หมดเวลาฝัน - มาสร้างสังคมใหม่กันเถอะ

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2548

ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนที่ห่วงใยลูกหลานห่วงใยประเทศชาติ ที่ไล่ไปถึงห่วงใยต่ออนาคตของเผ่าพันธุ์ ย่อมต้องรู้ว่าสังคมมนุษย์กำลังตกอยู่ท่ามกลางอภิปัญหามหาวิกฤติรอบด้านโดยไม่จำเป็นต้องสาธยายอะไรเพิ่มเติมอีก พร้อมกันนั้น สิ่งแวดล้อมธรรมชาติหลากหลายก็ล้วนตกอยู่ในสภาพเลวร้ายอย่างสุดๆ ด้วยสาระพันมลภาวะที่มนุษย์เราสร้างขึ้นจากการพัฒนาสังคมด้วยเทคโนโลยีเพียงหนึ่งร้อยกว่าปี จริงๆ แล้วหลายๆ คนยังรู้ว่าความเลวร้ายต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญหน้า - ที่ยังจะหนักหนาสาหัสยิ่งๆ ไปกว่านี้อีกมากนักในเวลาไม่ช้าไม่นานนับจากวันนี้ - จะนำพาเราไปสู่สภาวะชะงักงันของวิวัฒนาการของมวลชีวิตของโลก (mass global spasm or extinction) อีกครั้งหนึ่งหลังจาก ๖๕ ล้านปีก่อนที่ความชะงักงันระดับโลกได้ทำลายไดโนเสาร์ไปทั้งเผ่าพันธุ์ เราหวังกันว่าประวัติศาสตร์จะไม่ทับซ้ำรอยเดิม มนุษยชาติคงไม่จบสิ้นไปทั้งเผ่าพันธุ์เช่นไดโนเสาร์ เราหวังว่ามนุษยชาติจะสามารถตื่นและเปลี่ยนแปลงได้ทัน ฉะนั้นเราจึงหวังยิ่งกว่านั้นว่าท่ามกลางมหันตวิกฤติโลกในครั้งนี้ เราจะสามารถผ่านไปได้อย่างรอดปลอดภัย - อย่างน้อยด้วยจำนวนประชาโลกจำนวนหนึ่ง - แต่ที่กล่าวมานั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอะไรเลย เราต้องทำและคงต้องทำมากด้วย บทความนี้จะเป็นข้อเสนอแนะการปฏิบัติวิธีหนึ่งที่ผู้เขียนได้เริ่มกระทำไปบ้างแล้ว (ส่วนมากโดยหลักการ) ที่จะกล่าวถึงในช่วงหลังของบทความนี้

วลีแรกของชื่อที่ตั้งไว้ข้างบนนั้น สำหรับนักคิดที่คิดเป็น เชื่อว่าคงไม่ใครหลงทางแล้วเข้าใจไปเองอย่างผิดๆ จากการมองเห็นและแปลสิ่งที่ถูกเห็น - ที่ตั้งอยู่ข้างนอกนั่นไง - หรือเห็นมายาภาพลวงตาว่าเป็นความจริงแท้ ดังนั้น ณ วันนี้ มนุษย์เราส่วนนี้จึงหมดเวลาฝันไปแล้วจริงๆ ส่วนวลีที่สองของบทความนี้ เป็นเรื่องของสังคมใหม่ที่เราจะต้องร่วมกันสร้างมันขึ้นมา และโดยรีบด่วนด้วย ดังที่ ธอมัส เบอร์รี กล่าวไว้ว่า สังคมมนุษย์จะดำรงคงอยู่ในอนาคตได้หรือไม่ ขึ้นกับว่ามนุษย์เราสามารถอยู่ร่วมกัน เข้าใจกัน และสื่อสารกันได้อย่างลึกล้ำกับธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงได้หรือไม่ (Thomas Berry: The Dream of the Earth, 2003) แต่ผู้เขียนคิดว่า เราต้องไม่เพียงเอาแต่ "ฝัน" แค่นั้น แต่เราต้องร่วมใจกันมุ่งมั่นปฏิบัติให้มันเป็น "จริง" ให้ได้ ถ้าหากเราต้องการให้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์อยู่รอด มนุษยชาตินะครับ ไม่ใช่คนไทยหรือคนอเมริกัน หรือคนยิวคนปาเสลไตน์ อันเป็นธีมที่นำหน้าที่สุดธีมหนึ่งของผู้เขียนมาร่วม ๑๔ ปี

