สงัดและสันโดษ



โดย เดวิด สปินเลน
วนิสา สุรพิพิธ แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2548

อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ยุคใหม่ โดยเฉพาะผู้คนในเมืองใหญ่หวาดผวามากที่สุด?

จะเป็นการก่อการร้าย น้ำท่วม แผ่นดินไหว ตกงาน หรือว่าอาชญากรรม? ตามความเห็นของผู้เขียน คำตอบก็คือ ความสงัดเงียบและความสันโดษ

พวกเราล้วนถูกรายล้อมด้วยเสียง และบ่อยครั้งเราก็ไม่รู้สึกตัวเสียด้วยซ้ำไป เสียงจากยวดยานพาหนะ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อโฆษณา ฯลฯ มีอยู่เกือบทุกหนทุกแห่ง ห้องอาหารโดยมากเปิดเพลงจากวิทยุคลอ และมักจะเปิดโทรทัศน์พร้อมกันถึง ๒-๓ เครื่อง สถานีโทรทัศน์ก็พากันถ่ายทอดเกมโชว์หรือละครน้ำเน่า สถานีรถไฟลอยฟ้าก็มีจอภาพดิจิตอลขนาดใหญ่ฉายสื่อโฆษณาเป็นหลัก ห้องผู้โดยสารนั่งรอที่สนามบินก็มีโทรทัศน์จอใหญ่หลายเครื่องเปิดทิ้งไว้ อันที่จริง แทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย หากเราอยากหาที่เงียบๆ สักแห่งเพื่ออ่านหนังสือหรือพูดคุยกับใครสักคน

เมื่อหลายเดือนก่อน ผู้เขียนไปหาหมอโรคหัวใจ โทรทัศน์ในห้องนั่งรอของผู้ป่วยนั้นเปิดเสียงดังมาก จนกระทั่งต้องออกมานั่งอยู่ตรงทางเดิน พอบ่นเรื่องนี้กับหมอ โดยบอกว่ามันทำให้เครียดแค่ไหน และก็ไม่ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจเลย หมอบอกว่าคนไข้ชอบดูรายการเหล่านั้น (อย่างที่เราทราบโรงพยาบาลสมัยใหม่นั้นไม่ใช่สถานที่สำหรับการรักษาพยาบาล)

ร้านค้าย่อยในตลาดหรือร้านเล็กๆ ในซอยบ้านผู้เขียนมักจะมีโทรทัศน์เครื่องเล็กตั้งอยู่และมีคนนั่งดูวันละหลายๆ ชั่วโมง เมื่อรวมทั้งหมดนี้เข้ากับสิ่งเสพติดยอดฮิตล่าสุดในปัจจุบัน-โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ชิ้นนี้ตอกย้ำทำให้เรามั่นใจว่าจะไม่มีวันรู้สึกโดดเดี่ยว- ที่สุดแห่งความน่าสะพรึงกลัว และไม่ว่าจะมีใครใส่ใจกับเสียงเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม คลื่นเสียงก็ยังคงเดินทางเข้าสู่ตัวเราและก่อให้เกิดความเครียด

หลายคนหลายครอบครัวรับประทานอาหารหน้าจอโทรทัศน์ เด็กใช้เวลานับพันชั่วโมงจ้องดูโทรทัศน์และถูกจู่โจมด้วยโฆษณาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ดังนี้ จึงเชื่อได้ว่าพวกเขาจะกลายเป็นผู้บริโภคที่ถูกมอมเมาได้ที่ ทันกับตอนที่เติบโตถึงวัยเข้าโรงเรียนพอดี

ทุกครั้งที่เข้าไปในห้างสรรพสินค้า รู้สึกเสมือนกับว่าได้เข้าไปในโรงพยาบาลบ้า มีเสียงและโฆษณาดังอยู่ทุกที่ ในซุปเปอร์มาร์เก็ตมีกระทั่งอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำงานเมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ และฉายโฆษณาผลิตภัณฑ์บนจอแถวนั้น ทุกหนแห่งที่คุณไปจะมีการข่มขืนโสตประสาท

หูของคุณถูกสอดแทรกด้วยเสียงโดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจ

ราว ๑๕ ปีก่อน ได้เข้าฟังการบรรยายโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวถึงงานวิจัยและการทดลองชิ้นหนึ่ง โดยเขานำผู้บริหารสองสามคนเข้าไปไว้ในบ้านกลางป่าลึกช่วงสุดสัปดาห์ โดยไม่ยอมให้คนเหล่านั้นพกพาโทรศัพท์มือถือและโน้ตบุ๊กเข้าไปด้วย ในบ้านไม่มีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือเครื่องโทรสาร ผู้บริหารเหล่านั้นประสบกับความเครียดและบางคนไม่สามารถทนได้ นักจิตวิทยาท่านนั้นชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่แท้จริงก็คือ พวกเขาไม่อาจอยู่กับตัวเองตามลำพังได้

ในโลกยุคใหม่ทุกวันนี้ ผู้คนโดยมากไม่อาจอยู่กับตัวเองตามลำพังได้

ทำไมล่ะ?

ก็เพราะว่ามันอาจทำให้พวกเขามองเห็นว่าชีวิตของตนนั้นว่างเปล่าและไร้จุดหมายเพียงใด

มันอาจทำให้มองเห็นว่าชีวิตของตนคล้ายหุ่นยนต์ในขณะที่ติดแหง็กอยู่ท่ามกลางการจราจรในแต่ละวันเพื่อไปทำงานอันน่าเบื่อ

มันอาจเป็นชั่วขณะที่ได้เห็นว่าตนเองรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายเพียงใด และตระหนักว่าไม่ว่าจะได้รับประทานไปมากแค่ไหน จะดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ไปมากเพียงใด หรือซื้อของในห้างไปอีกกี่ชิ้น พวกเขาก็ยังคงรู้สึกว่างโหวงในวันพรุ่ง

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยได้ยินครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณท่านหนึ่งกล่าวดังนี้ ชีวิตคนเราจำต้องตอบ ๓ คำถามนี้ให้ได้ก่อนตาย

คำถามแรก-มาจากไหน? คำถามที่สอง-ทำไมถึงมีชีวิตอยู่? คำถามที่สาม-ตายแล้วไปไหน? หากไม่ได้ตอบสามคำถามนี้ก่อนตาย แล้วการเกิดมาเป็นมนุษย์จะมีความหมายอะไร?

เราจะหาคำตอบสำหรับทั้งสามคำถามนี้ได้จากที่ไหน? ก็ในที่ที่คนส่วนมากไม่ปรารถนาจะมอง เพราะมันช่างน่าหวั่นหวาดและลำบากยากเข็ญ-ในความสงัดเงียบและความสันโดษ-จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ผู้คนโดยมากชื่นชอบมลพิษทางเสียง

Back to Top