มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กันยายน 2554
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีแพทย์สามสี่คนมาเยี่ยมสถานพยาบาลที่ผู้เขียนปฏิบัติงาน พร้อมกับพยาบาลและเภสัชกรรวมถึงเจ้าหน้าที่การแพทย์จากโรงพยาบาลในต่างจังหวัดสองแห่งประมาณยี่สิบกว่าคน วัตถุประสงค์คือต้องการมาดูการรักษาแบบประคับประคองเป็นหลัก เลยถือโอกาสคุยเสียสองชั่วโมงเศษๆ พวกแพทย์มีคำถามซึ่งสรุปแล้วมีสามข้อ คือ หนึ่ง การรักษาแบบประคับประคอง (palliative treatment) คืออย่างไร? สอง ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวเลย (โคม่า) จะติดต่ออย่างไร? สาม แพทย์ที่เรียนวิทยาศาสตร์มาบ้างแล้วควรเรียนฟิสิกส์ใหม่หรือไม่?
ได้ตอบแพทย์ที่ถามไปว่า การรักษาประคับประคอง คือการทำให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์จากอาการทางกายและความทรมานทางจิตใจจากความทุกข์เฉพาะหน้า โดยไม่ได้มุ่งที่จะรักษาโรค และไม่ใช่เป็นการยื้อชีวิตผู้ป่วยด้วย เช่นการให้ยาแก้ปวดเมื่อคนไข้ปวดเจ็บมากๆ เพื่อการลดการเจ็บปวด
สอง ผู้ป่วยที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่มีสติเลยมานานวัน ที่ขาดไปคือสมองที่มีหน้าที่ “เปลี่ยน” จิตไร้สำนึกให้เป็นจิตสำนึก (หรือจิตรู้) และ “รักษา” มันไว้ เมื่อสมองพิการ “การเปลี่ยนกับการรักษา” ก็ขาดหายไป แต่จิต (ไร้สำนึก) ยังมีอยู่ สามารถติดต่อกับจิตร่วมจักรวาลได้ด้วยการทำจิตของเราให้เป็น “หนึ่ง” เช่นด้วยสมาธิ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำถ้าหากทำไม่เป็น โดยการติดต่อได้ด้วยจิตไร้สำนึก ถ้าเป็นจิตไร้สำนึกที่เข้ามาอยู่ในที่ว่างของสมองที่กำลังรอเปลี่ยนเป็นจิตสำนึกอยู่ อาจจะเป็นการถอนหายใจแรงๆ ถ้าเป็นการติดต่อกับจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาล ก็อาจจะเป็นผ้าม่านที่ปลิวไสวโดยปราศจากลม (ดู Arnold Mindel : Process Mind, 2010 ด้วย)
สาม แพทย์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ควอนตัมเมคคานิกส์ อย่างน้อยก็ “ความจริงทางควอนตัม ซึ่งแตกต่างกันมากกับวิทยาศาสตร์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ความจริงที่แท้ เหมือนกับธรรมะที่เป็นเส้นทางในพุทธศาสนา”
มีคำที่เกี่ยวข้องกันในบทความอยู่สองคำ คือคำว่า “การแพทย์” ที่หมายรวมถึงการดูแลสุขภาพ การวินิจฉัย การรักษา ฯลฯ ทั่วทั้งโลก (Health Care) กับ คำว่า “การเปลี่ยนแปลงตัวเอง (transformation)” ในฐานะที่ใหญ่กว่าปัจเจกชนและสถาบัน นั่นคือการเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแพร่สะพัดไปทั่วทุกหัวระแหง ทุกๆ วิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพของคนทั่วทั้งโลกทุกๆ ระบบและองค์กร การเปลี่ยนแปลงตัวเองทางการแพทย์และการสาธารณสุข ส่วนหนึ่งได้เคยนำมาเขียนไปแล้ว แต่อีกส่วนยังไม่ได้เขียน จึงเอาเรื่องทั้งหมดมาเขียนใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยลืม หรือแกล้งทำเป็นลืมเสียเฉยๆ หากไม่ถูกกับจริตของตัว เพราะคิดว่าเชยแหลกที่ไปเอาของเก่าที่เคยโยนทิ้งไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ เพราะแพทย์ “สมัยใหม่” แผนปัจจุบันคิดว่าไม่ใช่วิทยาศาสตร์กายภาพ ไม่วูบวาบหรือ “ขลัง” แถมยังไม่ทำเงินเสียด้วย แพทย์ใหม่ๆ จึง “มัก” ไม่สนใจ โดยลืมนึกไปว่าวิทยาศาสตร์กายวัตถุที่นำโดยนิวโตเนียนฟิสิกส์นั้นเก่าแล้ว มีอายุกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว และทีควอนตัมเมคคานิกส์ที่เหมือนๆ กับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเต๋าเป๊ะๆ แพทย์ไทยกลับไม่สนใจ คงจะนึกว่าศาสนาขัดกับวิทยาศาสตร์กระมัง? ฉะนั้น เมื่อเป็นคนรุ่นใหม่ก็ต้องเลือกวิทยาศาสตร์น่ะสิ!
