มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 กันยายน 2554
ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย จึงมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ได้เรียนรู้จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ได้เห็นพระจริยาวัตรที่งดงามของพ่อหลวงของปวงชาวไทย ที่ทรงเป็นครูต้นแบบ เป็นครูที่แท้จริงของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน
ผมโชคดีมีโอกาสได้พบกับบุคคลมากมาย หลากหลายประเภท ได้ผ่านพบประสบการณ์ร้อนหนาว เศร้า สุข ที่แตกต่าง แต่ล้วนมีส่วนเสริมสร้างให้ผมเติบโต เปลี่ยนผ่านวิถีดำเนินชีวิต ได้เรียนรู้และกล้าที่จะก้าวข้ามการยึดติดกับตนเองและสรรพสิ่ง
โชคดีที่ได้เกิดมาในครอบครัวใหญ่ มีความรัก ความห่วงใยให้กันและกัน
“ถ้าพี่น้องคนหนึ่งคนใดย่ำแย่ อดอยาก พวกเราทุกคนเพียงถ่มน้ำลายให้เขากิน เขาก็จะมีชีวิตรอด” คำสอนของเตี่ย-แม่ยังคงก้องกังวานอยู่ในจิตสำนึกของผม เตี่ย-แม่จะคอยพร่ำสอนลูกๆ ให้รักใคร่ กลมเกลียว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด เรื่องความกตัญญูรู้คุณก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ลูกๆ ได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เล็ก โดยผ่านการเล่านิทาน การเล่าเรื่องจริงและการปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ เช่นการส่งเงินที่เก็บออมจากการทำงานหนักของท่านไปให้พ่อแม่ พี่น้องที่อาศัยอยู่ในเมืองจีน
ผมเป็นลูกคนที่ห้า จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๗ คน มีพี่ชาย ๑ คน พี่สาว ๓ คน น้องชาย ๑ คน น้องสาว ๑ คน
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานกับหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา (Peace Corps-ออกเสียงว่า พีซคอร์) เป็นครูสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยให้กับอาสาสมัครชาวอเมริกันที่มาทำงานในเมืองไทย และต่อมาได้เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการฝึกอบรมข้ามวัฒนธรรม แล้วยังโชคดีมีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมให้กับอาสาสมัครชาวอังกฤษ เป็นนักวิจัยให้กับ American Institute For Research (AIR) ทั้งหมดช่วยให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจการทำงานกับคนต่างวัฒนธรรม ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เปิดและเปลี่ยนโลกทัศน์ที่คับแคบของผมให้กว้างขึ้น
ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านพบ ช่วยให้ผมสอบเข้าเรียนระดับปริญญาเอกด้านจิตวิทยาการศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นรุ่นแรก โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นรวมทั้งหมด ๗ คน (จบที่นี่ ๒ คน ลาออก ๒ คน ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ ๓ คนรวมตัวผม)
ยังจำบรรยากาศการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี สั้นๆ คือเข้มข้น จริงจัง รู้สึกบีบคั้นและเคร่งเครียดโดยเฉพาะช่วงที่จะสอบหลังเรียนรายวิชาจบแล้ว ที่ปัจจุบันเรียกว่าการสอบวัดคุณสมบัติ เพราะบรรยากาศถูกทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์มาก แตกต่างกับที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้าที่ผมได้ทุนจุฬาฯ ไปเรียน ผลการสอบครั้งแรกคือ ตกหมดทุกคน มีอยู่หนึ่งวิชาที่มารู้ทีหลังว่าผมได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ตก เพราะได้แค่ ๒ คะแนนจาก ๑๐๐ อาจารย์บอกว่าที่ให้คะแนนเพราะผมเขียนว่าไม่รู้จริงๆ แต่จะไปศึกษาเพิ่มเติม คือกล้าที่จะบอกว่าไม่รู้ ส่วนคนอื่นได้ ๐ เพราะบางคนส่งกระดาษเปล่า บางคนเขียนตอบแต่ตอบผิดแบบไม่รู้ แต่ทุกคนก็สอบผ่านในครั้งที่สอง เพราะครั้งนี้ถ้าไม่ผ่านต้องออกจากโครงการ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของนิสิตที่ต้องผ่านกระบวนการเดียวกันเป็นอย่างดี เพราะตัวผมมีประสบการณ์ตรงสามครั้ง คือที่จุฬาฯ ๒ ครั้ง และที่อเมริกาหนึ่งครั้ง (ใครอยากได้รู้บรรยากาศแบบนี้ก็น่าจะลองมาสมัครเรียนปริญญาเอกที่คณะครุศาสตร์ดู แล้วจะรู้ว่าทุกข์-สุขมีจริง ลูกศิษย์บางคนถึงกับพูดว่า การมาเรียนที่นี่ ทำให้รู้ว่า นรก-สวรรค์นั้นมีจริง)