สังคมอนาคตของมนุษยชาตินั้นจะต้องเป็นสังคมแห่งความรักเมตตาการให้อภัยกัน อันจะยังความสงบที่พอเพียงพอดีและยั่งยืน (ในมาตรของความเป็นธรรมชาติ) นั้นคือสังคมแห่งความงามพร้อมของพลาโตที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะประกอบด้วยคุณสมบัติสามข้อและยุทธศาสตร์หรือระบบการบริหารอีกหกระบบหรือหกประการ

คุณสมบัติอันเป็นคุณค่าของสังคมด้วยนั้น จะประกอบด้วย หนึ่ง ความงามหรือสุนทรียทัศน์ (aesthetics or the beautiful) สอง ความเขียวชะอุ่มจากนิเวศทัศน์ (the green or egocentrism) และ สาม สังคมที่มีวิวัฒนาการของจิตวิญญาณหรือธรรมจิต (spirituality) ของประชาชนโดยรวม - อย่างน้อยก็ที่ระดับล่างสุด - ที่ระดับแห่งความยุติธรรม (justness) และที่กล่าวมานั้น หากอยู่เฉยๆ คงเกิดขึ้นมาเองไม่ได้ นอกจากทำให้มันโผล่ปรากฏขึ้น และเจริญเติบโตออกมาเองโดยคนส่วนใหญ่ทั่วโลก และนั่นต้องการทั้งการปลูกฝังจากภายนอก และการสะท้อนออกมาจากภายในแทบจะเท่าเทียมกัน

ในขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชุมชนสู่คุณค่าเป้าหมายความพอเพียงพอดีและยั่งยืนที่ว่านั้น อยู่ที่การจัดการชุมชนระดับเล็ก (self-sustainable community) ที่ประกอบด้วยหกระบบตามที่ได้กล่าวไปแล้วโดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ทุกระบบมีความพร้อม และแต่ละชุมชนจะเริ่มด้วยระบบใดก่อน - ก็ได้ - ขึ้นกับความพร้อมและความถนัดของกลุ่มนำในชุมชนนั้นๆ แค่เป้าหมายสุดท้ายคือหกระบบหกประการที่ว่านั้น โดยที่ทุกระบบจะทำงานประสานกันโดยยึดถือกระบวนการธรรมชาติเป็นแนวทาง ประกอบด้วย หนึ่ง ระบบการศึกษาที่สอดคล้องแนบขนานกับขั้นตอนของการเจริญเติบโตของเด็ก (model imperative and block potentials) ตั้งแต่ก่อนเกิดกับระหว่างวัยอนุบาล (Joseph Pearce and Michael Mendoza; Magical Parent Magical Child) โดยเน้นการเล่นและจินตนาการกับการสร้างสรรค์โดยเฉพาะวิวัฒนาการของจิตวิญญาณด้วยการทำสมาธิหรือสวดมนต์ไปตามวิถีปฏิบัติของศาสนาและวัฒนธรรมนั้นๆ สอง จัดให้มีสถานปฏิบัติวิปัสสนาสมาธิ วัดหรือสำนักศาสนา ที่ประชาชนในชุมชนสามารถปฏิบัติร่วมกันเป็นชุมชน (contemplative community) สาม ระบบเกษตรกรรมจะต้องเป็นไปแบบธรรมชาติ (natural multiple farming or organic farming & herding) สี่ ระบบเศรษฐกิจจะเป็นไปในรูปของระบบสหกรณ์ครบวงจรที่สมาชิกของชุมชนทุกคนมีส่วนร่วม ห้า ระบบพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ และ หก ระบบการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่มีการผสมผสานการแพทย์สมัยใหม่ การแพทย์ทางเลือกและธรรมชาติบำบัดที่ครบถ้วน รวมทั้งการปลูกป่าสวนสมุนไพรและสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (hospice) และศูนย์ดนตรีสุนทรียกรรมการออกกำลังกายที่ไร้การแข่งขันเป็นแชมเปี้ยน

