เอาธรรมะไปใส่ไว้บนหิ้ง หากนำลงมาไว้ในชีวิตผู้คนที่ใช้ชีวิตวันต่อวัน พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ทำให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น และท่านนัท ฮันห์ ได้เชื่อมโยงมิติของการทำงานเพื่อความดีงามทางสังคมเข้ามาอีกด้วย นั่นเป็นอะไรที่ผมได้จากการพบท่านเป็นครั้งแรก
๔ถ้อยคำของท่านก็ล้วนมีแต่การให้อภัย นั่นเป็นประสบการณ์ที่ผมได้จากการแปลบทละคร
ทางกลับคือการเดินทางต่อ ของท่าน ร่วมกับเพื่อนคือ สันติสุข โสภณสิริ
ภายหลังมา ท่านยังมีความเห็นว่ากระบวนการชาวพุทธในเวียดนามใต้ ซึ่งสามารถล้มรัฐบาลได้หลายรัฐบาลนั้น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ท่านอยากให้ชาวพุทธให้โอกาสแก่รัฐบาลฝ่ายขวาเวลานั้นมีพื้นที่และเวลาในการทำงานมากกว่านั้น
เมื่อพี่เฟิง หรือเวลานี้คือภิกษุณีจันคัม อกหักจากการทำงานเพื่อโบตพีเพิลหรือชาวเวียดนามที่อพยพออกมาจากเวียดนามใต้ทางเรือหาปลาเล็ก-ใหญ่ ท่านนัท ฮันห์ ได้พาพี่เฟิงเดินไปในท้องทุ่งของฝรั่งเศสตอนใต้ แหล่งผลิตไวน์ชั้นเลิศ ครั้งละสองสามชั่วโมง ท่านบอกพี่เฟิงว่า
เราต้องดูแลความโกรธเกลียดในตัวเราให้เบาบาง จึงจะกลับไปทำงานช่วยผู้คนได้๕เรื่อง store consciousness หรืออาลัยวิญญาณ (ที่พำนักแห่งวิญญาณ) นั้นเป็นประเด็นสำคัญเมื่อท่านถอดคัมภีร์โบราณออกมาใช้ให้เข้าได้กับยุคสมัย มันคล้ายคลึงซ้อนทับอยู่กับเรื่องจิตไร้สำนึก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเลยเสียทีเดียว
จิต (หรือสมอง - อันนี้พูดอย่างสมัยใหม่แล้วและเป็นการตีความของผมเอง) ได้สร้างเครื่องไม้เครื่องมือทางจิตขึ้นมาเป็นเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ทั้งบวกและลบ คล้ายๆ เครื่องมือทางซอฟแวร์ที่เอาไว้ใช้เขียนซอฟแวร์อีกทีหนึ่ง เหมือนวิธีวิทยาที่เอาไปใช้ในการหาความรู้อีกทีหนึ่ง หรือเหมือนกระบวนท่าในหมัดมวยที่เอาไปก่อประกอบพลิกแพลงกระบวนยุทธในการต่อสู้อีกทีหนึ่ง
มันเป็นสถาบันแห่งจิตต่างๆ ในแง่มุมที่เป็นการปฏิบัติ ที่ดำเนินไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดเป็นวิถีที่คุ้นเคย กลายเป็นนิสัยหรือวินัยขึ้นมา แบบข้ามรุ่นคนไปหลายชั่วคน สั่งสมอยู่ในจิตไร้สำนึกของมนุษยชาติ ในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน มันจะเป็นทั้งบวกและลบ แต่จะใช่เจตสิกในอภิธรรมของทางเถรวาทหรือไม่ เรื่องนี้ต้องไหว้วานผู้รู้ท่านอื่นๆ ช่วยไขความ
ท่านนำเสนอเป็นเรื่องของคนสวนคือตัวเรา หรือมโนสำนึก หรือ consciousness หรือจิตสำนึก ทำการเพาะปลูก รดน้ำ พรวนดิน พีชะต่างๆ หรือพืชต่างๆ ถ้าจะให้เข้าใจอย่างง่ายๆ หากเราไปรดน้ำ ใส่ปุ๋ย
พรวนดิน ต้นโกรธบ่อยๆ สวนของเราก็จะรกไปด้วยต้นโกรธ ตรงกันข้าม ถ้าเราดูแลรักษาต้นเมตตากรุณา ต้นสติต้นเหล่านี้ก็จะงอกงามหนาตาในสวนของเรา ต้นเมตตากรุณานี้ให้ความร่มรื่นแก่จิตใจของเราเองด้วย คำอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือ สู่ชีวิตอันอุดม ของท่าน ที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แปลมา ใครสนใจในรายละเอียดย่อมหาอ่านได้
๖ศาสนจักรหรือองค์กรจัดตั้งทางศาสนาเป็นประเด็นที่ผมเฝ้ามองชุมชนของท่านอยู่ด้วยความระมัดระวัง
ดร.จารุพรรณ บอกกล่าวกับผมว่า เธอไม่รู้สึกเรียกร้องว่าผมจะต้องแสดงความกระตือรือร้นที่จะไปติดตามเฝ้าแหนคณะของท่าน ทั้งเมื่อมีท่านมาและไม่มี เธอว่าผมมีเมล็ดพันธุ์ของท่านอยู่ภายในแล้ว
มันคงคลี่บานไปตามกาลของมัน จารุพรรณเองก็อยู่ในกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งธรรมชาติของกลุ่มนี้จะเน้นรูปแบบการจัดตั้งที่น้อยที่สุด เน้นความเป็นเครือข่ายมากกว่าความเป็นองค์กร ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปในแนวนอนแห่งความเท่าเทียมกันมากกว่าความสัมพันธ์ในแนวตั้งที่มีตำแหน่งแห่งที่และเรื่องของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง
องค์กรของท่านนัท ฮันห์ เป็นองค์กรจัดตั้ง เป็นศาสนจักรที่มีการจัดตั้ง มีการลดหลั่นกันของฆราวาส บรรพชิต มีการลดหลั่นกันของวงนอกวงใน และทั้งหมดมีวิถีปฏิบัติเหมือนกันหมด ซึ่งกลั่นกรองมาจากท่าน
แม้จะให้ความเป็นกันเองและเท่าเทียมกันมากขึ้นอย่างไร แต่ก็ยังมีการลดหลั่น ยังมีความไม่เท่าเทียมซึ่งเป็นธรรมดาของการจัดองค์กรในยุคที่ผ่านมาและในยุคนี้ แต่พวกเราในเครือข่ายที่ทำร่วมกันอยู่ ให้ความสำคัญกับ “องค์กรจัดการตนเอง” และ “collective leadership” หรือผู้นำแบบสมุหภาพหรือรวมหมู่
ซึ่งมีความแตกต่างออกไป แม้กระนั้น เราก็ยังเชื่อในความลดหลั่นทางธรรม เพียงแต่เราไม่เอาความลดหลั่นนั้นมากำหนดโครงสร้างทางอำนาจ คนที่เข้าถึงธรรมเสียอีกที่จะอยู่ด้านล่างของโครงสร้าง และทำหน้าที่ เป็นผู้นำผู้รับใช้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและคุยได้ยาวมาก
แต่ที่สุดแล้ว ท่านคือเพชรเม็ดเอก และองค์กรจัดตั้งของท่านก็คงจะสรรค์สร้างอะไรให้แก่โลกนี้อีกมากมาย
แสดงความคิดเห็น