ผมโชคดีที่ได้เป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อเรียนรายวิชาจบ เหลือเพียงแค่ทำวิทยานิพนธ์ สอนได้ปีเดียวก็สอบชิงทุนของจุฬาฯ ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย มินเนโซต้า (University of Minnesota) ที่เดียวกับอาจารย์วิจิตร ศรีสะอ้าน อาจารย์ทองอินทร์ วงศ์โสธร อาจารย์สมหวัง พิธิยานุวัฒน์.เรียนจบกลับมาด้วยเกรด (ไม่ต้องเฉลี่ย) ๔.๐๐ คือได้ A ทุกวิชา และที่น่าภาคภูมิใจมากก็คือ ผมได้พัฒนาเทคนิคการวิจัยอนาคตขึ้นมาเรียกว่า EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ แล้วนำมาเผยแพร่ที่ประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
ที่มินเนโซต้านี้เองที่ผมได้พบสตรีที่สดใส น่ารักและช่างพูด เธอจะพูดไป ยิ้มไป พูดไปหัวเราะไป เสียงใสตลอด เมื่อรู้ว่าผมเรียนมาทางด้านจิตวิทยาตอนปริญญาโทและปริญญาเอก เธอก็มาขอคำปรึกษา และขอความช่วยเหลือสม่ำเสมอเพราะเธอไปเรียนปริญญาตรีทางด้านจิตวิทยาเด็ก เธอคือ นส. เครือวัลย์ มโนชัย ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น พูลภัทรชีวิน ตามนามสกุลของสามีที่เป็นคุณพ่อของลูกชายที่หล่อเหลาสองคนคือ ภาณุวัฒน์ (เดฟ) และ ชยภัทร (ดีพ) พูลภัทรชีวิน ผมภูมิใจในตัวลูกชายทั้งสองคนที่ส่อแสดงความมีศักยภาพเป็นคนดี คนเก่ง มีความรับผิดชอบและมีความมุ่งมั่นตามวัย ไม่ทำให้พ่อแม่ห่วงใยจนเกินเหตุ แต่ก็มีบางครั้งที่มีความขัดแย้งและขัดใจกันในครอบครัว
ทั้งภรรยาและลูก คือท่อนแยกของบทเพลงแห่งชีวิตของผม
ทั้งภรรยาและลูกคือครูชีวิตที่ท้าทายของผม ผมยังคงต้องเรียนรู้จากพวกเขาไปตลอดชีวิต...หรือจนกว่าผมกล้าที่จะก้าวข้าม...
ผมโชคดีและภูมิใจมากที่มีโอกาสทำงานช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียน ตชด.(ตำรวจตระเวนชายแดน) โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนมัธยมบ้านนายาว จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นก็ขยายไปพัฒนาครู ตชด.ทั่วประเทศ ได้เรียนรู้จากครู นักเรียน คณะอาจารย์ที่ร่วมเป็นทีมงานและชาวบ้านในหลากหลายมิติ เป็นงานที่ท้าทาย เหนื่อย แต่เหนืออื่นใดมีความสุขใจที่ได้ทำ เป็นงานที่เปลี่ยนชีวิตและโลกทัศน์ของผมมากทีเดียว
ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่ประกอบไปด้วยปรมาจารย์หลายสาขา ผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ทางวิชาการ และประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่า ปัญญาที่ลุ่มลึก การพูดคุยแต่ละครั้ง ช่วยลดความอหังการ์ของผม ช่วยให้ผมเป็นผู้เรียนรู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น
ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ ริเริ่ม พัฒนา และทำงานขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับผู้บริหารโรงเรียนและครูทั่วประเทศภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง (SP2)
การเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์และการทำงานด้านจิตตปัญญาศึกษา เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของชีวิตของผม ช่วยให้ผมละเอียดอ่อนและนุ่มนวลกับชีวิตและสรรพสิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะกับครอบครัว และลูกศิษย์
