จากมายาคติสู่มายากล:
จากภาพลวงตาของชีวิต สู่โรคจิตสำนึกบกพร่อง

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2548

ชื่อของบทความนี้มีลักษณะที่เป็นอุปมาอุปไมย ต้องการสื่อให้มีความหมายและจินตภาพที่กว้างและยืดหยุ่น ไม่มีเจตนาที่จะสื่อว่ามายากลเป็นสิ่งไม่ดี หรือนักมายากลเป็นคนเลว เพราะนักมายากลเขารู้ตัวว่าเขากำลังทำสิ่งต่างๆ ให้ดู “เสมือนจริง” เพื่อสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับผู้ชมการแสดง นักมายากลเป็นอาชีพหนึ่งของการแสดง ถ้าแสดงได้ดีก็จะได้รับการยอมรับจากผู้ชมว่าเป็นนักแสดงมืออาชีพ

แต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของรัฐในทุกระดับและทุกประเภท ไม่ใช่นักแสดง ประชาชนไม่ต้องการความประทับใจหรือความประหลาดใจจากการแสดงให้ดูเสมือนว่าจริง เฉกเช่นเดียวกับนักมายากล ประชาชนต้องการผู้บริหารที่เป็นคนดี มีคุณธรรมจริง

ประชาชนต้องการผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของรัฐทำงานเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และของประเทศชาติที่แท้จริง

ประชาชนไม่ต้องการเห็นการแสดงที่ดูเสมือนว่าท่านเป็นคนดี มีคุณธรรม ทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ เพราะการแสดงเก่งไม่ใช่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้แสดงเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว บ่งบอกแต่เพียงว่าท่านแสดงเก่ง เป็นมืออาชีพทางการแสดงเท่านั้น

ความดี ความมีคุณธรรม การเป็นคนดี การเป็นคนมีคุณธรรม เป็นเรื่องภายในของคนๆ นั้น ที่วิวัฒน์มาจากการเรียนรู้ การได้รับการอบรมสั่งสอน ภายใต้บริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน และสำแดงออกมาเป็นพฤติกรรมภายนอกให้ผู้อื่นได้รับรู้

ถ้าพฤติกรรมภายนอกที่ปรากฏสอดคล้องกับพฤติกรรมภายใน คือการคิดถูกคิดชอบ ที่มาจากความคิดที่ถูกที่ชอบ ก็น่าจะสรุปได้มั่นใจพอควรว่า ดี “จริง” ไม่ใช่แค่ดูดี “เสมือนจริง”

ถ้าพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมา เกิดจากการคิดที่ไม่ถูกไม่ชอบ ที่มาจากความคิดที่ไม่ถูกไม่ชอบ แล้วเสแสร้งหรือมีเจตนาแสดงให้ดูเสมือนว่าท่านเป็นคนดี มีคุณธรรม มีความคิดและเจตนาที่ดีต่อผู้อื่นต่อประเทศชาติ

ท่านก็ไม่ใช่ผู้บริหาร หรือไม่ใช่พนักงานของรัฐในความหมายที่ควรเป็น ท่านเป็นแค่ผู้ประกอบอาชีพมายากล ที่แม้แต่นักมายากลมืออาชีพที่แท้จริงก็ไม่ยอมรับให้ร่วมสถาบัน


มาเป็นคนดี คนมีคุณธรรม ด้วยการคิดดี คิดถูก คิดชอบต่อสรรพสิ่ง ต่อประเทศชาติ ต่อชุมชน ต่อครอบครัว ต่อตนเอง และต่อมวลมนุษยชาติ ด้วยการสำแดงออกทางการกระทำอย่างมีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม

แล้วท่านจะเป็นคนดี คนเก่ง ที่อยู่ในใจของประชาชนตลอดไป เป็นรัฐบุรุษ เป็นรัฐสตรีของประเทศและของโลกที่จะถูกจารึกไว้

และที่สำคัญท่านจะเป็นเชื้อดี สิ่งแวดล้อมดี เป็นตัวแบบที่ดีให้แก่ลูกหลานและเยาวชนในรุ่นถัดๆ ไป

มาช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์ของความดีให้ทั่วแผ่นดิน

มาช่วยกันสร้างความชุ่มชื่น เย็นฉ่ำ และเติมปุ๋ยชีวธรรมชาติ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเหล่านั้นได้เจริญเติบใหญ่ด้วยความมั่งคงอย่างยั่งยืน ... จะดีไหม ?

