จิตกับพลังแห่งการเยียวยา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2554

เมื่อปี ค.ศ.๑๙๒๐ เด็กชายชาวจีนคนหนึ่งถือกำเนิดในซิงหนิง หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ถึงแม้ความเป็นอยู่จะแร้นแค้น แต่มารดาของเขาก็สู้อุตส่าห์ทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้เล่าเรียนหนังสือวิชาศิลปศาสตร์ของจีน ซึ่งเขาก็เรียนจนจบอย่างรวดเร็วเกินวิสัยคนธรรมดา ต่อมาเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มเขาก็ได้เล่าเรียนวิชาของตะวันตกผ่านทุนเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยจงซาน ในเมืองกวางโจว เมื่อเรียนจบมาทำงานจนอายุ ๓๖ ปีจึงล้มป่วยเป็นโรคไต หมอได้ผ่าเอาไตของเขาออกข้างหนึ่ง ส่วนข้างที่เหลือก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ สุดท้ายบรรดานายแพทย์แผนตะวันตกผู้ที่ให้คำปรึกษากับเขาก็พากันยกธงขาว ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร เขาพยายามไปหาแพทย์จีนแผนโบราณแต่การรักษาก็ไร้ผลเช่นกัน ตอนนั้นน้ำหนักเขาลดลงจาก ๖๕ กิโลกรัม เหลือเพียง ๔๐ กิโลกรัม! หมอบอกว่าเขาว่าอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมาก็เพียงห้าเดือน แต่เขาคนนี้ไม่เพียงมีอายุยืนยาวไปมากกว่านั้น เขายังมีสุขภาพแข็งแรงเหนือคนทั่วไป ชายผู้นี้ทุกคนรู้จักเขาในนาม โหลว จี้ หง (Luo Ji-Hong) ปรมาจารย์ผู้ฝึกสอนวิชาไทจี๋ฉวน (ไท่เก็ก) จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มีเรื่องเล่าว่าในระหว่างที่เขาถูกคุมขังในคุกในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ผู้คุมเอาพลั่วตีเข้าที่ตัวเขา ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำอันตรายเขาไม่ได้ พลั่วนั้นกลับกระเด็นหลุดจากมือผู้คุมไปไกล จนผู้คุมที่ตีเขาเกิดอาการกลัวและวิ่งหนีไป...

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้พบกับพี่สาวคนหนึ่งในเวิร์คชอปที่ผมได้นิมนต์พระอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน จังหวัดมุกดาหาร มาเป็นวิทยากรกระบวนการพัฒนาจิต พี่คนนี้สมมุติว่าชื่อพี่บุญรักษ์ เธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สาม ด้วยอาการเจ็บป่วยของเธอทำให้สามีทิ้งเธอไปอยู่กับผู้หญิงอื่น ส่วนลูกชายวัยรุ่นก็กลายเป็นเด็กมีปัญหา ผลการเล่าเรียนที่เคยดีกลับแย่ลง เริ่มแสดงอาการก้าวร้าว ทุกวันเธอต้องพึ่งมอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวดและเพื่อให้นอนหลับ เธอมีอาการนอนไม่หลับเพราะคิดมากกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คิดโทษตัวเองและคนอื่นให้วุ่นวาย หน้าที่การงานของเธอก็ถูกโยกย้ายไปในแบบที่ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อได้พบพระอาจารย์ เธอก็เล่าเรื่องให้อาจารย์ฟัง อาจารย์จึงพูดว่า

“เป็นมะเร็งสิดี รักษาดียังไงมันก็ตาย!”

เธอรู้สึกอึ้งไปเล็กน้อย แล้วพระอาจารย์ก็หันไปพูดกับทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นว่า

“ส่วนพวกเราที่ไม่ป่วยเป็นอะไรก็ต้องตายแน่ทุกคน เพราะร่างกายมันเป็นรังของโรค”

คำพูดอาจารย์เหมือนทำให้เธอได้สติ! เย็นวันนั้นเมื่อเธอกลับมาบ้าน เธอเขียนบนกระจกเงาที่ใช้แต่งหน้าทุกวัน เป็นถ้อยคำเพื่อให้อภัยและไม่ถือโกรธสามีที่ทิ้งเธอไป หลังจากนั้นนอนหลับสนิทเป็นครั้งแรกในรอบปีโดยไม่ใช้ยามอร์ฟีน วันต่อมาเธอรีบโทร.มาบอกผม เพื่อขอเข้ารับการอบรมเรื่องการฝึกสติในชีวิตประจำวัน เธอแทบจะเป็นนักเรียนดีเด่น พระอาจารย์บอกอะไรก็ทำตามโดยไม่เกี่ยงงอน ไม่ลังเลสงสัย หลังจากนั้นพี่บุญรักษ์ก็ได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในชีวิตของเธอ

หลังจากสองสามเดือนผ่านไป พี่บุญรักษ์กลับไปตรวจ หมอบอกว่าเธอไปทำอะไรมา เพราะผลการตรวจบอกว่าเชื้อมะเร็งหายไป ทุกวันนี้เธอเหมือนได้ชีวิตใหม่ เธอเปลี่ยนแปลงจากข้างใน ไม่เป็นคนอมทุกข์ ไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น หน้าที่การงานที่เหมือนจะมีอุปสรรคก็กลับดีขึ้น มีคนแอบเอาของขวัญมาวางไว้ที่โต๊ะทำงานของเธอ แต่ก่อนมีแต่คนหวาดกลัวเธอ เพราะในตำแหน่งหัวหน้างาน เธอเคร่งครัดกับงานเอกสาร และมักจะส่งเอกสารกลับไปแก้ใหม่ทั้งหมดถ้าส่งมาไม่ถูกใจ ลูกเริ่มกลับมาน่ารักเหมือนเดิม เห็นว่าไม่นานมานี้เธอกำลังพบรักใหม่