การสร้างสังคมแห่งความจริงขึ้นใหม่แทนสังคมมายาภาพลวงตาหรือความฝันที่เรานำมาสร้างสังคมของเราในอดีต - กระบวนทัศน์เก่า - ให้เถลเฉไฉออกไปนอกทางความเป็นธรรมชาตินานกว่า ๓๐๐ ปี สังคมใหม่ที่จะประกอบด้วยหลักสามประการที่ยกมานั้น - ที่ - จริงๆ แล้วเราไม่ได้สร้างทั้งสามคุณสมบัติและหกระบบเหล่านั้นขึ้นมาทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องของคุณสมบัติสามประการ อันเป็นเป้าหมายของสังคมใหม่ - ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความงามที่งามพร้อมหรือเป็นเรื่องของความเขียวชอุ่ม หรือธรรมจิตขึ้นมาใหม่ แน่นอนทั้งหมดนั้นเป็นผลผลิตของจิตทั้งแผง แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่เป็นการสร้างของจิตรู้ (conscious mind) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าเป็นผลิตผลของจิตไร้สำนึก (unconscious) ซึ่งหากเราคิดให้ดีๆ จะพบว่า ส่วนหนึ่งของความคิดที่เป็นจิตรู้นั้นเองก็มีส่วนของจิตไร้สำนึกก่อประกอบขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว นั่นคือแม้ว่าจิตรู้ของมนุษย์เราจะเกิดจากการแยกกันเป็นสอง (dualism split) โดยการบริหารที่สมอง แต่สิ่งที่ถูกนำมาบริหารก็คือสนามจิตไร้สำนึกที่ประอบด้วยแรงหรือสสาร (material forces) กับคุณภาพ (quality) อยู่ดี และนั่นคือเนื้อหาสาระของ
กระบวนการวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สังคมแห่งความจริงใหม่จะประกอบด้วยลักษณะสมบัติสามประการคือ ความงามสุนทรียทัศน์ หนึ่ง ความเขียวชะอุ่ม หนึ่ง กับความยุตธรรมที่เป็นบันไดขั้นแรกของธรรมจิตอีกหนึ่ง - วิวัฒนาการของจิตวิญญาณ (spirituality) อันเป็นต้นตอของ "ความหมาย" ของการดำรงอยู่และต้นตอของความรู้แจ้งของจิต (ไร้สำนึก) ที่เข้ามาอยู่ในภาย (นามรูป) จิตไร้สำนึกหรือจิตเหนือสำนึก จิตหนึ่งหรือแสงแรกที่กระจ่างใสที่เป็น "ขาลง" (descent or efflux) ของพลาโต-โพลตินัส ในณะที่นิพพานหรือ หรือ absolute หรืออัตมัน คือ "ขาขึ้นหรือขากลับ" (ascent or reflux) ของพลาโตหรือโพลตินัส

สังคมแห่งความงามหรือสังคมอุดมด้วยศิลปะสุนทรียภาพ "ที่เนื้อใน" นั้น ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นไปได้ เราคงต้องพยายามลบหรือลืมนิยามของทฤษฎีว่าด้วยศิลปะสุนทรียภาพตามที่ใช้กันในวันนี้ทิ้งไปทั้งหมด หรือตั้งแยกไว้ต่างหาก เป็นต้นว่า ทฤษฎีที่บอกว่าศิลปะคือการทำเลียนความเป็นจริง (imitation) จริงๆ แล้วมีนักคิดมากมายที่แปลความคิดทั้งของพลาโตและศิษย์เอก - อริสโตเติล - ไว้เป็นเช่นนั้นที่ดูจะง่ายเกินไป ส่วนอีกสองสามทฤษฎีที่ยังทรงอิทธิพลและแพร่หลายอยู่ทุกวันนี้ เช่น ทฤษฎีที่บอกว่าศิลปะเป็นผลพวงหรือสัมพันธ์กับความคิดร่วมของคนในสังคมหรือเป็นวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในเวลานั้น รวมทั้งทฤษฎีที่เคยทรงอิทธิพลในอดีต - เมื่อกว่าศตวรรษมาแล้ว - ที่ชี้บ่งว่า ศิลปะสุนทรียภาพเป็นผลผลิตของสภาพจิตที่ผิดไปจากนอร์มของสังคมของผู้สร้างงานศิลปะนั้นๆ ขึ้นมา ซึ่งในความคิดของผู้เขียน ทฤษฎีทั้งหมด รวมทั้งทฤษฎีที่เราคิดว่า เป็นความคิดของพลาโต อริสโตเติล นั้น เป็นการแปลงานศิลปะบนโลกียวิสัย หรือบนความเป็นสองของคนภายนอก ซึ่งผู้เขียนคิดว่า เป็นคนละเรื่องกับข้อเท็จจริงของจินตนาการของจิตที่ผ่านพ้นความเป็นตัวตนของผู้สร้างตามที่ได้เขียนไปแล้วหลายครั้ง