มาใช้สมองส่วนหน้าให้มากกว่าสมองส่วนใน สร้างจิตสำนึกใหม่ ที่วิวัฒน์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ... จะดีไหม ? (แม่ขอร้อง)

เมื่อไหร่มนุษย์จะ “ตื่นรู้” ด้วย “ปัญญา” ไม่ใช่แค่ “ตื่นเต้น” และ “ตื่นตัว” แล้ว “เต้นตาม” กับ “ความรู้” ที่อ้างว่า “ใหม่” และ “ทันสมัย” แล้วยึดเป็นสรณะ เป็นวิถีดำเนินชีวิต

เพราะ “ความรู้” จำนวนมากมาจากฐานคิดที่ไม่ถูกต้อง ความรู้จำนวนมากมาจากมายาคติ

ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะรู้เท่าทัน เราก็จะ “หลง” และ “ไหล” ไปตามกระแสของความรู้ใหม่ที่เสมือนจริง แล้วเราก็ “ไหล” และ “หลง” อย่าง “หลงใหล” กับ “สังคมฐานความรู้” (Knowledge Based Society) และ “เศรษฐกิจฐานความรู้” (Knowledge Based Economy) จนทำให้เราขาด “เสรีภาพทางความคิด” ขาด “อิสรภาพทางปัญญา” เพราะเราได้พัฒนากลไกที่เสมือนจริงขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ จากฐานคิดเศรษฐกิจสุดโต่ง มายาคติที่ครอบงำไปทั่วโลก

ตัวอย่างกลไกหรือมายากลที่ผู้ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในคุกความคิดเศรษฐกิจสุดโต่ง ที่เรียกใหม่ให้ดูดีว่า เศรษฐกิจฐานความรู้ พัฒนาขึ้นมาอย่างแนบเนียน อย่างซ่อนเร้นเจตนาที่ถูกชักพาด้วยอคติ อวิชชา และกลายเป็นมายาคติในสังคมฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้ ได้แก่


  • ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม
  • การค้าเสรีและข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่เน้น “การค้าเสรี” มากกว่า “ความยุติธรรม” เน้น “สินค้าและความสะดวก (ความได้เปรียบ) ทางการค้า” มากกว่า “คนและศักดิ์ศรีของคน” เน้น “คนรวย/คนมีทุน” มากกว่า “คนจน คนด้อยโอกาส” เน้น “ความได้เปรียบ/เสียเปรียบ” มากกว่า “ความเท่าเทียม/เสมอภาค” เน้น “การแข่งขัน” มากกว่า “การร่วมมือ” เน้น “ประโยชน์ของฉัน” มากกว่า “ประโยชน์ของเรา” ... (ผู้อ่านลองคิดดูว่า บนโต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ผู้แทนของแต่ละประเทศที่ร่วมเจรจา เขาคิดและเจรจาด้วยสมองซีกซ้าย หรือซีกขวามากกว่า เขาคิดและเจรจาด้วยสมองส่วนนอกหรือสมองส่วนในมากกว่า เขากำลังแสดงบทบาทสมมติ (Role Play) ตามบท (Script) ที่เขาได้รับให้เล่น (มายากล) หรือเขากำลังสะท้อนความเป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีเจตนาที่ดีต่อกัน
  • ระบบมาตรฐานคุณภาพระบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาและใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาต่อรองทางการค้า เป็นเรื่องที่เน้นคุณภาพจริงๆ หรือเน้นการป้องกันความเสียเปรียบทางการแข่งขัน และในการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ เป็นการปฏิบัติด้วยจิตสำนึกคุณภาพ (Quality Mind) หรือแค่ทำตามระบบ


มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านลองช่วยกันคิดดูว่ายังมี “มายากล” อะไรอีกบ้าง ที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักบริหารที่ได้รับการยอมรับระดับโลกว่าเป็น “เซียน” เป็น “กูรู” เป็น “ปรมาจารย์” เขาสร้างขึ้นมาครอบงำระบบการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อระบบสังคมและวัฒนธรรมของคนทั่วโลก

ยังมีกลไก ระบบ หรือมายากลอะไรที่ผู้รู้เหล่านั้น ที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่า “จอมขมังเวทย์” เหล่านั้นเสกสรรขึ้นมา จนทำให้โลกของเราสับสน ปั่นป่วน และไร้ระเบียบอย่างผิดธรรมชาติ อย่างผิดทำนองคลองธรรม คุณธรรมจริยธรรมของคนในโลกเสื่อมถอยลง ทรัพยากรทางธรรมชาติถูกทำลายล้างเพิ่มมากขึ้น ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมรุนแรงมากขึ้น

ถ้าท่านคิดได้คิดออก ช่วยส่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบ้าง

เราปล่อยให้นักมายากลเขาเล่นมายากลเพื่อเลี้ยงชีพโดยสุจริตต่อไป

ส่วนนักวิชาการ นักคิด นักบริหารและผู้นำองค์กรต่างๆ และโดยเฉพาะของรัฐ ไม่ควรจะไปแสดงมายากลแข่งกับนักมายากล ด้วยการเป็นนักมายากล ที่เล่นแร่แปรธาตุ ที่มีเจตนาจะแปลและแปลงกฎหมาย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและ “พวกพ้อง”

พวกเรามาช่วยกันสร้างแร่แปรธาตุ เพื่อเพื่อนมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม จะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จะดีกว่าไหม ? (พระแม่ธรณีขอร้อง)

มาช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์ของความดีให้ทั่วแผ่นดิน

มาช่วยกันสร้างความชุ่มชื่น เย็นฉ่ำ และเติมปุ๋ยชีวธรรมชาติ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเหล่านั้นได้เจริญเติบใหญ่ด้วยความมั่งคงอย่างยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย

Back to Top