ผมโชคดีที่มีลูกศิษย์ที่ต่างก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ความต่างของพวกเขาและเธอคือครูอาจารย์ของผม ผมได้เรียนรู้วิธีสอนจากลูกศิษย์ ผมรับรู้และเรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความคาดหวัง ความสิ้นหวัง ความสมหวัง ความเครียด ความทุกข์ และความสุขของลูกศิษย์ ทั้งหมดช่วยทำให้ผมรู้และเข้าใจความหลากหลายของชีวิตและสรรพสิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งหมดทำให้ผมมีสติและปัญญาเพิ่มมากขึ้น หวังว่าลูกศิษย์ทุกคนจะนำบทเรียนของผมไปเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนชีวิตของตัวเอง ทุกสิ่งที่พบ ทุกสิ่งที่เผชิญคือครูของเราทั้งสิ้น ช่วยให้เราเจริญเติบโตทางปัญญาได้ทั้งสิ้น ตั้งสติแล้วเรียนรู้จากคุณครูทั้งหลาย ไม่มีร้าย ไม่มีดี มีแต่ครูที่รอให้ผู้ใฝ่ศึกษามาเรียนรู้
ผมดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของลูกศิษย์เสมอ
ผมภูมิใจและสุขใจที่ได้ยื่นมือให้ลูกศิษย์จับ ก่อนที่เขาจะถูกกระแสความผิดหวังและความล้มเหลวพัดหายไป แล้วสามารถดึงเขากลับมาบนเส้นทางแห่งความสำเร็จได้
ผมรู้สึกเสียใจที่ลูกศิษย์บางคนต้องออกจากโปรแกรมไปด้วยเหตุที่แตกต่างกัน เสียดายที่ช่วยไม่ได้ เสียดายที่ไม่ได้ช่วย ได้แต่ยืนมองดูลูกศิษย์เดินจากไปด้วยความสะเทือนใจ เสียใจจนน้ำตาซึม เมื่อนึกถึงภาพของคนที่เคยมีความภูมิใจที่สอบเข้ามาเรียนได้ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปพร้อมกับความผิดหวัง
เขาและเธอ เดินเข้ามา มุ่งหวังแสวงหา คุณค่าของชีวิต
เขาและเธอ เดินจากไป ด้วยจิตใจไม่คิด จะกลับมา...
ผมโชคดีที่มีลูกศิษย์เป็นครู ช่วยให้ผมได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เตือนสติให้รู้ว่า แก่นแท้และคุณค่าของชีวิตก็คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต แก่นแท้และคุณค่าของการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็คือการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น ต่อสรรพสิ่ง อย่างต่อเนื่อง อย่างมีสติและปัญญา
และนี่คือคุณค่าที่แท้จริงของความเป็นครู คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต คุณค่าที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์
ชีวิตคือผลรวมของประสบการณ์ที่ผ่านพบ หากไม่ผูกติดหรือยึดไว้ ชีวิตก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ ไหลเลื่อนเคลื่อนไป เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ขอเพียงก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสติ แล้วจะเกิดปัญญา กล้าที่จะก้าวข้ามความคงที่ ความเป็นตัวกู ของกู
กล้าที่จะก้าวข้ามจากผู้สอน(ผู้ถ่ายทอด) สู่ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
การมีลูกศิษย์ ลูก ภรรยา สิ่งมีชีวิตร่วมโลก และสรรพสิ่งในจักรวาล รวมทั้งตัวเอง เป็นเนื้อหา เป็นวิชา เป็นหลักสูตร เป็นสิ่งประเสริฐที่ชีวิตของคนๆ หนึ่งอย่างผม โชคดีได้มีโอกาสเรียนรู้ เพราะครูของผมคือทุกคนที่ผมพบรวมทั้งตัวผมเอง คือทุกสิ่งที่ผมเผชิญ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ได้หลอมรวมกลายมาเป็นผมในปัจจุบัน ที่เข้าใจว่า ชีวิตครู คือชีวิตคน ที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
ครูคือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มีลูกศิษย์เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ และเป็นครูที่ยิ่งใหญ่
ผมโชคดีที่ผมเป็นครูที่มีลูกศิษย์มากมายทั่วประเทศ
ผมโชคดีที่ผมเป็น “ศิษย์มีครู”
ผมโชคดีเหลือเกินที่มีครูเต็มแผ่นดิน เต็มท้องฟ้า เต็มมหานที
ขอบคุณครับคุณครู ที่มอบความโชคดีให้กับชีวิตเล็กๆ อย่างผม
แสดงความคิดเห็น