เรื่องราวของอาจารย์ โหลว จี้ หง กับพี่บุญรักษ์เหมือนกันตรงไหน มันไม่ใช่ปาฎิหาริย์ แต่เป็นผลของการฝึกปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนอบรมจิตใจ โหลว จี้ หง ฝึกวิชาไทจี๋ฉวน หรือรำมวยจีนแบบมวยภายใน ซึ่งให้ความสำคัญกับใช้จิตที่เบาละเอียดไปควบคุมการทำงานของร่างกาย พี่บุญรักษ์ใช้วิธีการทำความรู้สึกตัวด้วยการให้จิตมาประกอบอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบทยืน เดิน นั่ง นอน หรือที่เรียกว่าสติปัฏฐานสี่ ทั้งสองอย่างนี้ได้ไปสร้างให้เกิดสมดุลย์ภายในร่างกายใหม่ ซึ่งไปมีผลลึกลงไปถึงระดับของการสร้างเซลล์ใหม่ เราเองเคยชินกับการคิดนึกว่าร่างกายเป็นเครื่องจักรที่ผลิตเซลล์หรือสารเคมีใหม่ออกมาเรื่อยๆ จนกว่าเราจะตาย แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของเราในขณะกำลังสร้างเซลล์ใหม่ ในขณะที่ให้กำเนิดจุลชีวิตในร่างกาย ถ้าจิตใจเราย่ำแย่ เราจะผลิตเซลล์ที่มีคุณภาพ หรือสุขภาพดีได้อย่างไร แค่เพียงเราเครียดกับการงาน ร่างกายก็แสดงสัญญาณมาให้เรารู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างความรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ หรืออาการที่มากขึ้น เช่น โรคกระเพาะอาหาร ปวดศรีษะไมเกรน และถ้าปล่อยเอาไว้มากเข้าก็ไปถึงโรคมะเร็ง หรือเส้นเลือดแตกในสมอง โรคหัวใจเฉียบพลัน ฯลฯ

คนมักจะให้ความสำคัญกับสมองในฐานะศูนย์บัญชาการร่างกาย แต่ในศาสนาพุทธมองว่าสมองคือก้อนไขมันก้อนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญไปมากกว่าตับไต หรืออวัยวะภายในอื่นๆ ในร่างกาย พูดง่ายๆ มันคือรูปวัตถุเท่านั้น ส่วนวิชาไทจี๋ฉวนของจีนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสมอง แต่ให้ความสำคัญกับ “อี้” ซึ่งแปลง่ายๆ ก็คือ “จิต” ที่เราใช้สั่งร่างกายนั่นเอง องค์ความรู้ทางตะวันออกให้ความสำคัญกับจิตใจซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ วัดไม่ได้ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกรอบความรู้ของวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน แต่วิทยาศาสตร์แบบนั้นก็อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ในโลกหลายอย่างไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือเรื่องของพี่บุญรักษ์ และเรื่องของ โหลว จี้ หง ซึ่งหลังจากการฝึกรำมวยเพียงเดือนเดียว อาการเลือดออกในไตของเขาก็หายไป หกเดือนให้หลังเขากลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมหรืออาจจะยิ่งกว่าเดิม น้ำหนักของเขาเพิ่มขึ้น อาการของความเจ็บป่วยที่เคยมีมาก่อนหน้านั้นไม่มีหลงเหลือ เขาเอาร่างกายใหม่ที่ฟิตเปรียะกลับไปเย้ยหมอคนที่ห้ามไม่ให้เขาฝึกรำมวย ท่ามกลางความพิศวงงงงวยของนายแพทย์ผู้นั้น...เรื่องแบบนี้เราจะอธิบายว่าอย่างไร

เมื่อไม่อาจจะอธิบายเรื่องแบบนี้ด้วยความเข้าใจร่างกายแบบแยกส่วน โดยมีสมองเป็นผู้บัญชาการ นักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่พยายามมองหาคำอธิบายที่ไม่คับแคบ ดร. โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ส ได้พูดถึงสนามพลังชีวิตโฮโลกราฟฟิคที่มาจากการเต้นของหัวใจ ดร.​เม วาน โฮ นักชีวเคมีผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์​ เคยพูดถึงสนามพลังควอนตัมที่มองไม่เห็นซึ่งแทรกผ่านไปทั่วถึงทุกอวัยวะในร่างกาย พวกเขาล้วนเชื่อว่าการมองว่าสมองควบคุมร่างกายนั้นเป็นความคิดที่ล้าสมัย แต่ปัญญาในระดับที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นน่าจะมีส่วนในการควบคุมร่างกายซึ่งมีความสลับซับซ้อน ทั้งคู่เชื่อว่ามีสนามพลังที่ครอบคลุมดูแลพลังชีวิต และถ้าหากสนามพลังนี้อ่อนพร่องหรือผิดปกติไปก็ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บป่วยที่เห็นได้ทางร่างกาย แล้วอะไรหนอที่ทำให้สนามพลังนี้มันผิดปกติไป?

“ร่างกายป่วยได้ แต่อย่าให้ใจป่วย ความคิดที่ไม่ดี ความโกรธเกลียด มันเป็นอาหารให้กับมะเร็ง ถ้าเธอไม่ให้อาหารมันด้วยความคิดที่ทำให้จิตใจเสียหาย แล้วเซลล์มะเร็งมันจะไปเอาอาหารมาจากไหน”

คือสิ่งที่พระอาจารย์พูดกับพี่บุญรักษ์ในวันนั้น ผมยังจำได้ขึ้นใจ เอ๊ะ หรืออาจารย์จะรู้เรื่องสนามพลัง?

Back to Top