ในสมัยที่ผู้เขียนอยู่เมืองนอก การแพทย์ยังไม่มีวิกฤติใดๆ เลย (ประชากรโลกมีจำนวนสองพันกว่าล้านคนต้นๆ) การเปลี่ยนแปลงตัวเองที่ระบบจึงไม่มีใครพูดถึง ตรงกันข้าม การแพทย์แผนปัจจุบันหรือสมัยใหม่ “รู้สึก” ว่ามีความก้าวหน้าไปมาก โรคหลายชนิดทำท่าว่าจะหายไปจากสารบบ อย่างน้อยที่เมืองนอก เช่น กาฬโรค ฝีดาษ และ โปลิโอ ฯลฯ จนกระทั่งอาจารย์แพทย์ทางโรคติดต่อของโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในอเมริกาถึงกับพูดว่า “อย่ามาเรียนโรคติดต่ออีกเลย มันกำลังจะหมดสมัยแล้ว”
แต่การแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้ก้าวหน้าจริงๆ เลย โดยเฉพาะการป้องกันและการดูแลสุขภาพโดยรวม ที่อเมริกาและยุโรป การแพทย์แผนปัจจุบัน “อย่างแท้จริง รวมทั้งการป้องกันโรค” ดำรงอยู่ได้เพียงสามสิบกว่าปี พอถึงทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ก็พังทลายด้วยสาเหตุสามประการ คือ หนึ่ง เพราะความโลภของบริษัทยา และเครื่องมือแพทย์ สอง เพราะโรงเรียนแพทย์และนักเรียนแพทย์เองที่ส่วนมากขาดความสนใจ ไปถึงจงใจละทิ้งอุดมการณ์ของฮิปโปเครติส (บิดาแห่งการแพทย์ ชาวกรีก) และพ่อแแม่ของนักเรียนแพทย์ก็เห็นความร่ำรวยมั่งคั่งสำคัญกว่า สาม โรคอันเกิดจากโรงพยาบาลและแพทย์เพิ่มขึ้นมากจากยาชนิดใหม่ๆ และงานที่มากขึ้น ทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองข้อแรก ทำให้เกิดสองอย่างขึ้นที่ไม่เคยมีมาก่อนคือ ราคาค่ารักษาพยาบาล “ถีบตัว” เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ผลก็คือ ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๑๙๗๐ ถึง ๑๙๙๐ (โดยประมาณ) มีนักธุรกิจจำนวนมากมองเห็นการแพทย์เป็นธุรกิจเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว
ในช่วงต้นของทศวรษที่ ๑๙๙๐ นั้น เมื่อการแพทย์กายภาพหรือสสารวัตถุ แทบจะเป็นอย่างเดียวที่ปกป้องรักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของประชาโลก และทำให้บริษัทยารวยไม่รู้เรื่อง ก่อให้เกิดค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่ง จนคนส่วนใหญ่และผู้ยากไร้ทั่วโลกแทบจะไม่มีทางพบแพทย์แผนปัจจุบันได้ มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนเหล่านี้บ่อยครั้งว่าการแพทย์ที่มุ่งเฉพาะกายวัตถุเพียงอย่างเดียวน่าจะไม่พอ แม้ภายในประเทศที่รวยที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาเอง การแพทย์ “สมัยใหม่” แผนปัจจุบันก็กำลังเกิดวิกฤติอย่างแรง และมีคนร่ำรวยส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เสียงเรียกร้องได้พุ่งเป้าไปที่จิตวิญญาณที่รวมถึงเจ้าพ่อเจ้าแม่ผีป่านางไพรและพระเจ้า โดยประสงค์ให้แพทย์ใช้ “ศิสปะ” มากกว่าการรักษาโรคเพียงอย่างเดียว