ความเขียวชอุ่ม หรือสังคมแห่งนิเวศทัศน์นั้นเป็นแกนเนื้อในหรือความจำของเผ่าพันธุ์ที่มีมาตั้งแต่โลกเราเริ่มมีวิวัฒนาการของ "ธรรมชาติแห่งชีวิต" รากเหง้าของชีววิวัฒนาการของสรรพชีวิต กระทั่งเป็นรหัสทางพันธุกรรมมาตั้งแต่เริ่มต้น - "บิ๊กแบงทางชีวภาพ" - ร่วม ๕๐๐ ล้านปีก่อน นั่นเรากำลังพูดถึงวิวัฒนาการทางกายภาพ - ที่มีจิตแห่งความทรงจำนอกมิติหรือข้างมิติเป็นเนื้อใน - มาตั้งแต่เวลาที่ยังไม่มีการเริ่มต้นขององค์กรแห่งชีวิต ดังนั้นเองที่นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งยุคใหม่แทบทุกคน - เมื่อพูดถึงธรรมชาติ - ก็มักจะแยกความหมายของคำว่าธรรมชาติ เพื่อความเข้าใจออกเป็นสองระดับ คือธรรมชาติระดับหยาบ ( nature ที่รับรู้ด้วยอายตนะภายนอก) กับธรรมชาติระดับละเอียด ( nature ที่รับรู้ด้วยจิตภายในหรือพระเจ้า) แต่บางครั้งผู้เขียนจะแบ่งระดับละเอียดต่อเป็นสองระดับคือระดับละเอียดทางกายภาพ (quantum domain) กับระดับละเอียดอย่างยิ่งหรือระดับจิตวิญญาณที่ไล่สูงขึ้นไปถึงนิพพานหรือพระเจ้า ความเขียวชะอุ่มหรือนิเวศทัศน์ในที่นี้เป็นเรื่องของธรรมชาติระดับหยาบที่รับรู้ด้วยอายตนะภายนอกทั้งหมด กระนั้นในระยะหนึ่ง ความรู้สึกเช่นนั้นจะสะท้อนกลับไปสู่ความประณีตที่ลึกล้ำ สู่ธรรมชาติที่ละเอียดอย่างยิ่งได้

สำหรับคุณสมบัติที่สาม ความยุติธรรมที่ชี้บ่งความหมายของธรรมจิตระดับกายภาพของธรรมชาติแห่งความพอเพียงพอดีและยั่งยืน เป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำสู่วิวัฒนาการทางจิตอันเป็นเรื่องภายใน หรือธรรมจิตดังที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างบน ดังที่จวงจื๊อกล่าวไว้ว่า "เมื่อเต๋าจากไปแล้ว ยังคงมีคุณธรรมความหมายเหลืออยู่ในสังคมพอที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยความดีงาม และเมื่อคุณธรรมความหมายจากไป ก็ยังมีความยุติธรรมที่เอื้อให้สังคมพอที่จะดำรงต่อไปได้บ้าง แต่หากความยุติธรรมก็จากไปด้วย ที่เหลือก็มีแต่พิธีกรรมที่จะก่อความวุ่นวายให้กับสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด"

เมื่อหลายวันก่อน นักศึกษาด้านนิติศาสตร์ปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ทำงานเป็นคนขับรถในเวลาว่างได้ถามผู้เขียนในขณะที่นั่งรถไปด้วยกันว่า สังคมอนาคตจะชี้บ่งบทบาทของนิติศาสตร์อย่างไร? ผู้เขียนได้ตอบว่า นิติธรรมเป็นความพยายามของสังคมแห่งกามโลกียะที่ตั้งบนความเป็นสองต้องการชนะ นั่นคือพยายามทำให้มันเป็น "หนึ่ง" ที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งเดียวที่เราทำได้ ในความเห็นของผู้เขียนนั้น เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่หมดไปมาก รวมทั้งเทคโนโลยีที่ส่วนนำก่อแต่สิ่งโสโครกมลภาวะที่ร้ายแรงให้กับโลก ดังนั้นการพัฒนาที่มีระบบเศรษฐกิจเป็นหัวใจ ระบบและรูปแบบทางเศรษฐกิจและการเงินการธนาคารแบบที่เรารู้จักจะค่อยๆ หายไป นั่นคือคดีความทางแพ่งนิติกรรมต่างๆ จะลดลงไปมาก แต่จะมีคดีอาญาเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งความเป็นกลางที่ทรงความยุติธรรมของงานด้านตุลาการ ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพการณ์ทางสังคมภายในของสังคมนั้นๆ ว่า สามารถรักษาความสงบต่อไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่และอย่างไร เพราะในสภาพที่ไร้อารยธรรมจากความต้องการของประชาชนที่ปรับตัวไม่ทัน รัฐบาลในหลายๆ ประเทศจะไม่มีความมั่นคงหรือไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะทำให้องค์กรต่างๆ สามารถดำเนินไปเช่นปรกติได้

และนั่นอาจชี้บ่งได้ว่า เราโดยรวมต้องการสังคมใหม่แห่งความงามพร้อมที่กล่าวมาทั้งหมดอย่างเร่งด่วนอย่างไร?

Back to Top