เสียงเรียกร้องของประชาชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นธรรมดาที่ผู้นำมักเป็นผู้เปลี่ยนก่อน อเมริกาและประเทศในยุโรปคือหัวหอกของการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงทางจิตที่มองไม่เห็นและหลายคนคิดว่าไม่มีจริง ในปีค.ศ.๑๙๙๑ คนอเมริกันต้องแปลกใจที่มีผู้สนใจการทำสมาธิกันอย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปิดศูนย์กลางการทำสมาธิขึ้นที่แมสซาชูเซ็ต (Contemplative Center in the Community) และในปีค.ศ.๑๙๙๒ กระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา (NIH) ได้เปิดศูนย์การแพทย์ทางเลือก หรือการแพทย์เสริม โดยมีทุนวิจัยเป็นเงินสองล้านเหรียญ การแพทย์ทางเลือกหรือการแพทย์องค์รวม ซึ่งจะดูแลผู้ป่วยนอกจากร่างกาย (ทั้งกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ แล้วยังขยายไปถึงครอบครัว สังคมรอบๆ ตัว รวมถึงฐานะทางการเงินของครอบครัวด้วย ไม่ใช่รักษาโรคอย่างเดียว) การแพทย์ทางเลือกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในยุโรป อเมริกา ดังจะเห็นได้ว่าโรงเรียนแพทย์ที่มีหลักสูตรการแพทย์ทางเลือกได้ขยายตัวจากเพียงสามแห่งในปีค.ศ.๑๙๙๓ เป็นโรงเรียนแพทย์แทบทั้งหมด (ที่ตอบมาในปีค.ศ. ๒๐๐๖) และเงินสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์ทางเลือกของกระทรวงสาธารณสุขอเมริกาเพิ่มเป็น ๑๒๓ ล้านเหรียญ โดยในปีนั้นมลรัฐกว่าครึ่งหนึ่งในอเมริกามีประชาชนไปหาแพทย์ทางเลือกมากกว่าไปหาแพทย์แผนปัจจุบัน
จิตวิทยาที่เป็นบวกที่หมายถึงความคิด จิตอารมณ์ที่มองโลกในด้านดี เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งของอเมริกาผู้ที่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปบ้างแล้วเริ่มนำไปปฏิบัติตั้งแต่ปีค.ศ.๒๐๐๐ เป็นต้นมา เมื่อมีการเปลี่ยนนายกสมาคมในปีนั้น และได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการรักษาทางจิตให้เป็นไปในด้านบวก คือเน้นความสุขทางจิตมากกว่าการไปพิจารณาเรื่องพฤติกรรมและพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น สมาคมได้พูดถึงและเน้นที่ความสุขของบุคคลโดยคิดว่า ความสุข คือ นิสัยใจคอความเคยชิน บวกกับ เงื่อนไขที่ผูกมัดตัว บวกกับ ทำ (งาน) ได้ตามใจที่ตนชอบ เช่นการทำสมาธิ โยคะ ไท้เก๊ก เป็นต้น
ปัจจุบัน ชาวตะวันตกทำสมาธิกันมากยิ่งขึ้น และถือว่าเป็นการปฏิบัติจิตที่มีผลต่อการรักษา ผลของการวิจัยทั้งหมดบอกเหมือนๆ กันว่าการปฏิบัติสมาธิขจัดอารมณ์ที่แปรปรวน ภาวะซึมเศร้า ใจร้อนกระวนกระวาย ฯลฯ ได้ดีที่สุด ตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๙๘ จอห์น คาบัต-ซิน ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติอานาปานสติ (Mindfulness meditation) ขึ้นในทุกเมืองใหญ่ และขณะนี้มีแทบจะทุกรัฐในอเมริกา
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาก โดยนายแพทย์ไมเคิล มิลเลอร์ แห่งศูนย์การแพทย์โรคหัวใจที่แมรีแลนด์ คือการให้ผู้ป่วยดูภาพยนตร์ตลก ผลการวิจัยบอกชัดเจนว่า หนังตลกและการหัวเราะอย่างสุดๆ นั้นมีค่าสำหรับคนเป็นโรคหัวใจยิ่งกว่าการออกกำลังกายโดยการเต้นแอโรบิกเสียอีก ตรงไม่ต้องเมื่อย ไม่ต้องเจ็บกล้ามเนื้อ เพราะการศึกษาเอนโดธิเลียม (เซลล์เยื่อบุผิวของผนังหลอดเลือด) ของเส้นเลือดแดงที่หัวใจบอกเช่นนั้น “ผมไม่ได้บอกให้เลิกการออกกำลังกาย เพียงบอกว่าการหัวเราะอย่างสุดๆ นั้นมีคุณค่าพอๆ กับการเต้นแอโรบิก และผลการวิจัยบอกเราเช่นนั้น จะให้ดีผมคิดว่า เพื่อป้องกันโรคหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน ควรให้คนไข้ออกกำลังกายสักครึ่งชั่วโมงแล้วให้หัวเราะจริงๆ สักสิบห้านาที”
แสดงความคิดเห็น